แคปซูลยานฉางเอ๋อ 5 เก็บตัวอย่างหินจากดวงจันทร์กลับถึงโลก

Logo Thai PBS
แคปซูลยานฉางเอ๋อ 5 เก็บตัวอย่างหินจากดวงจันทร์กลับถึงโลก
สดร. เผยแคปซูลเก็บตัวอย่างดินและหินจากดวงจันทร์ของยานฉางเอ๋อ 5 ร่อนลงสู่พื้นโลกแล้ว โดยเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์กลับมาประมาณ 2 กิโลกรัม ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ 3 ที่นำหินและดินจากดวงจันทร์กลับมายังโลกสำเร็จ

วานนี้ (17 ธ.ค.2563) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า แคปซูลเก็บตัวอย่างดินและหินจากดวงจันทร์ของยานฉางเอ๋อ 5 ร่อนลงสู่พื้นโลกเรียบร้อยแล้ว บริเวณเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ทางภาคเหนือของประเทศจีน แคปซูลดังกล่าวได้เก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์กลับมาประมาณ 2 กิโลกรัม มากกว่ายานลูนา 24 ของอดีตสหภาพโซเวียตที่นำตัวอย่างจากดวงจันทร์ 170 กรัม กลับมาก่อนหน้านี้เมื่อ 44 ปีก่อน


ยานลงจอดของยานฉางเอ๋อ 5 ลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ ณ ภูเขารึมเคอร์ (Mons Rümker) บริเวณ “มหาสมุทรแห่งพายุ” (Oceanus Procellarum) แอ่งที่ราบสีคล้ำที่กว้างใหญ่ที่สุดบนดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ตัวยานประกอบด้วยแผงเซลล์สุริยะสำหรับผลิตพลังงาน กล้องถ่ายภาพ เรดาร์สำหรับตรวจสอบบริเวณใต้ผิวดิน และอุปกรณ์ถ่ายสเปกตรัมของพื้นผิวดวงจันทร์โดยรอบ มีภารกิจหลัก คือ เก็บตัวอย่างดินและหินดวงจันทร์ตั้งแต่ระดับพื้นผิวดินไปจนถึงระดับลึกลงใต้ผิวดิน 2 เมตร ส่งกลับมายังโลก


ตัวอย่างดินและหินที่เก็บได้ ถูกนำไปเก็บในส่วนนำตัวอย่างส่งขึ้นสู่อวกาศ (Attached Ascent Vehicle) และทะยานขึ้นจากดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2563 การปล่อยส่วนนำตัวอย่างส่งขึ้นสู่อวกาศทำให้ยานลงจอดเสียหายและหยุดทำงาน แต่ก็ไม่มีผลกระทบกับแผนที่วางไว้เดิมมากนัก เพราะตามแผนการ ยานลงจอดจะยุติการทำงานในวันที่ 11 ธ.ค. เมื่อบริเวณลงจอดเข้าสู่พื้นที่มืดของดวงจันทร์ในช่วงกลางคืน


เมื่อส่วนเก็บตัวอย่างดินและหินส่งขึ้นสู่อวกาศ ได้เชื่อมต่อกับยานที่กำลังโคจรรอบดวงจันทร์ จากนั้นได้ปล่อยแคปซูลที่บรรจุดินและหินเดินทางกลับมายังโลก เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. และถึงพื้นผิวโลกอย่างปลอดภัยเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา ความสำเร็จจากยานฉางเอ๋อ 5 ครั้งนี้ทำให้ประเทศจีนเป็นประเทศที่ 3 ที่นำหินและดินจากดวงจันทร์กลับมายังโลกสำเร็จ ถัดจากอดีตสหภาพโซเวียตและสหรัฐฯ และทำให้ทางวงการดาราศาสตร์จีนมีตัวอย่างดินและหินดวงจันทร์เพื่อศึกษาวิจัยเรื่องวิวัฒนาการของดวงจันทร์

สำหรับหินบริเวณภูเขารึมเคอร์ที่ยานฉางเอ๋อ 5 ลงจอดมีอายุประมาณ 1.2 พันล้านปี ช่วยเติมเต็มช่องว่างระหว่างหินอายุต่างๆ บนพื้นที่อื่นๆ ของดวงจันทร์ อย่างหินดวงจันทร์ที่ได้จากโครงการอะพอลโลของสหรัฐฯ มีอายุประมาณ 3 พันล้านปี และหินจากหลุมอุกกาบาตอายุน้อยที่เกิดขึ้นใหม่กว่า 1 พันล้านปี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง