หมื่นล้านได้อะไร ? เมื่อ รพ.ต้องสั่งซื้อคุรุภัณฑ์ตาม Shopping List

สังคม
16 มิ.ย. 63
08:14
994
Logo Thai PBS
หมื่นล้านได้อะไร ? เมื่อ รพ.ต้องสั่งซื้อคุรุภัณฑ์ตาม Shopping List
ไม่จบง่ายๆ เมื่อโรงพยาบาลถูกกดงบฯ ที่ได้จากเงินกู้ 4.5 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะ รพ.สต.อาจได้แค่แห่งละ 3 แสนบาท เสี่ยงได้คุรุภัณฑ์ไม่ตรงความต้องการ ได้ของอย่าง รถกระบะ มอเตอร์โซค์ แล็บท็อป แต่ไม่เกี่ยวกับการรับมือโควิด-19

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังอลวนอยู่กับเรื่อง “เงิน” โดยเฉพาะเงินร้อนที่ได้จากเงินกู้ 4.5 หมื่นล้านบาท เมื่อโรงพยาบาลทั่วประเทศ ถูกปรับลดวงเงินกันถ้วนหน้า ยอดรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท เหลือ 6 พันล้านบาทง

รพ.ที่ออกมาโอดครวญเสียงดังฟังชัด คือ รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) ยอดแรกได้โควตา 5 แสน – 1 ล้านบาท ตามขนาด รพ.สต. แต่ยอดหลังหั่นลดเหลือแค่แห่งละ 3 แสนบาท

1.

เตะตายิ่งกว่า! คือรอบนี้ สธ.ไม่ได้ใช้วิธี “แจก” งบฯ ตามที่เคยทำ อย่างการให้โรงพยาบาลในแต่ละจังหวัดตั้งเรื่อง โดยจัดทำ List หรือรายการที่ต้องการจัดซื้อด้วยตนเอง แล้วส่งเรื่องผ่าน ผู้ตรวจ 12 เขต เข้ามายัง สธ.

แต่รอบนี้ สธ.เป็นคนทำ List สเปกคุรุภัณฑ์ให้กับแต่ละโรงพยาบาลเลือกจาก Shopping ตามรายการที่ สธ. กำหนด

ที่ร้อนฉ่า! ออกจากตึก สธ. คืออารมณ์ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ที่เพิ่งรู้ว่าคนใต้กำกับของตัวเอง จัดทำ Shopping List ส่งไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ พร้อมกับกำหนดวงเงินคร่าวๆ ให้กับโรงพยาบาลแต่ละขนาด

ทั้งที่ นายอนุทิน ยังไม่ได้สรุปสัดส่วนของเงินกู้ 4.5 หมื่นล้านบาท ว่าจะใช้กับส่วนใดเป็นเงินเท่าไหร่ แต่โรงพยาบาลทั่วประเทศกลับได้รับ Shopping List และเตรียมตั้งเรื่องขึ้นมาแล้ว ยอดสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท เท่ากับครึ่งหนึ่งของเงินกู้ 4.5 หมื่นล้านบาท

เป็นธรรมดาที่ต้องมีคนโกรธและคนตกใจกับยอดนี้ เพราะเงิน 4.5 หมื่นล้านบาทไม่อาจใช้กับโรงพยาบาลอย่างเดียว

ไหนจะต้องกันไว้ให้ อสม. กันไว้ให้ สปสช. ด้วย

สภาวะที่เกิดขึ้นขณะนี้ สธ.จึงเป็นเสมือน “ไม้หลักปักเลน” จะกลับไปใช้สัดส่วนเดิมที่แจกเงินให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ 2 หมื่นล้านบาท เงินก็เหลือไม่พอใช้อย่างอื่น ครั้งจะใช้สัดส่วนใหม่ กดงบฯให้เหลืออยู่ในวงเงิน 6 พันล้านบาท

บรรดาหมอๆ และโรงพยาบาลก็ออกมาเคลื่อนไหวกันแล้ว อย่างกลุ่มโรงพยาบาลชุมชนฯ (รพช.) ถึงขั้นลงชื่อกว่า 200 แห่ง ถ้าได้แค่ 3 แสนบาท ไม่เอาเสียเลยยังจะดีกว่า

อ่านเพิ่ม เงินไปไหน ? หมอโอด 4.5 หมื่นล้าน ถึงบางโรงพยาบาลแค่หลักแสน

2.

ความอลหม่านครั้งนี้ สาเหตุหนึ่งคือ Shopping List เจ้าปัญหา เงินยังไม่มาทว่าดันไปแจก Shopping List ให้เลือกซื้อของกันเสียก่อน พอเงินไม่ได้ตามเป้าจึงต้องผิดหวังไปตามๆ กัน

คำถามจึงอยู่ที่ใครเป็นคน ใครเป็นคนทำ และทำเพราะอะไร

ชื่อนั้นย่อมเป็น คนในของ สธ. ที่รู้รายละเอียดและสเปกที่ควรจะเป็นใน Shopping List ส่วนจะมีช่องโหว่ช่องหว่างที่อาจนำไปสู่การล็อกสเปกคุรุภัณฑ์ตามที่เคยเป็นคดีความกันนั้นยังเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ แต่ก็ต้องเตือนให้ระมัดระวังไว้

ส่วนการทำเร็ว! แจก Shopping List ก่อนที่เงินจะมาถึงมือ มองได้ 2 แง่

1.แง่ดี คือรีบทำ-รีบตั้งเรื่อง เมื่อเงินมาถึงมือโรงพยาบาลต่างๆ จะได้จัดซื้อจัดหากันอย่างรวดเร็ว โดยไม่ใช้วิธีการปกติที่โรงพยาบาลตั้งเรื่องส่งผ่านผู้ตรวจการเขต ก่อนจะให้ สธ.คัดกรองในขั้นสุดท้าย ซึ่งใช้เวลาสอบถามและสอบทานพอสมควร

2.แง่ร้าย คือ “คนใน” ย่อมรู้ดี ว่าการล็อก List รายการ เป็นการบังคับทางอ้อมให้โรงพยาบาลต้องสั่งซื้อคุรุภัณฑ์ตามของที่มีอยู่ใน List ซึ่งบางอย่างไม่ตรงตามความต้องการ แต่เมื่องบฯ มาแล้วยังไงก็ต้องซื้อไว้ก่อน

แม้มันจะไม่เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมรับมือกับ โควิด-19 ก็ตาม

Shopping List ที่ว่า กำหนดรายละเอียดยิบ! ตามระดับโรงพยาบาล 3 ระดับ ซึ่งในที่นี้ขอโฟกัสไปที่โรงพยาบาลในระดับปฐมภูมิอย่าง รพ.สต.มีทั้งหมด 19 รายการ เพราะ Shopping List ชุดนี้ มีหลายอย่างจำเป็น บางอย่างไม่จำเป็น และไม่หลายอย่างที่ไม่เกี่ยวกับการรับมือโควิด-19 โดยตรง

ตัวอย่าง
-รถกระบะ4 ประตู (ดับเบิ้ลแคบ)ขับเคลื่อน 2 ล้อ 900,400 บาท
-รถจักรยานยรต์ ขนาด 150 ซีซี 82,000 บาท
-เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจชนืดอัตโนมัติ (AED) 70,000 บาท
-เครื่องวัดความดันโลหิต 70,000 บาท
-คอมพิวเตอร์แท็ปเล็ต 20,000 บาท
ฯลฯ

 

ส่วนการจัดการเรื่องลดความแออัด รพ.สต. คงทำไม่ได้ และเป็นโควตาของโรงพยาบาลใหญ่ที่พอจะมีงบฯ เพราะการปรับปรุงหอพักผู้ป่วยตามสเปกต้องใช้เงินขั้นต่ำ “หลักล้าน”

 

ย้ำเรื่องวิธีใช้ “เงิน” ปกติ สธ.จะแบ่งเงินตามสัดส่วนไปยังเขตต่างๆ รวม 12 เขต จากนั้นให้โรงพยาบาลแต่ละจังหวัดเสนอเรื่องผ่าน “ผู้ตรวจ” ส่งเข้า สธ. ซึ่งเป็นปฏิวิธีที่ปฏิบัติจนเป็นธรรมเนียม เพราะการนำเงินนำทรัพยากรไปกองไว้ตรงกลางเคยสร้างปัญหามานับไม่ถ้วน อย่างกรณีโกงยายุครักเกียรติ และการล็อกสเปกซื้อคุรุภัณฑ์ยุคไทยเข้มแข็งในรัฐบาลอภิสิทธิ์

แต่ไฉนรอบนี้ “คนใน” สธ.จึงชิงใช้วิธีนี้

แว่วว่าฝ่ายการเมืองรับรู้เรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว นอกจากนายอนุทินจะฉุน อาจถึงขั้นรื้อใหญ่โละกรรมการที่ออก Shopping List ทิ้งทั้งชุด แล้วตั้งกรรมการที่มาจากผู้ตรวจการเขต 12 เขต เพราะน่าจะสะท้อนความต้องการของโรงพยาบาลมากกว่า

3.

โจทย์ที่ต้องทำให้กระจ่ายรอบนี้ นอกจากทำให้ปลอด “ทุจริต” ที่อาจมาพร้อมกับการกำหนดสเปกใน Shopping List คือการใช้เงินกู้ 4.5 หมื่นล้านบาท ให้คุ้มค่ามากที่สุด เพราะตอนนี้ สธ.ยังถูกมองว่าเป็น “ไม่หลักปักเลน” พลิกไปพลิกมาเรื่องกรอบวงเงินที่จะจัดสรรให้ โรงพยาบาลแต่ละประเภท

แต่หลังจากฝุ่นตลบในรอบสัปดาห์มีเสียงเล็ดลอดมาจากที่ประชุม สธ. คงจะต้องใช้ “วงเงินต่ำ” คือกรอบงบฯ ที่เคาะให้โรงพยาบาลในครั้งล่าสุด อย่างกลุ่ม รพ.สต. ที่จำยอมต้องรับวงเงินแห่งละ 3 แสนบาท

“แหล่งข่าว” เผยว่า คงต้องยอมรับวงเงินในกรอบนี้ไปก่อน ส่วนงบฯ ที่จะใช้สร้างวอร์ดใหม่ หรือเตรียมเครื่องมือเครื่องไม้ที่จะรับมือโควิด-19 คงต้องหวังกับ งบประมาณปี 2564 เพราะเรื่องนี้ สธ. ส่งผู้ใหญ่เข้าไปไกล่เกลี่ยกับกลุ่ม รพ.สต.แล้ว

สรุป -โจทย์ระยะสั้นคือการจัดการเงินกองนี้ สธ. จะเคาะต่ำหรือเคาะสูงก็ต้องรีบเคาะ เพราะไม่อย่างนั้นเงินจะลงไปถึงมือหมอล่าช้า และหากหวยออกที่ช้อยส์ “กดต่ำ” ก็ต้องไปตกลงกันว่าจะโป๊ะให้รอบไหน เพราะอย่างที่บอกว่าหลายโรงพยาบาลควักกระเป๋าตังก์ตัวเองจ่ายไปแล้ว

ส่วนวิธีใช้เงินผ่านการช็อปใน Shopping List อาจต้องแก้ไขหรือทำให้รัดกุมมากขึ้น เพราะเสี่ยงที่สุดคือ “คนใน” ที่รู้เส้นสนกลในเป็นอย่างดี หากเปิดช่องให้มีการฮั้วกับเอกชน คนปลายทางอย่างหมอ-พยาบาลที่จะได้ใช้ของ อาจได้ของไม่ตรงความต้องการจะเป็นผู้เดือดร้อน

หรือไม่ก็ต้องจำทน “เอาไว้ก่อน” เลือกเคาะตามลิสต์ที่ให้มา รถกระบะ รถเครื่อง แล็บท็อป ก็ยังดีเสียกว่าไม่ได้อะไรเลย

ปลายทางเรื่องเงิน ไม่ใช่การโต้เถียงว่า “โรงพยาบาล” ควรได้เงินกี่มากน้อย แต่ควรติดตามให้การใช้เงินนั้นคุ้มค่าสมกับที่กู้มา โดยเฉพาะส่วนกลางที่เป็นคุมเงินก้อนนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง