"อนุทิน" ยังไม่สรุปเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พร้อมทดลองวัคซีนเอง

การเมือง
19 มิ.ย. 63
11:06
312
Logo Thai PBS
"อนุทิน" ยังไม่สรุปเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พร้อมทดลองวัคซีนเอง
รมว.สาธารณสุข ระบุยังไม่สรุปเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนการเปิดประเทศรับต่างชาติจะเน้นกลุ่มนักธุรกิจและอาจารย์ต่างชาติเท่านั้น เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ พร้อมฉีดวัคซีนทดลอง COVID-19 หากแพทย์เห็นว่าฉีดได้

วันนี้ (19 มิ.ย.2563) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุขกล่าวถึงการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ แทนว่า เรื่องนี้ต้องหารือในที่ประชุม ศบค. ต้องนำข้อมูลที่มีจุดดี และจุดเสี่ยง ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาวิเคราะห์

ยังไม่สรุปใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างมากคือ ความสะดวกและความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งสำคัญกว่ากฎหมาย คือความปลอดภัยของประชาชน หากใช้กฎหมายไหนแล้วประชาชนมีความปลอดภัยและสะดวกกับประชาชน ต้องเลือกกฎหมายนั้น

หากเริ่มผ่อนคลายมาตรการแล้ว ก็มองว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่จำเป็น แต่อยากให้มองย้อนไปเมื่อ 3-4 เดือนก่อน หากไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ย่อมมีปัญหาแน่ ทั้งนี้ต้องมีการหารือในที่ประชุม ศบค.ในสัปดาห์หน้าอีกครั้ง

ส่วนข้อเรียกร้องของนักดนตรีกลางคืน ที่อยากให้กลับมีการเปิดร้องเพลงได้นั้น เรื่องนี้กำลังหารือกับอธิบดีกรมควบคุมโรค ว่า จะมีแนวทางใดบ้างที่จะดำเนินการได้ เช่นการใส่หน้ากากหรือการเว้นระยะห่าง พร้อมกันนี้ขอขอบคุณ ประชาชนทุกคนที่ให้ความร่วมมือ เพราะไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศติดต่อกันเป็นวันที่ 26 แล้ว

 

นายอนุทินยังกล่าวถึงการผลิตวัคซีนป้องกัน COVID-19 ว่า ขณะนี้อยู่ขั้นตอนการทดลองในหนู ซึ่งวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้รับรายงานจากอธิบดีกรมการแพทย์ว่า มีภูมิต้านทานในสัตว์ทดลอง หลังจากนี้จะทดลองในลิง ซึ่งจะไม่มีการทดลองในกระต่าย

สำหรับคนในล็อตแรกตามหลักกระทรวงสาธารณสุขจะทดลองกับบุคลากรสาธารณสุข ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือผู้ที่ต้องใกล้ชิดกับคนไข้ ซึ่งการที่จะทดลองในคนต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัย คาดว่าไม่เกิน 3-4 เดือน ซึ่งทางโรงพยาบาลจุฬาฯ ได้ดำเนินการไปแล้ว

และ Bio-net Asia ได้ทำบันทึกข้อตกลง กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้แบ่งเงินกู้จำนวน 3,000 ล้านบาท มาใช้ในโครงการดังกล่าว เพื่อเพิ่มศักยภาพ และความคล่องตัวในการทดลองวัคซีน ซึ่งก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องต่างๆ เนื่องจากขณะนี้มีความมั่นใจว่า จะสามารถผลิตวัคซีนได้

 

อนุทินพร้อมทดลองวัคซีน COVID-19

ส่วนที่มีหลายฝ่ายออกมาระบุว่า การผลิตวัคซีนเอง จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ากันการนำเข้านั้น ตนมองว่า การพึ่งพาตนเองดีที่สุด เพราะ COVID-19 สอนให้เรารู้จักพึ่งพาตัวเองภายใต้ศักยภาพพื้นฐาน หากรอต่างประเทศแล้ว เกิดการระบาดอีกครั้ง จะทำอย่างไร

สำหรับการทดลองฉีดวัคซีน ป้องกันโควิด-19 นั้น นายอนุทิน ยืนยันว่า พร้อมที่จะให้แพทย์ฉีดวัคซีนทดลองกับตนเอง แต่ไม่ใช่ใครก็สามารถจะได้รับการฉีดวัคซีนทดลอง ต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา ส่วนที่นายกรัฐมนตรี จะทดลองฉีดด้วยหรือไม่นั้น นายอนุทินกล่าวว่า ต้องกันนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน

 

หารือญี่ปุ่นก่อนเสนอ Travel Bubble ให้ ศบค.

นายอนุทินกล่าวต่อว่า ได้เชิญ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พูดคุยกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ที่จะเข้าพบนายกรัฐมนตรีเช้าวันนี้ ถึงการเจรจา Travel Bubble ถึงเงื่อนไขการเดินทางเข้าออกระหว่างสองประเทศอย่าง Fit to fly หรือรูปแบบการคัดกรองในแบบต่างๆ เตรียมพร้อมเสนอนายกรัฐมนตรี และศบค.ถึงความเป็นไปได้ในตอนนี้เพื่อคืนความเป็นปกติให้ประเทศมากที่สุด

รวมทั้งได้หารือกับนายนาชิดะ คาซูยะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งมีหลายประเทศได้ติดต่อเข้ามา เพื่อจะพูดคุยกัน เบื้องต้นจะเน้นกลุ่มนักธุรกิจ อาจารย์สอนในโรงเรียนนานาชาติ เนื่องจากเป็นกลุ่มเฉพาะที่สามารถติดตามตัวได้ ไม่ใช่นักท่องเที่ยวทั่วไปที่จะแฝงตัวเข้ามาในนามนักธุรกิจได้ และต้องมีการยืนยันตัวตนมาก่อน

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง