รู้จัก “รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ”แค่ 2 ชม. รู้ผลตรวจ COVID-19

Logo Thai PBS
รู้จัก  “รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ”แค่ 2 ชม. รู้ผลตรวจ COVID-19
ทำความรู้จัก “รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ” รถพระราชทานเคลื่อนที่ตรวจวิเคราะห์ผล COVID-19 แบบรวดเร็ว แม่นยำ ปลอดภัย รู้ผลการตรวจภายใน 2 ชั่วโมง สามารถทำงานแบบ One Stop Service ผลงานจากคณะวิศวฯ จุฬาฯ เพื่อสนองพระราชดำริ นำร่องตรวจที่ NBT และสมุทรสาคร

วันนี้ (29 ม.ค.2564) เพจเฟซบุ๊กจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่ผลงานของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงให้ความสำคัญในการวิเคราะห์ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยการสร้าง “รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษต้นแบบ” (Express Analysis Mobile Unit) เพื่อเป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ ออกตรวจวิเคราะห์ผล COVID-19 นอกโรงพยาบาลหรือหน่วยงาน ช่วยลดปัญหาการขนส่งตัวอย่างและระยะเวลา โดยออกใช้งานคู่กับรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย ในการค้นหาเชิงรุกแบบเบ็ดเสร็จในสถานที่จริงที่สถานีโทรทัศน์ NBT เป็นงานแรก และล่าสุดถูกนำไปใช้ในพื้นที่จ.สมุทรสาคร ซึ่งเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19

รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ เป็นรถต้นแบบที่ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ บริษัท เอนจินไลฟ์ จำกัด ซึ่งก่อตั้งโดยทีมสตาร์ทอัพที่บ่มเพาะจากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) และเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐและเอกชน มีพื้นที่ใช้สอย 16.8 ตารางเมตร ประกอบด้วย 3 ห้องหลัก ได้แก่ ห้องสกัดสารพันธุกรรม ห้องเตรียมน้ำยาวิเคราะห์ และห้องวิเคราะห์ผลด้วยเทคนิคการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมดีเอ็นเอด้วยปฏิกิริยาโพลีเมอเรส (PCR)

ภาพ: เฟซบุ๊ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพ: เฟซบุ๊ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพ: เฟซบุ๊ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นำร่องตรวจ NBT-สมุทรสาคร รู้ผลภายใน 2 ชม.

นอกจากนี้ยังมีห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า และห้องบัฟเฟอร์เพื่อควบคุม และป้องกันการรั่วไหลของเชื้อโรค พร้อมเครื่องมือที่ติดตั้งภายในรถ ได้แก่ ตู้ปลอดเชื้อ ตู้ปฏิบัติงานพีซีอาร์ (PCR cabinet) เครื่องสกัดสารพันธุกรรมอัตโนมัติ เครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมดีเอ็นเอด้วยปฏิกิริยา โพลีเมอเรส (real-time PCR), ตู้แช่แข็ง -20 องศาเซลเซียส ตู้ทำความเย็น 4 องศาเซลเซียส ช่องส่งตัวอย่าง เครื่องเขย่าผสมสาร เครื่องปั่นเหวี่ยงตกตะกอน ไมโครปิเปต (Micropipette) ระบบยูวีฆ่าเชื้อ ระบบสื่อสารสองทาง ระบบกล้องวงจรปิด และเครื่องล้างมือแอลกอฮอล์อัตโนมัติ ทั้งนี้สามารถนำไปใช้วิเคราะห์เชื้ออื่นๆ ที่วิเคราะห์ด้วยเทคนิค PCR และใช้ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน เพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที การจัดสร้างรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษต้นแบบนี้ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ใช้งบ 7.5 ล้านบาทต่อคัน

ภาพ: เฟซบุ๊ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพ: เฟซบุ๊ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพ: เฟซบุ๊ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ น้อมรับพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการผลิตรถคันนี้  สามารถทำงานแบบเบ็ดเสร็จในที่เดียว (One Stop Service) โดยนำความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ให้ได้มาตรฐานในระดับเดียวกับห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค เพื่อความปลอดภัยสูงสุด โดยสามารถรู้ผลการตรวจภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง ช่วยลดความกังวลแก่ผู้ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อ

คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวอีกว่า การสร้างนวัตกรรมไม่ได้เริ่มได้ในวันเดียว คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้พัฒนานวัตกรรมมาเป็นระยะเวลานานแล้ว เมื่อเกิดสถานการณ์ COVID-19 สามารถปรับเปลี่ยนนวัตกรรม เช่น หุ่นยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ได้ ทั้งนี้ไทยประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ยังคงพัฒนาหุ่นยนต์อย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้เกิดระบบ Telemedicine ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ภาพ: เฟซบุ๊ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพ: เฟซบุ๊ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพ: เฟซบุ๊ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตรวจเชื้อ 8,000-1,000 คนใช้เวลาแค่ 8 ชั่วโมง

ด้านผศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ประธานหลักสูตรสหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้พัฒนารถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ กล่าวว่า ความพิเศษของรถคันนี้เป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยและความแม่นยำเทียบเท่ากับห้องปฏิบัติการทั่วไป โดยได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย การเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ตัวอย่างที่รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษจะทำให้ทราบผลการตรวจวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว อุปกรณ์ต่างๆ ภายในรถเป็นไปตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

การออกแบบรถต้นแบบเริ่มตั้งแต่ พ.ย.63 หลัง ช่วงที่ COVID-19 ยังไม่ระบาดระลอก 2 ใช้ระยะเวลาในการผลิตรถต้นแบบ 2 เดือน รถคันนี้ตอบโจทย์การนำไปใช้งานได้จริง สะดวก ปลอดภัย ให้ผลการตรวจที่ถูกต้องสูงสุด  

นพ.วิชาญ ปาวัน ผอ.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่ารถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ ใช้ร่วมกับรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย เพื่อค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ช่วยลดปัญหาในการขนส่งตัวอย่างสิ่งส่งตรวจเข้ามาในกทม.หรือจังหวัดใกล้เคียงที่ต้องใช้เวลานาน การทำงานภายในรถเหมือนระบบสายพานโรงงาน ทั้งการสกัดเชื้อและการวิเคราะห์ คาดว่าใน 8 ชั่วโมงสามารถตรวจตัวอย่างได้ 800–1,000 ตัวอย่าง การนำรถลงไปใช้งานจริงในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครในครั้งนี้จะทำให้เกิดความปลอดภัย และยุติปัญหาการระบาดของโรคในจ.สมุทรสาครให้เร็วที่สุด

ภาพ: เฟซบุ๊ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพ: เฟซบุ๊ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพ: เฟซบุ๊ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง