จับตาเขื่อนกลางป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ไทยเสี่ยงหลุด “มรดกโลก”

สิ่งแวดล้อม
29 มี.ค. 64
13:52
6,876
Logo Thai PBS
จับตาเขื่อนกลางป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ไทยเสี่ยงหลุด “มรดกโลก”
"ยูเนสโก" ทักท้วงปมกรมชลประทานเข้าศึกษาข้อมูลสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังมืดและอ่างเก็บน้ำลำพระยาธาร ในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ชี้เสี่ยงหลุดมรดกโลก ผิดเงื่อนไขผุดโครงการขนาดใหญ่ ห่วงสูญงบฯ พันล้านสร้างทางเชื่อมป่าไร้ประโยชน์

“รอยตีนเสือโคร่ง” ถูกพบที่บ้านวังใหม่ ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี หลังเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า พบเสือโคร่งเมื่อวันที่ 18 ม.ค.2564 ห่างจากจุดทำการศึกษาสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังมืด เพียง 2 กิโลเมตร

นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน สะท้อนข้อกังวลหากเกิดโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในอนาคต ความหวังเชื่อมผืนป่าอย่างสมบูรณ์ด้วยการให้เสือโคร่งจากอุทยานฯ ทับลาน เดินข้ามไปยังอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อาจเป็นไปได้ยากขึ้น

 

อ่างฯ กลางป่า ดับฝัน "เสือโคร่งทับลาน" ข้ามไปเขาใหญ่

แหล่งมรดกโลก ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ผืนป่าแห่งที่ 2 ที่พบเสือโคร่งหากินอย่างมีความสุข รองจากป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร คาดว่ามีเสือโคร่งไม่น้อยกว่า 25 ตัว จุดที่พบร่องรอยเสือโคร่งตัวดังกล่าวห่างจากทางเชื่อมผืนป่า (Wildlife corridor) แบบอันเดอร์พาส เพียง 1 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่าหลากชนิด ทั้งสัตว์ผู้ล่าอย่างเสือโคร่ง และเหยื่อ เช่น กระทิง เลียงผา กวาง เก้ง หมูป่า

 

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน อธิบายการใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่าบริเวณ Corridor พื้นที่ด้านล่างของสะพานยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร ยาวกว่า 500 เมตร ปลูกป่าพืชอาหารเป็นพื้นที่หากินและให้สัตว์ป่าลอดใต้สะพานไป-มาอย่างปลอดภัย

ห่างจากจุดนี้เพียง 1 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นเพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังมืด พร้อมตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าของการลงทุนสร้าง Corridor ทั้งสะพาน อุโมงค์ ไม่รวมถนน ใช้งบประมาณแล้วพันกว่าล้านบาท หากอ้างว่า สร้างอ่างเก็บน้ำเสร็จแล้วค่อยฟื้นฟู ปลูกพืชทดแทน ก็เป็นเรื่องยากมาก เพราะต้องการให้เสือโคร่งจากอุทยานฯ ทับลาน ข้ามกลับไปอุทยานฯ เขาใหญ่ โดยไม่ต้องใช้วิธีจับไปปล่อย หรือเคลื่อนย้ายเสือโคร่งจากห้วยขาแข้งมาปล่อย ในอนาคตหากมีการก่อสร้างโครงการในพื้นที่ป่าจะสร้างความหวาดกลัว และสัตว์ป่าอาจไม่กลับมาอีก

 

ล่าสุด กรมชลประทานว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำข้อมูลเบื้องต้น และเสนอเข้ามาวิจัยความเป็นไปได้ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังมืดในพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน และอ่างเก็บน้ำลำพระยาธารในพื้นที่อุทยานฯ เขาใหญ่ ส่วนตัวเรียนทางด้านการจัดการสัตว์ป่า เชื่อว่ามีผลกระทบแน่นอน


Corridor อันเดอร์พาส เป็นไฮไลท์ ถ้าอ่างเก็บน้ำจะมาโผล่ใกล้ ๆ เสือโคร่งจุดนี้ได้รับผลกระทบแน่นอน ทุกคืนเรามอนิเตอร์หนักมากดูสัตว์ป่าลอดข้ามไปมา เมื่อไหร่ที่เสือโคร่งผ่านใต้สะพานไปทางเขาใหญ่จะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จด้านการอนุรักษ์ของไทยและทั่วโลก

คุ้มหรือไม่ ไทยหลุดมรดกโลก

ก่อนหน้านี้ อุทยานฯ ได้แจ้งกรมชลประทานว่า ไทยอยู่ในภาคีอนุสัญญามรดกโลก ซึ่งมีข้อกำหนดชัดเจนห้ามก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ โดยได้รับหนังสือทักท้วงจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) และอยู่ระหว่างการทำเอกสารข้อมูลที่ชัดเจน

ไม่มีปัญหาหรอกถ้าจะต้องหลุดจากมรดกโลก แต่รัฐบาลคิดยังไงแค่นั้นเอง พร้อมที่จะหลุดหรือไม่ คุ้มค่าไหมกับอ่างในพื้นที่ป่า

นอกจากนี้ เสนอให้ปรับลดเป็นโครงการชลประทานขนาดเล็ก อ่างพวง แก้มลิง และก่อสร้างนอกพื้นที่ป่า หรือดึงน้ำจากลำห้วยไปใส่ในทำนบน้ำ ซึ่งสามารถเสนอพิจารณางบประมาณได้ทันที หลีกเลี่ยงการเข้าไปในเขตป่าสมบูรณ์

 

ขณะที่เขตป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน มีพื้นที่ที่ราษฎรถือครองอยู่และได้สำรวจแล้ว หากใช้พื้นที่ดังกล่าวและชดเชยให้ชาวบ้าน ก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสมในการสร้างอ่างขนาดเล็ก เพราะชาวบ้านได้น้ำ คนที่เสียสละที่ดินก็ได้เงิน หรือสิ่งตอบแทนอื่น

เมื่อถามชาวบ้านว่าต้องการน้ำหรือไม่ เขาก็ตอบว่าต้องการหมด แต่ไม่จำเป็นต้องสร้างอ่าง ทุกคนคิดแค่ว่าทำง่ายสุดคืออ่าง เล็ก ๆ กรมชลประทานไม่ค่อยทำ พยายามยื้อขอเข้ามาทำการศึกษา

ท้องถิ่นชงสร้างฝายขนาดเล็ก สร้างสมดุลคน-สัตว์ป่า

ขณะที่นายธัญญา แสงสวรรค์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า มีการเข้ามาสำรวจพื้นที่หลายครั้ง เพื่อหาแนวทางสร้างอ่างเก็บน้ำระหว่างหมู่ที่ 5 ถึงหมู่ที่ 8 ส่วนตัวตั้งคำถามว่า การก่อสร้างอ่างขนาดใหญ่คุ้มค่าหรือไม่ ต้องทำลายสิ่งแวดล้อมมากเพียงใด และคนในชุมชนได้ประโยชน์จริง ๆ มากน้อยเพียงใด พร้อมเสนอสร้างฝายขนาดเล็กที่ความสมดุลทางธรรมชาติ

 

สำหรับพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นเวิ้งกระทะ ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานฯ เขาใหญ่ ป่าสงวนแห่งชาติ ส.ป.ก. และในฐานะท้องถิ่นได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พัฒนาความเป็นอยู่และกันแนวเขตให้ราษฎรอยู่อย่างมีความสุข

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในพื้นที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ แต่เห็นว่าควรอนุรักษ์ต้นไม้เพื่อให้เกิดความชุมชื้น ปรับระดับน้ำในดินและใต้ดิน

การทำอ่างใหญ่ ๆ จะใช่หรือไม่ ในเขตมรดกโลกที่เราหวงนักหวงหนา สภาพภูมิประเทศความเป็นป่า เขา และความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ เสนอให้สร้างฝายเล็ก ๆ ให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ สัตว์ป่าก็ยังอยู่ คนก็ยังอยู่ ในวิถีของเขาและเรา

 

นายธัญญา ย้อนเหตุการณ์น้ำท่วมอุโมงค์ Corridor เชื่อมต่ออุทยานฯ ทับลาน และอุทยานฯ เขาใหญ่ เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2563 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน ว่า ไม่เคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้มาก่อน ทำให้ตระหนักว่าควรจะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและไม่ทำลายป่าเพิ่ม อีกทั้งกังวลเกี่ยวกับพื้นที่วังน้ำเขียวที่เน้นพัฒนาการท่องเที่ยว รีสอร์ท แต่ไม่ได้อนุรักษ์ อาจส่งผลกระทบพื้นที่ด้านล่าง จ.ปราจีนบุรี โดยเฉพาะปัญหาน้ำเสีย

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง สำรวจ "รอยเสือโคร่ง" ป่ามรดกโลกทับลาน ก่อนผุดอ่างคลองวังมืด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง