สธ.เตรียมเสนอ ศบค.ลดวันกักตัวนักท่องเที่ยวเหลือ 10 วัน

สังคม
7 ต.ค. 63
19:13
2,200
Logo Thai PBS
สธ.เตรียมเสนอ ศบค.ลดวันกักตัวนักท่องเที่ยวเหลือ 10 วัน
สธ.เตรียมเสนอ ศบค.พิจารณาลดการกักตัวเหลือ 10 วัน ตามความเสี่ยงของประเทศต้นทาง เพื่อให้การควบคุมโรคสมดุลกับเศรษฐกิจ พร้อมจัดทำแบบจำลองการระบาดระลอกใหม่ในไทย

วันนี้ (7 ต.ค.2563) นพ. เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงความพร้อมรับมือสถานการณ์ COVID-19 ระลอกใหม่ ระบุว่า ไทยสามารถควบคุมโรคได้ดีจนเป็นที่ชื่นชมจากทั่วโลก ในช่วงต้นปีได้นำเสนอ 3 ฉากทัศน์ หากสถานการณ์รุนแรงที่สุด จะมีผู้ติดเชื้อ 16.7 ล้านคน แต่ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อกว่า 3,600 คน จึงถือว่ามาตรการควบคุมโรคทำได้ดี แต่ก็ยังจำเป็นที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และเชื่อว่าจะไม่มีการระบาดใหญ่เหมือนรอบแรก

ส่วนการเปิดประเทศจะต้องมีมาตรการควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มข้น โดยจำลองการระบาดรอบใหม่ใน 3 รูปแบบ คือ มีผู้ติดเชื้อ1-2 คน และเข้าไปควบคุมโรคได้ดี, มีผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มเล็ก 10-20 คน และสามารถควบคุมโรคได้ไม่เกิน 3-4 สัปดาห์ และรูปแบบสุดท้ายคือการติดเชื้อในวงกว้าง 100-200 คน ควบคุมโรคได้ช้า พร้อมขอความร่วมมือประชาชนสวมหน้ากากอนามัยให้ได้มากกว่าร้อยละ 85-90 ร่วมกับเว้นระยะห่างและล้างมือบ่อยๆ ซึ่งเป็นเหมือนวัคซีนเบื้องต้น ขณะที่ยังไม่รู้ว่าจะได้ใช้วัคซีน COVID-19 เมื่อใด

ขณะนี้ให้กรมควบคุมโรคทำแผนลดการกักตัวใน State Quarantine โดยจะพิจารณาถึงความปลอดภัย ลดลั่นจาก 14 วัน เหลือ 10 วัน และเหลือ 7 วัน ให้เหมาะสมกับในแต่ละประเทศที่เข้ามาประเทศไทย ส่วนประเทศที่มีการระบาดหนักอาจยังต้องกักตัว 14 วัน ซึ่งคาดว่าจะเสนอให้ ศบค.พิจารณาได้ภายใน 2 สัปดาห์ เบื้องต้นจะเสนอลดการกักตัว 10 วัน จากนั้นพิจารณาใช้มาตรการดังกล่าวไปอีก 1 เดือน และทบทวนว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร

 

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุถึงแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ หรือ Special Tourist Visa กำหนดคุณสมบัติเป็นบุคคลต่างชาติพำนักระยะยาวได้ 3 ครั้ง ครั้งละ 90 วัน รวม 270 วัน ต้องมีการคัดกรองสุขภาพ ประวัติสุขภาพจากประเทศต้นทาง และยินยอมการกักตัว 14 วัน มีหลักฐานการพักระยะยาวในไทยที่สามารถตรวจสอบได้ เช่น ใบเสร็จค่าที่พักโรงแรม และได้จัดเตรียมสถานที่กักตัวประเภท Alternative Local State Quarantine ใน 4 จังหวัด ได้แก่ เกาะสมุย จ.สุราษฎธานี, ภูเก็ต, บุรีรัมย์  และชลบุรี

สำหรับสถานที่กักกันทางเลือก หรือ Alternative State Quarantine จัดเตรียมไว้ 84 แห่ง และสถานที่กักกันทางเลือกในพื้นที่ หรือ Alternative Local State Quarantine มี 12 แห่ง รวมทั้งพัฒนาสถานที่กักกันโรงพยาบาลทางเลือก หรือ Alternative Hospital Quarantine สำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามารักษา โดยเข้ารับบริการแล้วกว่า 1,200 คน

สำหรับความพร้อมเรื่องเตียงรองรับผู้ป่วย COVID-19 ทั่วประเทศมี 20,000 เตียง ในจำนวนนี้รองรับผู้ป่วยอาการรุนแรงใน กทม.ได้ 230-400 คนต่อวัน และทั่วประเทศรองรับได้ 1,000-1,740 คนต่อวัน รวมถึงเตรียมยาฟาวิพิราเวียร์สำหรับผู้ป่วย 8,900 คน และยาเรมเดซิเวียร์ 126 คน ขณะเดียวกันยังเพิ่มทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วอีก 3,000 ทีม เพื่อควบคุมโรคให้ได้ภายใน 3-4 สัปดาห์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง