“แบบเรียน” พื้นที่ช่วงชิงอำนาจสู่โอกาสส่งต่ออุดมการณ์

สังคม
20 ก.ค. 63
18:05
1,557
Logo Thai PBS
“แบบเรียน” พื้นที่ช่วงชิงอำนาจสู่โอกาสส่งต่ออุดมการณ์
แบบเรียนที่เคยผ่านตา ใครจะรู้ว่าแท้จริงแล้วต้องผ่านการช่วงชิงอำนาจสู่โอกาสในการส่งต่ออุดมการณ์ แต่การส่งต่ออุดมการณ์นั้นไม่สามารถครอบงำเยาวชนได้ทั้งหมด ไทยพีบีเอสออนไลน์พูดคุยกับ"ดร.ออมสิน จตุพร" ภาควิชาพื้นฐานและการพัฒนาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มช.

บทเรียนภาษาไทย เรื่อง เสียแล้วไม่กลับคืน อยู่ในหนังสือ "ภาษาพาที" ที่ได้มีการกล่าวถึงตัวละครเกี๊ยวจนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์บนสื่อสังคมออนไลน์นั้น นอกจากการตั้งคำถามถึงแนวทางแก้ไขแล้ว บางส่วนมองว่าการ "เกี๊ยว" กลายเป็นตัวแทนของการกดทับและตีตราผ่านถ้อยคำในบทเรียนจนตั้งคำถามไปถึงความเป็นมาของแบบเรียนและเจตนาที่แท้จริง

 "ดร.ออมสิน จตุพร" อาจารย์ภาควิชาพื้นฐานและการพัฒนาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2554 ปรับหลักสูตรเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 สมัยนั้นมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าแบบเรียนไม่ทันสมัย "หนังสือเรียน คือ สื่อหนึ่งในการใช้หลักสูตร"  ดังนั้นต้องบอกว่า แบบเรียนคือส่วนหนึ่งในการบรรจุอุดมการณ์ให้สังคมได้มีการรับรู้และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันต่อไป

การทำแบบเรียนนั้น จะมีกระบวนการในการต่อรองอำนาจ อุดมการณ์ของแต่ละคนแตกต่างกัน ดังนั้น อุดมการณ์ของนักวิชาการในแนวจารีต แนวอนุรักษ์นิยม แนวก้าวหน้า จึงไม่สามารถยึดชิงพื้นที่ในแบบเรียนได้ทั้งหมด ตอนนี้สังคมไทยยังอยู่ภายใต้รัฐแนวอนุรักษ์นิยม ทำให้กลุ่มที่มีอำนาจในสังคมสามารถช่วงชิงพื้นที่เข้ามาจนปรากฏในแบบเรียนค่อนข้างชัดเจน


หนังสือภาษาพาที เป็นสื่อหนึ่งในสาระการเรียนรู้แกนกลางภาษาไทย โดยภาษาไทยมีสาระและมาตรฐาน 5 กลุ่มสาระ

  1. อ่าน
  2. เขียน
  3. ฟัง ดู และพูด
  4. การใช้ภาษาไทย
  5. วรรณคดีและวรรณกรรม

หนังสือภาษาพาที ของกระทรวงศึกษาธิการเป็นที่ยอมรับให้เป็นหนังสือหลักในการสอนวิชาภาษาไทย หรือพูดง่ายๆ ว่า "ทุกโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแกนกลาง" โดยทั้ง 5 กลุ่มสาระจะถูกบูรณาการมาไว้ในแบบเรียน มองให้ดีในหนังสือจะมีการพูดถึงการอ่านความหมาย การอ่านเรื่องสั้น การแยกข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น การอธิบายคุณค่าของวรรณกรรมที่อ่านและหยิบมาใช้ในชีวิตจริง ซึ่งปรากฏในตัวชี้วัด

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ชุดคำเหล่านี้ เป็นตัวแทนที่กลุ่มคนที่มีอำนาจกำหนดว่าเหมาะกับการใช้ในหนังสือเรียนชั้น ป.6 ผู้ที่ร่างแบบเรียนคิดแบบผู้ใหญ่รู้ดีกับเด็ก ซึ่งในความหมายนี้ ทำให้คนในสังคมคิดได้ว่าเป็นการแสดงอำนาจหรือครอบงำบางอย่างกับเด็ก

บรรจุอุดมการณ์ผ่านแบบเรียนในทุกยุคทุกสมัย

ขณะนี้ไทยกำลังใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 เป็นหลักสูตรมาตรฐาน มีการกำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัด ซึ่งจะกำหนดว่าผู้เรียนจะเรียนอะไรอยู่กว้างๆ เพราะฉะนั้น ประเด็นที่สังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้มีอิทธิพลมาจากหลักสูตร แต่อยู่ที่หนังสือเรียน

สิ่งที่ปรากฏในหนังสือเรียน คือ ส่วนหนึ่งของแบบเรียน ในส่วนของหลักสูตรมีความเชื่อมโยงกันแต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกันทั้งหมด ที่จะสามารถเหมารวมได้ว่าเป็นอนุรักษ์นิยม หรือการเหยียดเพศ 

การบรรจุอุดมการณ์หรือชุดความคิดต่างๆ ผ่านบทเรียนนั้น ไม่ได้เกิดในสังคมไทยเพียงอย่างเดียว ดร.ออมสิน เล่าว่า แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา หรือประเทศทางตะวันตก ก็มีปรากฏให้ได้พบเห็นทั้งเรื่องการเหยียดเพศ หรือเรื่องคนผิวดำที่กลายเป็นกลุ่มคนที่มีสถานภาพรองในสังคม "มีปรากฏในแบบเรียนมาตลอดในทุกยุคทุกสมัย พูดง่ายๆ ว่า สังคมมีการต่อรองมีการต่อสู้เชิงอุดมการณ์มาตลอด"

แบบเรียนมีปัญหา ยังแก้ได้ด้วยกระบวนการต่อรอง

สิ่งที่ปรากฏในแบบเรียน ไม่สามารถไปโทษว่าคนที่ออกแบบแบบเรียนเป็นคนอนุรักษ์นิยม หรือพยายามจะยัดเหยียด เนื่องจากการทำหนังสือเรียนไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ยังมีนักวิชาการด้านต่างๆ และครูอาจารย์ในระบบเรียน รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐและเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในแบบเรียน ซึ่งมันมีการต่อรองกันพอสมควรว่าเด็ก ป.6 จะเรียนอะไร แต่เมื่อสิ่งนี้ปรากฏขึ้น มันสะท้อนว่า มีการบรรจุอุดมการณ์ความคิดบางอย่างเข้ามาสู่แบบเรียน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยมีลักษณะเช่นนี้จริง แต่ไม่ได้เป็นภาพแทนของสังคมไทยทั้งหมดว่าผู้หญิงต้องเป็นแบบนั้น

อย่างไรก็ตาม มันมีทางออกและพัฒนาได้ เพราะหนังสือเรียนมีกระบวนการในการปรับปรุง แก้ไขได้ โดยใช้กระบวนการเชิงกฎหมายที่เป็นระบบระเบียบ หากภาคประชาสังคม หรือผู้ปกครองมองว่า ไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ในสังคมหรือยุคสมัย ก็มีกระบวนการในการต่อรอง ต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจในการแก้ไขหรือปรับปรุงแบบเรียน


ดร.ออมสิน ยังย้ำว่า นักเรียนหรือผู้เรียนในยุคร่วมสมัยนั้น แบบเรียนไม่สามารถครอบงำหรือล้างสมองได้อย่างเบ็ดเสร็จ ด้วยเด็กรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงสื่อหรือตัวบทหลายอย่าง เนื่องจากแบบเรียนเป็นสื่อหนึ่งในการศึกษา แต่สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ก็สามารถช่วยในการศึกษาได้ สิ่งสำคัญคือ ครูต้องมีวิจารณญาณในการเสนอแนะเพื่อให้เท่าทันสื่อได้ และต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตและสังคมภูมิหลังรวมถึงวัฒนธรรมด้วย

แบบเรียนต้องทำให้ได้มาตรฐานตามหลักสูตร มันมีการต่อรองทางการเมือง ช่วงชิงความรู้ วิธีการคิด แต่ก็ไม่สามารถออกไปว่าสิ่งนี้ถูก แต่มันมีการพิจารณาอยู่เสมอว่ามันไม่แย้งกับหลักสูตรแกนกลาง สังคมเราควรมีความเข้าใจให้แบบเรียน

แบบเรียนสุขศึกษาตัวอย่างผลักดันแก้แบบเรียน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยพีบีเอสได้ติดตามกรณีที่สังคมไทยเคยมีการผลักดันให้เกิดการแก้ไขแบบเรียนโดยภาคประชาชนหรือภาคประชาชนสังคมก็ยังสามารถตรวจสอบและเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขได้ อย่างกรณีแบบเรียนสุขศึกษาที่มีการบรรจุเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยภาคประชาสังคมนั้นเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างความเข้าใจจึงได้ผลักดันให้มีการบรรจุเรื่อง “ความหลากหลายทางเพศ” ในหนังสือเรียน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

ระหว่างทาง นายกิตตินันท์ ธรมธัช หรือที่หลายคนเรียกว่า แดนนี่ เดอะบีช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานด้าน"สิทธิและสุขภาวะ" ของคนหลากเพศ จึงได้ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเป็นระบบพร้อมเปิดให้ประชาชนได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนผ่าน Change.org 

แม้ว่าการผลักดันในครั้งนี้จะต้องมีกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ จนใช้เวลาถึง 1 ปี แต่การเพิ่มเติมแก้ไขตำราแบบเรียนสุขศึกษาและพลศึกษาครอบคลุมตั้งแต่ชั้นป.1 จนถึง ม.6 ทั้งหมด 12 ชั้นเรียน ในส่วนที่เรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศทุกมิติ ขณะนี้สมบูรณ์แบบ 100% พร้อมใช้ในเทอมการศึกษาใหม่ตั้งแต่เดือน พ.ค.2562

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

โซเชียลกังขา บทเรียนตีตราให้ “เกี๊ยว” ใจแตก ?

ถึงเวลาเปลี่ยน ไทยทอดทิ้ง "แบบเรียน" นานเกินไปหรือยัง?

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง