"อัศวิน" มั่นใจระบบระบายน้ำ กทม.ดีขึ้น พร้อมรับหน้าฝน

สังคม
28 พ.ค. 63
17:00
820
Logo Thai PBS
"อัศวิน" มั่นใจระบบระบายน้ำ กทม.ดีขึ้น พร้อมรับหน้าฝน
"อัศวิน" มั่นใจระบบระบายน้ำ กทม. ดีกว่าในอดีต หากฝนตกหนักระบายน้ำได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง ส่วนจุดเสี่ยงน้ำท่วมขณะนี้เหลือเพียง 14 จุด พร้อมสั่งเจ้าหน้าที่ติดตั้งอุปกรณ์ เจ้าหน้าที่ประจำจุด รับหน้าฝนนี้

วันนี้ (28 พ.ค.2563) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจระบบระบายน้ำ 4 จุด ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงน้ำท่วมหากฝนตกหนัก เตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ กทม. ประกอบด้วย

 

จุดที่ 1 บริเวณถนนพหลโยธิน โดยรอบแยกเกษตรศาสตร์ ซึ่งจุดนี้มีการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค อาทิ อุโมงค์ทางลอด สะพานข้ามแยก และระบบสาธารณูปโภคใต้ติน ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ประสิทธิภาพในการะบายน้ำบริเวณดังกล่าวลดลง เมื่อฝนตกในปริมาณมากจึงประสบปัญหาน้ำท่วมขังบ่อยครั้ง กทม. โดยสำนักการระบายน้ำจึงดำเนินโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (Pipe Jacking) ด้วย 2 วิธี ทั้งการดันท่อและการก่อสร้างบ่อสูบ บริเวณถนนประเสริฐมนูกิจ ตอนลงคลองลาดพร้าว กำลังสูบ 4.50 ลบ.ม.ต่อวินาที ปัจจุบันโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำถนนพหลโยธิน บริเวณแยกเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนในการสัญจรและประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว

 

จุดที่ 2 ช่วงแยกรัชโยธิน-แยกเกษตร ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทำให้มีเศษวัสดุก่อสร้างตกลงยังบ่อพัก การยกขอบบ่อพัก ช่องรับน้ำฝนมีขนาดเล็กลง รวมทั้งการปูผิวจราจรแอสฟัลต์ จำนวน 100 ช่อง ฝาท่อระบายน้ำในผิวจราจรถูกปิดทับ จุดนี้ได้ประสานหาแนวทางการแก้ไขปัญหาน่วมกับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้ดำเนินการเปิดช่องรับน้ำฝน ยกขอบบ่อพักท่อระบายน้ำ เก็บเศษวัสดุภายในบ่อพัก ก่อสร้างรางระบายน้ำรูปตัวยู เปิดฝาบ่อพักที่โดนปิดทับ ทั้งนี้ได้มอบหมายสำนักโยธาเร่งติดตามการดำเนินการแก้ไขให้เสร็จโดยเร็ว

 

จุดที่ 3 โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต สถานีสูบน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิตได้เปิดใช้บริการงานเป็นระยะเวลายาวนาน อัตรากำลังสูบน้ำที่มีอยู่เดิม 59 ลบ.ม./วินาทีทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพสำนักการระบายน้ำจึงดำเนินโครงการปรับปรุงสถานีสูบน้ำตามแนวถนนวิภาวดี จำนวน 15 สถานี โดยดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จ 9 สถานี เพิ่มอัตรากำลังสูบน้ำรวม 90 ลบ.ม./วินาที และในส่วนสถานีคลองบางซื่อขาเข้า(ฝั่งใต้) คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.นี้ โดยจะเพิ่มอัตรากำลังสูบน้ำเป็น 92 ลบ.ม./วินาที

เมื่อโครงการปรับปรุงสถานีสูบน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิตแล้วเสร็จทั้งหมด 15 สถานี จะเพิ่มอัตรากำลังสูบน้ำจาก 92 ลบ.ม./วินาที ได้เป็น 110 ลบ.ม./วินาที สามารถระบายน้ำลงสู่คลองบางซื่อ คลองลาดยาว คลองบางเขน คลองวัดหลักสี่ ระบายออกสู่คลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว ตลอดจนช่วยรองรับน้ำบริเวณคูน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิตทั้งฝั่งขาเข้าและขาออกเข้าสู่ระบบอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดเครื่องยนต์ดีเซลและแบบไฮดรอลิกเสริม 10 เครื่อง ที่สถานีสูบน้ำตลอดแนวถนนวิภาวดีรังสิตและติดตั้งเครื่องกำลังไฟฟ้า 3 แห่ง เพื่อเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ฝนในปีนี้

 

จุดที่ 4 ถนนดินแดง ช่วงตั้งแต่ซอยตระกูลสุขถึงซอยขวัญพัฒนา ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ หากเกิดฝนตกในปริมาณมาก ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง ส่งผลกระทบต่อปัญหาการจราจรในพื้นที่ สำนักงานระบายน้ำ ได้แก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนโดยก่อสร้างรางระบายน้ำ บริเวณปากซอยสุทธิพร 2 เพื่อเร่งระบายน้ำท่วมขังบริเวณถนนดินแดง สำหรับในระยะยาวได้ดำเนินการก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) ปัจจุบันบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) บนิเวณปากซอยสุทธิพร 2 ดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำได้เป็นอย่างดี

 

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ปี 2560 จุดอ่อนน้ำท่วมมีจำนวน 17 จุด ปัจจุบันเหลือ 14 จุด ซึ่งทุกจุดกทม.ได้พัฒนาแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเสริมกำลังการระบายน้ำเมื่อฝนตก

ในอดีตหากมีปริมาณน้ำฝน 60 มิลลิเมตร ตกในพื้นที่ กทม.จะเกิดปัญหาน้ำท่วมขังบนถนน แต่ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบการระบายน้ำในจุดต่าง ๆ สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้ถึง 100 มิลลิเมตร ทำให้ระบบการระบายฝนดีมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ กทม.ได้แก้ไขระบบไฟฟ้าในสถานีต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิการจ่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มรูปแบบ แก้ปัญหาไฟตก ไฟดับ สัตว์เลื้อยคลานผ่านสายไฟ ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่กทม.พัฒนาตลอดเวลา เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับทั้งผู้ใช้รถใช้ถนนและประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบ

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง