ห้ามรถบรรทุกเข้ากรุงฯ สินค้าขาดแคลน แนะลดรถส่วนตัว

สิ่งแวดล้อม
26 พ.ย. 63
16:21
226
Logo Thai PBS
ห้ามรถบรรทุกเข้ากรุงฯ สินค้าขาดแคลน แนะลดรถส่วนตัว
ประธานสหพันธ์การขนส่งแห่งประเทศไทย ระบุห้ามรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ คนกรุงฯ เสี่ยงขาดแคลนสินค้าอุปโภค-บริโภค ใช้รถเล็กกระจายสินค้ายิ่งเพิ่มมลพิษ แนะรัฐเพิ่มจุดกระจายสินค้า-เว้นภาษีจูงใจใช้รถใหม่

เมื่อวันที่ (26 พ.ย.2563) นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่กรุงเทพมหานคร เตรียมห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ และจำกัดเวลาเดินรถในพื้นที่ สหพันธ์ฯ ยินดีให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่น แต่ต้องเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน

การประกาศใช้มาตรการดังกล่าว จะเกิดปัญหาขาดแคลนสินค้าอุปโภค-บริโภคในกรุงเทพฯ ทันที เพราะการขนส่งสินค้าจะลดลงจากวันละ 2-3 เที่ยว จะเหลือเพียง 1 เที่ยว ซึ่งควรที่จะมีการหารือถึงกรณีดังกล่าวอย่างรอบคอบ เพราะหากมีคำสั่งออกมาในวันที่ 1 ธ.ค.ก็จะเตรียมฟ้องศาลปกครองต่อไป

สหพันธ์การขนส่งแห่งประเทศไทย ยินดีให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่น โดยร่วมมือกันทุกภาคส่วน แต่การจะมาโยนความผิดให้กับรถบรรทุกผมยอมไม่ได้ เพราะเป็นผู้ประกอบการอย่างสุจริต ตามกฎหมายของประเทศอยู่แล้ว และรณรงค์ไม่ให้รถบรรทุกผิดกฎหมายมาโดยตลอด

ห้ามรถบรรทุกเข้ากรุงฯ สินค้าขาดแคลน

ทั้งนี้ สินค้าที่จะขาดแคลนคือ สินค้าอุปโภคและบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัสดุก่อสร้าง ซึ่งหากมีมาตรการดังกล่าว อาจต้องหยุดก่อสร้าง และทำให้ขาดแคลนคนงานในอนาคตและอาจทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากรถบรรทุกที่เข้ามาวันละ 2-3 เที่ยวและจะเหลือ 1 เที่ยวก็จะทำให้สินค้าขาดตลาดเมื่อสินค้าขาดตลาดก็จะทำให้ราคาสูงขึ้นสุดท้ายก็จะส่งผลกระทบต่อประชาชน

รถบรรทุกที่จะเดินทางจากเส้นทางสายต่างๆ สินค้าหลายประเภทเช่น สายอีสาน จะขนส่งน้ำตาล มันสำปะหลัง ข้าวโพด ขณะที่ ภาคเหนือ พืชไร่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ภาคตะวันตก ได้แก่ อิฐ หิน ดิน ทราย ขณะที่ ภาคใต้ ยางพารา อาหารทะเล ผลไม้ เช่น มังคุด ทุเรียน ไม้ยางแปรรูป

ลดรถบรรทุกใหญ่ เพิ่มรถเล็ก เพิ่มมลพิษ

ขณะที่รถบรรทุกเดินทางเข้าเข้ากรุงเทพฯ วันละประมาณ 70,000 - 80,000 คัน แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ลดลงเหลือ 20,000 - 30,000 คัน ใช้รถกระบะกระจายสินค้าทำรถเพิ่ม 10 เท่า

ประธานสหพันธ์การขนส่งแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากดำเนินตามมาตรการดังกล่าวซึ่งไม่ให้รถบรรทุกเข้าพื้นที่และขนถ่ายกระจายสินค้าจากรถบรรทุก จะยิ่งทำให้เกิดการเพิ่มปริมาณรถยนต์ในพื้นที่ เช่น จากเดิมใช้รถบรรทุก 1 แสนคันในการขนส่งสินค้าเข้ากรุงเทพฯ จะต้องใช้รถยนต์กระบะถึง 1 ล้านคัน หรือเฉลี่ยรถบรรทุก 1 คันจะใช้รถกระบะบรรทุกสินค้า 10 คัน และหากเป็นรถบรรทุก 6 ล้อจะใช้รถกระบะ 4-5 คัน เท่ากับว่าเป็นเพิ่มปริมาณรถยนต์อีกหลายเท่า ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรที่จะพิจารณาอย่างรอบด้าน

นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่หลายฝ่ายอาจมองข้ามคือ การขนถ่ายสินค้าจากท่าเรือคลองเตย ซึ่งต่างจากทั่วโลกที่เป็น SEAPORT (เมืองท่า) ขณะที่ท่าเรือของไทยเป็น River Port ที่ปรับมาเป็นท่าเรือ และหากมีมาตรการห้ามรถบรรทุกเข้าไปรับ-ส่งสินค้า จะกระทบการค้าระหว่างประเทศ

จากปกติเฉลี่ยมีการขนส่งสินค้าวันละประมาณ 1,000 ตู้ ก็จะเกิดปัญหาตู้สินค้าตกค้างสัปดาห์ละกว่า 10,000 ตู้ กระทบกับการขนส่งสินค้าทางเรือส่งผลต่อเศรษฐกิจของชาติและการบริโภคของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

แนะเพิ่มจุดกระจายสินค้า

นายอภิชาติกล่าวว่า ช่วงเวลาปกติที่รถบรรทุกวิ่งเข้ากรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะเป็นรถบรรทุก 10 ล้อ รถบรรทุก 18 ล้อ และรถบรรทุก 6 ล้อ จากทั้งหมดประมาณ 40,000 คันต่อวัน ซึ่งอ้างอิงตามตัวเลขของกรมการขนส่งทางบก

หากจอดรอการกระจายสินค้าใน 4 มุมเมือง ทั้งแยกบางนา ย่านพุทธมณฑล ย่านบางใหญ่ ย่านอ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา หรือเขตลาดกระบัง

หากรัฐให้ขนส่งสินค้าในเวลา 21.00 น.รถบรรทุกทั้งหมดจะเคลื่อนตัวเข้ากรุงเทพฯ ก็จะเกิดการแออัด และมีมลพิษที่สูงขึ้น ในช่วงนั้นอย่างมาก หากเทียบกับการให้รถบรรทุกวิ่งตามปกติในอัตราชั่วโมงละ 20-30 คัน จะมีการไหวเวียนของอากาศที่ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่เคยใช้ในช่วงก่อนหน้านี้ คือในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน ขนาด 113 ตร.กม. รถบรรทุก 10 ล้อไม่สามารถเข้าได้ โดยจะต้องเป็นรถ 6 ล้อ แต่สามารถทำได้ เนื่องจากขณะนั้นกรมการขนส่งทางบกได้สร้าง Truck Terminal มารองรับการขนส่ง
แต่ขณะนี้ยังไม่มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานมารองรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

 

ซึ่งหากสร้าง ทั้ง 4 มุมเมือง และใช้รถยนต์ขนาดเล็กขนถ่ายสินค้า ก็มีความเป็นไปได้และจำกัด ไม่ให้รถบรรทุกใหญ่เข้า หากเทียบกับต่างประเทศมีเส้นทางบายพาส (Bypass) และ จุดพักรถ (Rest Zone) และ จุดกระจายสินค้า (Truck Terminal) และออกระเบียบให้ผู้ประกอบการต้องมีพื้นที่เพียงพอและมีระบบการบริหารที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในไทยยังไม่ได้มีการวางระบบดังกล่าวจึงเกิดปัญหาสะสม

ขณะที่แนวคิดการจัดเวลาในการขนส่งสินค้า ที่มีการเสนอในช่วงก่อนหน้านี้คือ คือ 24.00 -04.00 น.ก็ประสบปัญหาคล้ายกันคือ เมื่อรถบรรทุกเข้าขนส่ง มีเวลาทำงาน 4 ชั่วโมง และพนักงานที่ทำหน้าที่ขนส่งสินค้า 4 ชั่วโมง ก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เนื่องจากเป็นการทำงานในเวลากลางคืน และล่วงเวลาซึ่งค่าแรงจะสูงขึ้น 2-3 เท่า ก็จะกระทบต่อราคาสินค้าที่สูงขึ้น

จี้รัฐอุดหนุนน้ำมันพรีเมี่ยม –เว้นภาษีผู้ว่าจ้าง

นอกจากนี้ นายอภิชาติยังเรียกร้องให้รัฐบาลอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สะอาด เช่นน้ำมันเกรดพรี่เมี่ยม ซึ่งราคาสูงกงว่าปกติ 7- 8 บาท เนื่องจากน้ำมันมีความบริสุทธิ์และเผาไหม้ที่ดีกว่า

หากรัฐบาลเข้ามาอุดหนุน ให้ผู้ประกอบการใช้น้ำมันดังกล่าว ในช่วงก็จะช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ปตท.ลดราคาก๊าซ NGV ในช่วง 3-4 เดือนที่มีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก

หากสามารถลดปริมาณรถยนต์จาก 100,000 คัน ให้เหลือ 20,000 คัน อากาศก็น่าจะดีขึ้น และควรเข้มงวดมาตรการอื่นด้วย ๆ เช่น เข้มงวดการเผาป่า

นอกจากนี้ รัฐบาลควรนำร่องโดยให้หน่วยงานราชการจัดรถรับ-ส่ง เจ้าหน้าที่ แทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว ซึ่งสามารถดำเนินการได้ โดยใช้รถทัวร์โดยสารที่ขณะนี้ จอดว่างงานอยู่หลายหมื่นคัน

ซึ่งรถทัวร์ 1 คัน สามารถบรรจุคนได้ 40 คัน ก็จะลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนนไปได้ ซึ่งรถทัวร์อาจเคยเหมา 5,000 - 6,000 บาทต่อคัน อาจให้ลดราคาเหลือ 1-2 พันบาท ซึ่งกลุ่มรถทัวร์ก็อยู่ภายในสหพันธ์ฯซึ่งสามารถร่วมดำเนินการได้

นายอภิชาติยังกล่าวว่า ปัญหาอีกอย่างในขณะนี้คือ รถบรรทุกยังไม่สามารถระบายรถเก่าออกไปได้ โดยสัดส่วนรถบรรทุกเก่าอายุมากกว่า 10 ปี จะอยู่ที่กว่าร้อยละ 50 เนื่องจากยังยังคงมีการนำเข้าเครื่องยนต์เก่าจากต่างประเทศ

หากวางระเบียบเพื่อให้รถบรรทุกเก่าให้ออกจากระบบ โดยให้ใช้รถบรรทุกใหม่เท่านั้นโดยใช้ภาษีเป็นเงินกองกลางเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาใช้รถใหม่ เช่น การรณรงค์มาตรการทางภาษีให้ผู้ประกอบการบริษัทต่าง ๆ ที่เป็นผู้ว่าจ้างรถบรรทุกด้วยการลดหย่อนภาษี หรือ งดเว้นภาษี 2-3 ปี ผู้ประกอบการขนส่งก็จะปรับตัวและหันมาใช้รถบรรทุกใหม่มากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง