คพ.กำชับห้ามทิ้งแมสก์ใช้แล้วในขวดพลาสติก

สิ่งแวดล้อม
22 ก.ค. 64
14:55
4,133
Logo Thai PBS
คพ.กำชับห้ามทิ้งแมสก์ใช้แล้วในขวดพลาสติก
กรมควบคุมมลพิษ ขอความร่วมมืองดการรวบรวมหน้ากากอนามัยใช้แล้วใส่ในขวดพลาสติก ระบุเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าจะช่วยจัดเก็บง่าย ไม่แนะนำเหตุเป็นขยะติดเชื้อ ต้องแยกทิ้งใส่ถุงแดง มัดให้แน่น และติดป้ายเป็นขยะติดเชื้อก่อนรอรถขนไปกำจัด

วันนี้ (22 ก.ค.2564) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากสถานการณ์ COVID-19 ที่มีการแพร่ระบาดในวงกว้าง  ส่งผลให้มีการใช้หน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมา คพ.ได้จัดทำข้อแนะนำให้ประชาชนทั่วไปได้ปฏิบัติตาม ดังนี้ ถอดหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วโดยไม่สัมผัสกับด้านในของหน้ากาก จากนั้นม้วนให้ส่วนที่สัมผัสกับปากอยู่ด้านใน พันสายรัดให้แน่น และนำไปใส่ถุงพลาสติกมัดให้แน่น ระบุข้อความว่าเป็น “ขยะติดเชื้อ” ให้ชัดเจน ส่วนขยะดังกล่าวต้องแยกทิ้งจากขยะทั่วไป รอการเก็บขนไปกำจัดหลักวิชาการ

ต้องขอขอบคุณประชาชนส่วนใหญ่ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ยังมีบางครัวเรือนที่แยกทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ใส่ลงในขวดพลาสติก เพราะคิดว่าจะปลอดภัยกับคนมาเก็บขนขยะ แต่เป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อน ทส.ต้องขอความร่วมมือ ไม่ทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้วในขวดน้ำดื่มพลาสติก

 ห่วงขยะติดเชื้อกำจัดผิดวิธียิ่งเพิ่มปัญหา 

นายอรรถพล กล่าวว่า  การที่ไม่แนะนำให้ทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้วเก็บในขวดพลาสติก เนื่องจากการใส่ขยะติดเชื้อในขวดพลาสติก จะทำให้ไม่สามารถกำจัดได้โดยง่าย นอกจากการนำไปเผา ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะมากกว่าเดิม เพราะต้องเผาขวดพลาสติกไปด้วย

หากไม่นำไปเผา พนักงานเก็บขยะจะต้องเปิดขวด เพื่อดึงหน้ากากออกมา จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเพิ่มภาระให้กับพนักงานเก็บขนขยะ

สำหรับขวดพลาสติก PET ยังมีมูลค่า และราคาค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับขยะพลาสติกประเภทอื่นๆ หากมีการนำเอาหน้ากากอนามัยออกเพื่อนำขวดไปขาย จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อเชื้อโรคและการระบาดอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น และร้านรับซื้อของเก่าหรือโรงงานรีไซเคิลจะไม่รับซื้อขวดพลาสติก ที่มีของแข็งหรือของเหลวใดๆ เพื่อนำมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ขวดพลาสติกที่มีหน้ากากอนามัยจะถูกคัดทิ้ง กลับไปเป็นขยะพลาสติกอีกครั้ง 

ไทยผลิตขวดพลาสติกเพื่อบรรจุน้ำดื่มประมาณ 4,400 ล้านขวดต่อปี หากขวดพลาสติกเหล่านี้ไม่มีการปนเปื้อนก็จะถูกนำกลับไปรีไซเคิลได้ 100 %

จึงขอความร่วมมือช่วยกันแชร์ ช่วยกันบอกต่อ ส่งต่อคำแนะนำและองค์ความรู้ดังกล่าวให้ทั่วถึง อย่างน้อยให้คนในครอบครัวได้ช่วยกันจัดการขยะหน้ากากอนามัยได้อย่างถูกวิธี ไม่เพิ่มความเสี่ยงอันตรายให้กับพนักงานเก็บขนขยะและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม

กทม.ขอความร่วมมือคัดแยกขยะติดเชื้อ 

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ @pr_bangkok โพสต์ทวิตเตอร์ ขั้นตอนการคัดแยกขยะติดเชื้อ โดยระบุว่า กทม. ขอความร่วมมือประชาชนแยกทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้วอย่างถูกวิธี เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 โดยใส่ถุงที่ปิดสนิท มัดปากถุงให้แน่นเขียนหรือติดหน้าถุงว่า “หน้ากากอนามัย” แยกทิ้งให้รถเก็บขยะ หรือทิ้งในถังรองรับที่จัดไว้เป็นการเฉพาะ

 

ก่อนหน้านี้ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้มีมูลฝอยติดเชื้อช่วงม.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา รวม 31,709.84 ตัน เฉพาะเดือน มิ.ย.พบปริมาณมูลฝอยติดเชื้อสูงที่สุดเฉลี่ย 210 ตันต่อวัน

ทั้งนี้จากการหารือนโยบายแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) อาจทำให้ขยะมูลฝอย และมูลฝอยติดเชื้อจากครัวเรือนมากขึ้น ทั้งที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือสารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู และภาชนะใส่อาหารพร้อมบริโภคแบบใช้ครั้งเดียว รวมทั้งการอนุญาตใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit จึงขอให้กำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อลดการแพร่กระจายของ COVID–19

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

คพ.ออกคู่มือกำจัดขยะติดเชื้อ Antigen Test Kit

ห่วงขยะติดเชื้อโควิดพุ่ง! หลังเริ่มใช้ชุดตรวจ-กักตัว Home Isolation

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง