The EXIT : ตรวจสอบหัวคิวงบฯ แก้ภัยแล้ง ตอน 2

สิ่งแวดล้อม
22 ต.ค. 63
18:39
375
Logo Thai PBS
The EXIT : ตรวจสอบหัวคิวงบฯ แก้ภัยแล้ง ตอน 2
เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.เขต 4 เข้าตรวจสอบโครงการขุดบ่อบาดาลมหาสารคาม พบผ่านมา 2 สัปดาห์ แต่ผู้รับเหมาโครงการยังไม่เริ่มทำงาน ขณะที่เครือข่ายภาคประชาชนตั้งข้อสังเกตกรณีเร่งรีบทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง

บ่อบาดาลเก่าภายในวัดโพธิ์ศรีบ้านเข็ง ต.สือเฒ่า อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม อยู่ในสภาพทรุดโทรมและสูบน้ำขึ้นมาใช้ไม่ได้ วัดแห่งนี้ถูกเลือกให้เป็นจุดเจาะบ่อบาดาลหลายบ่อในโครงการของภาครัฐตั้งแต่ในอดีต ล่าสุดบริเวณนี้ยังถูกเลือกให้เจาะบ่อบาดาลเพื่อแก้ภัยแล้ง

โครงการขุดเจาะบ่อบาดาลพร้อมติดตั้งระบบสูบน้ำ และแผงโซลาร์เซลล์ งบประมาณ กว่า 490,000 บาท ในจังหวัดมหาสารคาม เป็นหนึ่งในโครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งหมดเกือบ 19,000 โครงการ งบประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งผู้รับเหมาเข้าทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับทางอำเภอเมื่อปลายเดือน ก.ย. ผ่านมา 2 สัปดาห์ก็ยังไม่เริ่มขุดเจาะ

เครือข่ายภาคประชาชนพยายามตรวจสอบ เนื่องจากมองว่าเป็นการอนุมัติงบประมาณเร่งด่วน ทั้งที่ไม่มีความพร้อม โดยเอกสารสัญญา ปรากฎข้อความที่พิมพ์ชื่อโครงการผิดว่า "โครงการปรับปรุงที่ว่าการอำเภอเชียงยืน" ถูกตั้งข้อสังเกตว่า คัดลอกข้อความจากโครงการเก่ามาพิมพ์ใหม่ แม้เป็นความผิดพลาดเล็กน้อย แต่สะท้อนความบกพร่องจากการเร่งรีบพิมพ์สัญญาจัดซื้อจัดจ้างของทางอำเภอ ที่ต้องให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน

 

สัญชาติ อุปนันชัย ผู้อำนวยการ สำนักงาน ป.ป.ท. เขต 4 ระบุว่า การตรวจสอบครั้งนี้ถือเป็นการป้องปรามการทุจริต แม้ยังไม่พบความผิด แต่ถือเป็นการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่รัฐติดตามโครงการให้แล้วเสร็จตามสัญญา และคุ้มค่ากับงบประมาณ

14 วันแล้วยังไม่เข้าทำงานใน 16 จุด ถ้าเขาส่งงานช้าจะต้องปรับ ขยายสัญญาให้ไม่ได้

 

โฆษิต เหล่าสุวรรณ คณะกรรมการธรรมาภิบาล พบว่า ในอดีตเคยมีการนำบ่อบาดาลเก่ามาสวมเบิกจ่ายงบประมาณรอบใหม่ จึงขอให้ชาวบ้านร่วมตรวจสอบโครงการในพื้นที่

น่าจะติดตามดูเพิ่มเติม บ่อบาดาลต้องขุดใหม่จริง รายละเอียดโครงการต้องครบถ้วน เช่น บ่อ 5 นิ้ว ลึกไม่น้อยกว่า 40 เมตร ไม่ใช่การเอาบ่อเดิมมาเป่าล้างและส่งมอบงาน เพราะสุ่มเสี่ยงมีความผิด

 

ถัดจากพื้นที่โครงการขุดบ่อบาดาล คณะกรรมการธรรมาภิบาล ร่วมกับ ป.ป.ท. สำรวจโครงการขุดลอกและสร้างฝาย อ.เชียงยืน ที่ดำเนินการตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หลังพบว่า ารบดอัดคันดินอาจไม่ได้มาตรฐาน ภาคประชาชน พบว่า สาเหตุที่งานขุดลอกไม่เป็นไปตามแบบ อาจเกิดจากขบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่เป็นธรรม

 

The Exit เดินทางไปพบผู้เหมาใน จ.ร้อยเอ็ด หลังเธอพยายามร้องเรียนให้หน่วยงานรัฐช่วยเหลือและให้คำปรึกษาการฟ้องร้องคดีแพ่ง เนื่องจากนายหน้าโครงการขุดลอกไม่จ่ายค่าแรงและค่าเครื่องจักรเกือบ 3,000,000 บาท ทั้งที่ยอมถูกหักหัวคิวเพื่อรับช่วงขุดลอกจากผู้รับเหมารายใหญ่


หักทุกอย่างแล้ว รายย่อยคนที่ไปทำงานจริง ๆ ได้แค่ 40% ก็ต้องยอมเพื่อเลี้ยงชีพ ส่วน 60% นี่เริ่มจากผู้บริหารเลย ว่าแบ่งฝ่ายช่างกี่เปอร์เซ็นต์ ฝ่ายตรวจงานกี่เปอร์เซ็นต์

 

ผู้รับเหมาคนนี้ เริ่มทำอาชีพรับขุดลอกโครงการแหล่งน้ำตั้งแต่ 30 ปีก่อน นอกจากการรับช่วงงานต่อ เธอพยายามที่จะแข่งขันประกวดราคา แต่การกำหนดคุณสมบัติและชั้นผู้ประกอบการที่มีสิทธิ์เสนอราคางานก่อสร้าง ทำให้ผู้รับเหมารายย่อยแทบไม่มีโอกาสแข่งขัน หากต้องดิ้นรนไปขอโครงการจากหน่วยงานรัฐ ก็ตกเป็นเหยื่อของนายหน้าที่พาไปจ่ายค่าตอบแทนให้เจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งที่สุดท้ายไม่ได้ทำโครงการจริง โดยมองว่ากระบวนการการตรวจสอบการทุจริตโครงการแก้ภัยแล้ง ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่โปร่งใส เพราะสุดท้ายผู้รับเหมาก็ฟ้องร้องได้เพียงนายหน้าที่ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานรัฐ ไม่สามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่เรียกรับผลประโยชน์ได้

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง