วิกฤตบุคลากรโควิด-19 กะเทาะภารกิจยืดเยื้อ รพ.สมุทรสาคร

สังคม
2 พ.ค. 64
14:46
2,435
Logo Thai PBS
วิกฤตบุคลากรโควิด-19 กะเทาะภารกิจยืดเยื้อ รพ.สมุทรสาคร
จ.สมุทรสาคร ต้องฝ่าวิกฤตโควิดระบาดครั้งใหญ่ ในจังหวัดรายแรก เมื่อ 17 ธ.ค.2563 จนถึงขณะนี้มีผู้ป่วยโควิดสะสมรวมกว่า 18,000 คน แม้ตอนนี้ เป็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อโควิดไม่มากแล้ว เฉลี่ยวันละกว่า 10 - กว่า 30 คน

แต่สถานการณ์สำคัญตอนนี้ สมุทรสาคร ต้องเป็นจังหวัดหลัก ที่ต้องช่วยรับตัวผู้ป่วยโควิดข้ามจังหวัดจากกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียงไปอยู่ในโรงพยาบาล และ โรงพยาบาลสนามของสมุทรสาครซึ่งขณะนี้รับผู้ป่วยมาแล้วกว่า 200 คน (เริ่มตั้งแต่ คำสั่ง ศบค.25 เม.ย.2564)

 

"ไทยพีบีเอส" สัมภาษณ์พิเศษ นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร ผู้แบกรับและนำทัพความเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด กับภารกิจโควิด-19 ในครั้งนี้

ถาม : ตั้งแต่ระบาดระลอก 2 (ในจ.สมุทรสาคร) มาถึงวันนี้จะ 5 เดือนแล้วบุคลากร มีภาระกิจเบาลงตามตัวเลขผู้ติดเชื้อไหม

นพ.อนุกูล - ไม่เลยครับ ภาระงานเราไม่ลดลงครับ และยังเพิ่มขึ้นด้วย ถ้าเปรียบเทียบกับระลอกสอง ที่สมุทรสาครเป็นแหล่งกระจายเชื้อ ตั้งแต่ช่วงแรก ธ.ค.2563 ตอนนั้นบุคลากรเริ่มด้วยภารกิจลุยค้นหาทะลายรังปลวกโควิด

พอเจอว่าอยู่ตรงไหน ก็นำผู้ติดเชื้อแยกออกจากสังคม เข้าสู่การดูแลในระบบโรงพยาบาลสนามของจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกับ บุคลากรการแพทย์จากจังหวัดอื่นๆ ที่มาช่วยเราด้วย

แต่ช่วงนั้นก็ยังลุยภารกิจเพิ่มตามมติ ครม.(ขึ้นทะเบียนแรงงานถูกกฎหมาย เริ่มช่วงกลาง ม.ค.2564) ที่ให้แรงงานต่างด้าวที่อยู่นอกระบบกลับเข้ามาอยู่ในระบบ เป็นที่รู้กันว่า จ.สมุทรสาคร มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก

ซึ่งโรงพยาบาลสมุทรสาคร และโรงพยาบาลในจังหวัด ต้องช่วยเร่งการตรวจสุขภาพและสวอปแรงงาน ให้จบภายในกลางเดือนเม.ย.2564 ทั้งจังหวัดมีแรงงานกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนแล้วต้องมาตรวจสวอป ประมาณ 40,000 คน ของทุกโรงพยาบาล ที่ดูแลควบคู่กับการควบคุมการระบาดช่วงนั้น

 

หลังผ่านพ้นช่วงการระบาดจนดีขึ้น (ราวๆ ปลาย มี.ค.2564) ภารกิจของบุคลากร ยังต้องช่วยกันเร่งสร้างภูมิคุ้มกัน ให้ชุมชนคนสมุทรสาคร ด้วยการระดมฉีดวัคซีน ซึ่งสมุทรสาคร โชคดีได้วัคซีนมาก เป็นอันดับต้นของประเทศในล็อตแรก จึงเป็นภารกิจของการระดมฉีดวัคซีน

แต่ช่วงนั้นสถานการณ์ระบาดโควิดในจังหวัดมีไม่มาก ความต้องฉีดของประชาชนก็น้อยลง บวกกับมีประเด็นไม่ค่อยดี เกี่ยวกับวัคซีนเข้ามาด้วย บุคลากรของโรงพยาบาล ก็ต้องไปช่วยกันเร่งประชาสัมพันธ์ ให้คนมาฉีดวัคซีนกันเยอะๆ ซึ่งก็ไม่ง่าย

 

แต่หลังจากสร้างความเข้าใจ และได้รับความร่วมมือจากบุคลากรด่านหน้าทั้งหลาย รวมถึงผู้บริหารของจังหวัด ช่วยกันสร้างความมั่นใจในวัคซีน ทำให้ประชาชน มั่นใจ มากขึ้นและขอรับการฉีดจำนวนมาก ก็ทำให้บุคลากรรับภารกิจนี้มากตามไปด้วย ช่วงแรกเราฉีดวัคซีนได้เฉลี่ยวันละ 300-400 คน เป็นอัตราปกติ

ต่อมากระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายว่า ต้องการให้ประชาชนได้รับวัคซีน เฉลี่ยวันละ 500 คนต่อวัน ต่อโรงพยาบาล ซึ่งทั้งจังหวัดสมุทรสาคร มีโรงพยาบาลรัฐเพียง 3 แห่ง (รพ.สมุทรสาคร / รพ.กระทุ่มแบน และ รพ.บ้านแพ้ว)

ถ้าฉีด 1 วัน กับกลุ่มคนประมาณ 1,500 ราย จะทำให้ 1 เดือนฉีดวัคซีนได้ 45,000 ราย ซึ่ง จ.สมุทรสาคร มีประชากรประมาณ 500,000 คน ก็ต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปี กว่าจะได้ "ภูมิคุ้มกันหมู่" (Herd Immunity)

จึงทำให้เกิดการปรับแผนว่า สมุทรสาครจะฉีดแบบแผนเดิมคงไม่ได้ ก็สรุปกันว่า ถ้าอย่างนั้น ออกไปหาประชาชนกัน ไปตั้งหน่วยบริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล รวม 5 หน่วย ตามห้าง และสถานที่ที่ประชาชนเข้าถึงง่าย

การออกหน่วยให้บริการประชาชนนอกพื้นที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะจุดใหญ่ห้างแลนด์มาร์ค ทำให้ฉีดได้วันละ 1,500 -1,600 คน

และอีกจุดที่ อบต.ท่าทราย มีประชาชนใช้บริการเฉลี่ยวันละ 1,000 คนต่อวันเหมือนกัน โดยรวมแล้ว ทั้ง 5 แห่งที่ออกหน่วยบริการ ทำให้ฉีดได้เพิ่มถึงประมาณวันละ 4,000 คน จากแผนงานเดิมที่ตั้งไว้วันละ 500 คน

 

ส่วนบุคลากรที่มาช่วยสนับสนุน มีบุคลากรสาธารณสุข โดยสาธารณสุขอำเภอ (นายมานะ เปาทุย) จัดทีมหมออนามัย ทีม รพ.สต. มาช่วยสนับสนุนภารกิจ

รวมถึงกำลังพลจากกองพันทหารสื่อสารที่ 102 ค่ายกำแพงเพชรอัครโยธิน (อ.กระทุ่มแบน) มาช่วยสนับสนุนด้วย ทำให้ขั้นตอนการวางระบบฉีดวัคซีนลื่นไหลได้มาก

ส่วนวัคซีนล็อตใหญ่ จะมีเพิ่มตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย.2564 ซึ่งจะเห็นว่า สมุทรสาครมีความพร้อมให้บริการ เพื่อให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันเร็วที่สุด ขณะนี้ภาพรวมฉีดไปแล้วกว่า 80,000 โดส ทั้ง"แอสตร้าเซนิกา" และ "ซิโนแวค" ทั้งเข็ม 1 และ เข็ม 2 สูงที่สุดในประเทศ น่าจะทำให้สมุทรสาคร มีภูมิได้เร็วมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นภารกิจหนักของบุคลากรทางการแพทย์เราด้วยเช่นกัน

โรคระบาดก็ต้องคุม วัคซีนก็ต้องฉีด ตรวจสวอปแรงงานที่ขึ้นทะเบียนก็ต้องไปพร้อมๆ กัน แล้วยังมีภารกิจด่วนเพิ่มเติมรองรับกลุ่มผู้ป่วยข้ามจังหวัดจาก กทม.และจังหวัดใกล้เคียง จะยังไหวกันแค่ไหน

นพ.อนุกูล : ตอนนี้ ผู้ป่วยโควิดในจังหวัดและนอกจังหวัดประมาณครึ่งๆ ครับ (ไม่รวมกับผู้ป่วยปกติที่อยู่ใน รพ.จากโรคอื่นๆ) ซึ่งการรองรับสถานการณ์โควิดข้ามจังหวัด

มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า จ.สมุทรสาคร จำเป็นต้องช่วยรับตัวผู้ป่วยโควิดมากน้อยเท่าไหร่ แล้วจำเป็นจริงหรือเปล่า ซึ่งประเด็นนี้ ผมคิดว่า ต้องชี้แจงประชาชนคนสมุทรสาครจริงๆ

ที่ผ่านมา คนสมุทรสาครเคยโดยบูลลี่ เคยโดนตั้งข้อรังเกียจในช่วงแรก เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ ในตอนนั้น แต่อีกมุมหนึ่งที่เรารอดมาได้จริงๆ เมื่อ ก.พ.-มี.ค.2564 ก็เพราะมีคนอื่นมาช่วยเราด้วยเหมือนกัน

ในช่วงระบาดระลอก 2 รพ.สมุทรสาคร เจอคนไข้โควิดอาการหนักหลายคน แต่เราสามารถส่งต่อไปโรงพยาบาลที่อยู่ในกทม.ถึง 50-60 คน ซึ่งถ้าไม่ส่งต่อไป สุดท้ายเราจะล่ม ไอซียูเราก็จะไม่พอ ซึ่งระลอกที่แล้ว มีโรงพยาบาลในกรุงเทพมาช่วยรับไป ทำให้เราสามารถเดินหน้าต่อได้

 

นอกจากนั้น รพ.นครปฐม, รพ.ราชบุรี, โรงพยาบาลข้างเคียงหลายแห่ง ก็ยังช่วยรับคนไข้ไปอีก 300-400 คน ทำให้ทั้ง 3 โรงพยาบาลหลักของจังหวัดยืนอยู่ได้ และยังมีโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดเรา มาช่วยกันด้วย

จริงๆ ต้องบอกว่า ต้องช่วยกันครับ อย่าไปแบ่งจังหวัด ถ้า กทม. หรือ จังหวัดอื่นล่ม ดูแลคนป่วยไม่ได้ สุดท้ายเขาก็ต้องเดินทางข้ามไปมาเชื่อมกับ จ.สมุทรสาคร หรือ จังหวัดใกล้เคียงอยู่ดี แต่ถ้าเราช่วยกันก็น่าจะดีกว่าในการควบคุมโรค ก็เป็นภาระที่จำเป็นครับ เพื่อช่วยชีวิตทุกคนที่เขาป่วย

สถานการณ์ดูแลผู้ป่วยโควิดเฉพาะภายในโรงพยาบาล ระหว่าง ระลอก 2 กับ ระลอก 3 ต่างกันมากน้อยแค่ไหน

นพ.อนุกูล - เท่าที่พูดคุยกับหมอที่ดูแลคนไข้โรคปอดเป็นหลัก และดูมาตั้งแต่ระลอกหนึ่ง และระลอกสองที่ผ่านมา จะพบว่าผู้ป่วยระลอกสอง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติอายุไม่เยอะ เป็นวัยทำงาน โอกาสความรุนแรงไม่เยอะมาก แต่ภายใต้ระลอกสอง ก็ยังพบผู้ป่วยโควิดกลุ่มคนไทย ที่มีโรคประจำตัวอายุมาก

และเมื่อเจอระลอก 3 ในจังหวัดพบการระบาดไม่มากเลย กลุ่มแรงงานข้ามชาติมีน้อยมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยคนไทย สูงอายุ มีโรคประจำตัว และแสดงอาการเร็วขึ้น มีโอกาสที่อาการหนักมากกว่าระลอก 2

ผู้ป่วยที่เข้ามาระลอก 3 นี้ มีอาการแสดงเร็วกว่าระลอก 2 คือ พบอาการปอดอักเสบที่เร็วขึ้น และวันท้ายๆ ยังพบว่ามีโอกาสมีไข้ได้อยู่ ไม่เหมือนอาการระลอก 2

 

พอถึงช่วงเอาเข้า “ห้องไอซียูโควิด” ทุกคนอาจไม่ได้มีอาการหนักมา แต่มีแนวโน้มที่จะมีอาการหนัก ทางโรงพยาบาลจะนำเข้าห้องไอซียูโควิดก่อน เพราะถ้าให้อยู่ห้องอื่น การติดตามสัญญาณชีพอาจสู้อยู่ไอซียูไม่ได้ ซึ่งขณะนี้ รพ.สมุทรสาครมีห้องไอซียูโควิด รวม 11 ห้อง

สำหรับโควิดโรคนี้มีอาการที่ปอด ทำให้ปอดติดเชื้อ มีผลต่อออกซิเจน ซึ่งเราจะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “เครื่องออกซิเจนอัตราการไหลสูง” (High Flow Oxygen Cannula) มาเป็นตัวช่วยผู้ป่วย ลดการใส่ท่อช่วยหายใจ ลดการติดเชื้อแทรกซ้อน

จุดเด่นของเครื่องออกซิเจนอัตราการไหลสูง คือผู้ป่วยโรคปอด โดยเฉพาะโควิด ปกติถ้า ออกซิเจนไม่เพียงพอ คนไข้จะมีอาการแย่ ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอ เนื่องจากการแลกเปลี่ยนแก๊สที่ปอดไม่ดี ตรงนี้เราจะให้ออกซิเจนเพิ่ม

ซึ่งตามหลักวิธีการให้ออกซิเจนก็จะใส่สายทางจมูก ถ้าเป็นไม่เยอะทำวิธีนี้ก็อาจจะเพียงพอ แต่ถ้าปอดแย่มากขึ้นเรื่อยๆ คนไข้เหนื่อยมากขึ้น ออกซิเจนไม่พอ จะต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และใช้เครื่องช่วยหายใจ

 

ซึ่งเมื่อใส่ท่อแล้ว โอกาสที่จะมีโรคภาวะแทรกซ้อนตามมา โอกาสที่จะปอดติดเชื้อ อะไรๆ ตามมาได้อีกเยอะ เมื่อใดใส่ท่อช่วยหายใจ ใส่เครื่องช่วยหายใจ โอกาสเสียชีวิตจะสูง และเท่าที่ฟังอาจารย์หมอนิธิพัฒน์ (รศ.นิธิพัฒน์ เจียสกุล) ท่านว่าโอกาสเสียชีวิตจะสูง 25-50 %

ตอนนี้ วงการแพทย์มีเครื่องมือตัวหนึ่ง ที่ก่อนจะไปถึงขั้นใส่เครื่องช่วยหายใจ ก็คือ เครื่องออกซิเจนอัตราการไหลสูง (HIGH-FLOW OXYGEN) ออกซิเจนที่มีความเร็วสูง ช่วยทำให้คนไข้ได้รับออกซิเจนเพียงพอ โดยที่ยังไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ทำให้ลดอัตราการใส่ท่อ และใส่เครื่องช่วยหายใจ

บางคนพอใส่เครื่องตัวนี้ ทำให้คนไข้อยู่ได้ จนปอดกลับมาก็เลิกใช้ ซึ่งมีผลดีต่อผู้ป่วย ที่ร่นระยะเวลาการใส่เครื่องช่วยหายใจลดลง และช่วยลดภาวะแทรกซ้อนของการใส่เครื่องช่วยหายใจได้

หลากภารกิจโควิด แล้วแผนงานใหญ่ในห้วงเวลานี้ เป็นอย่างไร

นพ.อนุกูล : เฉพาะเตียงโควิด ของ รพ.สมุทรสาคร เตรียมไว้ 200 เตียง ส่วน รพ.กระทุ่มแบน มี เพิ่ม 140-160 เตียง รพ.บ้านแพ้ว เตรียมไว้ 50-60 เตียง อัตราการใช้ตอนนี้อยู่รวม ๆ 50 % ยกเว้น รพ.กระทุ่มแบน ที่เตียงเต็มเกือบ 100 %

ยังมี รพ.สนามเตรียมไว้ใน จ.สมุทรสาครเพิ่มอีก 500 เตียง ในพื้นที่ไม่น่ามีอะไร แต่ถ้าการช่วยรับผู้ป่วยข้ามจังหวัดจากกรุงเทพฯ ก็คงต้องกันพื้นที่ไว้ สำหรับรองรับดูแลคนสมุทรสาครด้วย

ถ้ามีการระบาดขึ้นมาอีก คงไม่ได้ใช้ศักยภาพที่เราเหลือทั้งหมด ซึ่งต้องใช้การบริหารจัดการตรงนี้ด้วยครับ แต่สุดท้ายถ้าไม่พอจริงๆ ก็ต้องเพิ่มเตียงโควิดมากขึ้น และตอนนี้เราพยายามลดการรักษาที่ไม่เร่งด่วนออกไปก่อน

ขาดเหลือทรัพยากรหรือเปล่า

นพ.อนุกูล : ทรัพยากรทางกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนมาตลอด รวมถึงยาฟาวิฟิราเวีย ที่มีสต็อกทั้งที่เขตสุขภาพด้วย และผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 5 ( นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์) มีแนวทางให้สต็อกยาไว้ทุกจังหวัด เพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้เร็วขึ้น ไม่น่ามีปัญหาเรื่องยา สต๊อกเผื่อล่วงหน้าไว้ 3-5 วัน ในช่วงที่ผ่านมา

ตอนนี้กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการ และอาการหนัก ต้องเข้าโรงพยาบาล แต่ขณะนี้ภาพรวมเตียงใช้ไปแล้วกว่าครึ่ง ถือว่าโรงพยาบาลยังอยู่ในสถานการณ์หนักไหม

นพ.อนุกูล : ที่ผ่านมาวางแผนงานกันไว้ว่าจะไม่เต็มเกิน 50-70 % แต่เมื่อใดที่แตะ 70 % ของอัตราการครองเตียง ก็ต้องนำไปสู่การขยายเตียงโควิดเพิ่ม ปรับไปขยายตึกเป็นรองรับสถานการณ์โควิดเพิ่ม เพื่อดูว่ารองรับได้อย่างไรอีกบ้าง

ซึ่งช่วงระบาดระลอก 2 ใหม่ๆ เดิมเตรียมเตียงโควิดไว้ 45 เตียง แต่พอเริ่มมีผู้ป่วยมากขึ้น ก็ขยายไปทีละชั้น ทีละชั้น จนถึง 230 เตียง และพอสถานการณ์ลดลง เราก็ปรับลดตาม เพื่อให้ผู้ป่วยโรคอื่นได้ใช้บริการด้วย เป็นแผนงานที่ยืดหยุ่นปรับขยายได้ ซึ่งทุกโรงพยาบาลมีแผนงานอย่างนี้อยู่แล้ว

แต่ประเด็นสำคัญว่า ขาดอะไรก็คงเป็นบุคลากร เพราะต้องขยายแตกส่วนออกไปทำหลายภารกิจ ทั้งการออกหน่วยบริการวัคซีน 5 จุด, การตรวจสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ที่ขยายเวลาจากสิ้นสุดต้องทำเสร็จภายในเดือน เม.ย. ก็ขยายออกไปเป็นเดือน มิ.ย.64

จากเดิมสวอปวันละ 600 คน ตอนนี้เหลือประมาณวันละ 200-300 คน อีกส่วนคือ โรงพยาบาลสนาม แม้ลดลงจาก 8 แห่งมาเหลือ 3 แห่ง แต่บุคลากรเราก็ยังต้องออกไปช่วยภารกิจหลักที่ยังหนักมากอยู่

4 เดือน ที่ผ่านมาในการทำงานหนักๆ ตลอดเวลา รพ.สมุทรสาคร มีเจ้าหน้าที่อยู่เท่าไร และเคยถูกกักตัวหรือติดเชื้อหรือเปล่า

นพ.อนุกูล : ทั้งโรงพยาบาลจริงๆ มีบุคลากรประมาณ 2,000 คน แต่ในจำนวนนี้มีพยาบาลกว่า 500 คน แพทย์ประมาณ 100 คน มีติดเชื้อ 2-3 คน แต่เป็นความเสี่ยงจากสถานการณ์อื่น ที่ไม่เกี่ยวกับภารกิจของโรงพยาบาล

นับว่าโชคดีที่เรามีทีมควบคุมโรคในโรงพยาบาลที่เข้มแข็ง เขาพยายามคุย พูด ย้ำ และกำกับการปฎิบัติตนของเจ้าหน้าที่ว่า ทำอย่างไรจึงปลอดภัยจากการดูแลผู้ป่วย ทำให้การติดเชื้อในโรงพยาบาลเองจากการปฎิบัติงานจริงๆ ไม่มีเลย

ส่วนบุคลากรที่ติดเชื้อเป็นการติดมาจากบ้าน และทำให้โรงพยาบาล ยังเดินหน้าระบบได้โดยไม่ต้องปิดส่วนไหนของโรงพยาบาลในช่วงที่ผ่านมา และแต่ละโซนทั่วไปก็มีมาตรการป้องกันบุคลากรเพื่อลดความเสี่ยงด้วยเช่นกัน

วางแผนงานอย่างไร ถ้ามีบุคลากรเท่านี้ แล้วยังต้องรับผู้ป่วยข้ามจังหวัด จะทำอย่างไรกันต่อ

นพ.อนุกูล : กระทรวงสาธารณสุขทำหนังสือเวียนถึง ผอ.รพ.ทั่วประเทศว่า ขอสนับสนุนอัตรากำลังมาช่วยส่วนกลางที่กรุงเทพฯ ซึ่งเหมือนครั้งที่ช่วยสมุทรสาคร แต่ครั้งนี้ต้องช่วยกันหลายจังหวัดหน่อย ที่เห็นอย่างเชียงใหม่ ก็จะมีทีมจากภาคเหนือไปช่วยกันแล้ว

ตอนนี้ สมุทรสาครเราสแตนบายของเราเอง ยังไม่ถึงขนาดออกนอกพื้นที่ไปช่วยที่อื่น เพราะยังมีภารกิจที่ต้องคอยรับตัวผู้ป่วยจาก กทม.ด้วยครับ เท่าที่มีกันอยู่ตอนนี้ ภารกิจหลายอย่างคนเท่านี้ เราทำกันหนักมาก

สถานการณ์ตอนนี้ มีอะไรอยากบอกประชาชนบ้าง

นพ.อนุกูล : อยากสื่อสารว่า ช่วงอาทิตย์นี้ 2-4 อาทิตย์นี้ ช่วยกรุณาอยู่บ้านกันนะครับ ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น และช่วยปฎิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุข ถ้าทุกคนช่วยกันจริงๆ ผมคิดว่าเอาอยู่ และทำให้มีโรงพยาบาล หรือ สถานที่กักตัวผู้ป่วยเพียงพอ

แต่ถ้าเรายังไม่ช่วยกัน ต่อให้เราเตรียม เรามีโรงพยาบาล มีโรงพยาบาลสนามเท่าไรก็ไม่พอครับ

สำคัญคือถ้าติดโควิดแล้วอยู่บ้าน แล้วไม่มีอาการ ท่านจะไม่รู้เลยเกี่ยวกับอาการที่อาจรุนแรงขึ้น แต่ถ้าอยู่โรงพยาบาล ได้รับเอ็กซเรย์ ได้รับการดูแลโอกาสที่รุนแรงก็น้อยลง

บุคลากรทางแพทย์ทุกคนพร้อมอยู่เคียงข้างทุกคน และฝ่าวิกฤตระลอก 3 ไปพร้อมกัน แม้พวกเราทุกคนจะเหนื่อยล้ากันมากเต็มที หลายคนไม่ได้กลับไปเจอครอบครัวมาเกือบ 4 เดือนแล้ว

แต่พวกเราก็ยังอยู่พร้อมทุ่มเททุกสรรพกำลัง ช่วยประเทศไทยให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ด้วยดีครับ และภายใต้วิกฤตบุคลากร วิกฤตโควิด ผมโชคดีอยู่อย่างที่บุคลากรของ รพ.สมุทรสาคร ขันอาสาช่วยกันเต็มที่โดยไม่ต้องบอก เขาเต็มที่กันทุกๆ คน ในทุกๆ ภารกิจจริงๆ ครับ

เรื่อง / ภาพ : ภัทราพร ตั๊นงาม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง