รัฐบาลเดินหน้า 8 มาตรการเร่งด่วนรับมือฝน "ลุ่มเจ้าพระยา"

ภัยพิบัติ
14 ส.ค. 63
11:04
788
Logo Thai PBS
รัฐบาลเดินหน้า 8 มาตรการเร่งด่วนรับมือฝน "ลุ่มเจ้าพระยา"
กอนช.ระดมทุกหน่วย ถกรับมือแก้ปัญหาลุ่มเจ้าพระยา ปี 2563 หลังรัฐบาลสั่งเดินหน้า 8 มาตรการรับมือฝน พร้อมอนุมัติ 14 โครงการ

วันนี้ (14 ส.ค.2563) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานมอบนโยบายการประชุมเสวนา เรื่อง “ส่องแผนรัฐ รับมือฝน ปี 2563 ลุ่มน้ำเจ้าพระยา รอดหรือไม่ ?” โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนเกษตรกร ผู้แทนภาคอุตสาหกรรม และนักวิชาการ กว่า 200 คน เข้าร่วมงาน ที่ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ถ.แจ้งวัฒนะ

ภายในงานมีการจัดนิทรรศการการดำเนินงานของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เพื่อเตรียมการรับน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา การบรรยายในหัวข้อ “9 แผนงานเพื่อบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยา” และการเสวนา เรื่อง “ส่องแผนรัฐ รับมือฝน ปี 2563 ลุ่มน้ำเจ้าพระยา รอดหรือไม่ ?” โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต นายชวลิต จันทรรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และนายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาน้ำทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชน และสร้างความมั่นคงด้านน้ำในทุกภาคส่วน ในวันนี้เป็นการร่วมกันแสดงความพร้อมของหน่วยงาน ภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ รับมือกับสถานการณ์ฝนในปีนี้ ตามที่รัฐบาลได้เห็นชอบ 8 มาตรการเร่งด่วน

ประกอบด้วย 1.การคาดการณ์พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วม 2.การปรับแผนการเพาะปลูกพืช 3.การจัดทำเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ 4.การตรวจสอบอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ และสถานีโทรมาตร 5.การตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ 6.การสำรวจแม่น้ำคูคลองและดำเนินการขุดลอก กำจัดผักตบชวา 7.เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือ และ 8.สร้างการรับรู้กับประชาชน ซึ่งถือได้ว่าเป็นแผนรองรับสถานการณ์น้ำในเชิงป้องกัน

 

โดยได้สั่งการให้เร่งรัดดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวล่วงหน้าอย่างเต็มประสิทธิภาพ ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดการสิ่งกีดขวางทางน้ำ ขยะมูลฝอย และผักตบชวา ที่สามารถกำจัดได้แล้วกว่า 500,000 ตัน ในบริเวณต่าง ๆ 143 แห่ง รวมไปถึงการเตรียมพื้นที่รับน้ำในทุ่งเจ้าพระยา และการวางแผนกักเก็บน้ำในฤดูฝนนี้ไว้ใช้สำหรับฤดูแล้งปีหน้าให้ได้มากที่สุด

นอกจาก 8 มาตรการเร่งด่วนแล้ว รัฐบาลยังได้มอบหมายให้จัดทำแผนงานหลักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นลุ่มน้ำที่ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเป็นแผนงานระยะยาวที่เน้นเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัย จำนวน 9 แผน

ซึ่งที่ผ่านมา สทนช. รับหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการศึกษาจัดลำดับความสำคัญ โดยเป็นการศึกษาอย่างรอบคอบให้ทุกแผนงานโครงการเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด

และต่อจากนี้ ได้มอบหมายให้ สทนช. เร่งบูรณาการแผนหลักดังกล่าวกับหน่วยงานปฏิบัติขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพิ่มศักยภาพในการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้านการเกษตร แก้ปัญหาและพัฒนาในทุกมิติต่อไป

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวให้เกิดผลสำเร็จ ได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชนและประชาชน มีส่วนร่วมในการจัดการน้ำในพื้นที่กับภาคราชการ และสร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับประชาชนด้วย

 

ด้าน นายสมเกียรติ เปิดเผยว่า เป้าหมายหลักของการจัดงานครั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ และแสดงความพร้อมถึงการเตรียมรับมือฤดูฝนปี 2563 ภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 40 หน่วยงานจาก 8 กระทรวง ได้ร่วมกันขับเคลื่อนอย่างเต็มศักยภาพ

รวมถึงรายงานความก้าวหน้าการสนับสนุนงบกลางเพื่อช่วยเหลือภัยแล้งและเตรียมการรองรับอุทกภัย ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในปี 2563 จำนวนทั้งสิ้น 29,160 โครงการ โดยความร่วมมือจาก 15 หน่วยงาน

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาอย่างทันท่วงที ซึ่งเมื่อวานนี้ (13 ส.ค.) คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบกลางโครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม เพิ่มเติม เพื่อดำเนินการเร่งด่วนในปี 2563 อีก 14 โครงการ

ประกอบด้วย 1.ฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิม 2.ก่อสร้างแหล่งน้ำใหม่ 3.ระบบประปา 4.ระบบระบายน้ำชุมชน 5.ปรับปรุงคุณภาพน้ำ 6.เครื่องจักร เครื่องมือ โดยแบ่งออกเป็นโครงการในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 17 จังหวัด มีแผนงานที่มีสถานะพร้อมดำเนินการได้ทันที จำนวน 2,135 แห่ง ได้แก่ ระบบประปา ก่อสร้างแหล่งน้ำใหม่ ฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิม และเครื่องจักร เครื่องมือ

ซึ่งนอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนแล้ว รัฐบาลยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการแก้ไขปัญหาและพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยภายในงานวันนี้จะมีการนำเสนอมาตรการระยะยาวในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่จะกระทบกับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญระดับประเทศ และเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นไปตามแผนงานผ่านเวทีการเสวนาด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง