ถกกฎหมาย 4 ฉบับ งบฯ 2 ล้านล้านบาท ถูกจับตา “ตีเช็คเปล่า”

การเมือง
27 พ.ค. 63
07:00
1,653
Logo Thai PBS
ถกกฎหมาย 4 ฉบับ งบฯ 2 ล้านล้านบาท ถูกจับตา “ตีเช็คเปล่า”
วันนี้ที่ประชุมสภาฯ อภิปรายกฎหมายว่าด้วยการเงิน 4 ฉบับ งบประมาณเกือบ 2 ล้านล้านบาท ภายใต้การอภิปรายงบฯ COVID-19 ที่ฝ่ายค้านมองว่าเป็นการตีเช็คเปล่า เพราะมีแต่ตัวเลขงบฯ แต่ไม่มีรายละเอียดว่านำไปใช้อะไรบ้าง

วันนี้ (27 พ.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เป็นวันแรกของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) เพื่อพิจารณากฎหมายว่าด้วยการเงิน 4 ฉบับ รวมวงเงิน 1.98 ล้านล้านบาท กำหนดประชุมตั้งแต่ 27-31 พ.ค. ด้านฝ่ายค้านเตรียมอภิปราย “ตีเช็คเปล่า” พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท ไม่มีรายละเอียด ประชาชนตรวจสอบไม่ได้

เปิดสภาอภิปรายกฎหมายการเงิน 5 วัน 4 ฉบับ

1) พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท)

โดยสาระสำคัญในกฎหมาย กำหนดให้กระทรวงการคลัง โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ หรือออกตราสารหนี้ในนามรัฐบาล มีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ภายในวันที่ 30 ก.ย. 2564

การใช้เงินจำนวนนี้ แบ่งเป็น
(1) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 45,000 ล้านบาท
(2) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และ ชดเชยให้กับประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จำนวน 555,000 ล้านบาท
(3) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท ซึ่งมีรายละเอียด เช่น แผนงานลงทุนพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน แผนงานหรือโครงการเพื่อส่งเสริม แผนงานกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน และแผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

2) พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563

โดยสาระสำคัญของ พ.ร.ก.ดังกล่าว กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีอำนาจให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินเป็นการเฉพาะคราว วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ โดย ธปท. จะคิดดอกเบี้ยจากสถาบันการเงิน 0.01 % ต่อปี และให้ยื่นคำขอกู้ยืมเงินภายใน 6 เดือน

3) พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 โดยมีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้จัดตั้งกองทุนรวมขึ้นกองทุนหนึ่ง เรียกว่า “กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้”

มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพ และสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยวิธีการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ออกใหม่ โดยในระยะเริ่มแรกให้กองทุนมีวงเงินไม่เกิน 400,000 ล้านบาท

4) ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ... ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ร้องขอให้หน่วยงานโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จัดสรรคืนเพื่อนำไปใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหา เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 หลังจากงบฯ กลางที่จัดสรรไว้ ตาม พ.ร.บ.งบฯ 2563 จำนวน 9.6 หมื่นล้านบาท นั้นไม่เพียงพอ โดยวงเงินที่จัดสรรคืนจำนวน 8.8 หมื่นล้านบาท

แม้รวมแล้ววงเงินงบประมาณที่กำลังจะถูกพิจารณาในสภาฯ จะมากถึง 1.98 ล้านล้านบาท แต่เฉพาะที่เป็นเงินกู้จะอยู่ใน พ.ร.ก.ฉบับแรกเท่านั้น เพราะระบุชัดเจนในมาตรา 3 ว่า การกู้เงินมีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท

ฝ่ายค้านเตรียมอภิปราย “ตีเช็คเปล่า”

ก่อนหน้านี้ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า การออก พ.ร.ก.กู้เงินในลักษณะที่ไม่มีรายละเอียด ไม่มียุทธศาสตร์ และไม่มีข้อมูลให้ประชาชนรับทราบและตรวจสอบได้ โดยเฉพาะแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท ที่ยังไม่มีรายละเอียดใด ๆ ให้จับต้องได้ เป็นการขอวงเงินไว้ก่อนแล้วเอาโครงการไปใส่ภายหลัง เหมือนตีเช็คเปล่า

กรณีนี้อาจก่อให้เกิดความเสียหายในอนาคต อีกทั้งเม็ดเงินในส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับระบบการเงินและความมั่นคงของเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งมาตรการในการดูแลเม็ดเงินที่รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดนั้น อาจไม่เพียงพอ โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านจะเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อตรวจสอบการใช้เงินก้อนนี้

ด้าน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณว่า หน่วยงานต่าง ๆ ไม่มีความพยายามโอนงบฯ ทำให้จากเดิมที่ ครม.อนุมัติกรอบวงเงินไว้ที่ 100,395 ล้านบาท แต่สามารถรีดคืนจากหน่วยงานได้เพียง 8.8 หมื่นล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง