"ถุงแดง" หาได้ที่ไหน? เซฟชีวิตให้ปลอดภัยจาก "ติดเชื้อ"

สังคม
30 ก.ค. 64
21:23
11,495
Logo Thai PBS
"ถุงแดง" หาได้ที่ไหน? เซฟชีวิตให้ปลอดภัยจาก "ติดเชื้อ"
ขยะติดเชื้อเพิ่มวันละ 17 ตัน คนตื่นตัวแยกขยะมากขึ้น โดยเฉพาะ “ขยะติดเชื้อ” เพื่อไม่ให้กระทบกับคนเก็บของเก่าและเจ้าหน้าที่เก็บขยะ ขณะที่ “ถุงขยะสีแดง” หายาก

การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ติดเชื้อในประเทศไทย เพิ่มขึ้นทุกวัน นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม ผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) อีกจำนวนมาก

ส่งผลให้มูลฝอยติดเชื้อ หรือ "ขยะติดเชื้อ" เพิ่มขึ้นด้วย

โควิด-19 ระบาดเพิ่มขยะติดเชื้อจากบ้าน

หากดูข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร พบว่า ครึ่งปีแรกของปี 2564 (เดือน ม.ค.-มิ.ย.) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีปริมาณขยะติดเชื้อ 11,393 ตัน หรือเฉลี่ยวันละ 63 ตัน

แบ่งเป็นมูลฝอยติดเชื้อทั่วไป จากสถานบริการด้านสาธารณสุข จำนวน 8,299 ตัน หรือเฉลี่ยวันละ 46 ตัน และมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 จากสถานที่กักตัว โรงพยาบาลสนาม และบ้านพักอาศัย จำนวน 3,094 ตัน หรือเฉลี่ยวันละ 17 ตัน

ก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เราอาจไม่คุ้นเคยกับคำว่า "ขยะติดเชื้อ"

เราจะเห็น "ขยะติดเชื้อ" ในโรงพยาบาล ในห้องพักผู้ป่วย ห้องทำหัตถการ ห้องผ่าตัด โดยถังขยะในห้องเหล่านี้ จะมี "ถุงสีแดง" ไว้รองรับขยะติดเชื้อ

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.

แต่สถานการณ์โควิดที่ยังระบาดไม่หยุด การเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่อง "ขยะติดเชื้อ" และการแยกขยะติดเชื้อ ยังเป็นเรื่องจำเป็น

เพราะหากเราแยกขยะติดเชื้อไม่ได้ ก็จะถูกทิ้งรวมกับขยะทั่วไป ซึ่งเป็นอันตรายกับ คนกลุ่มแรกคือ คนเก็บของเก่า และอีกกลุ่มคือ พนักงานเก็บขนขยะ ซึ่งอาจจะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อม

หากนับจากวันที่พบว่าคนไทยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็เข้าสู่ปีที่ 2 แล้วที่คนไทยต้องใช้หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

เราใส่หน้ากากอนามัยทุกวันและทิ้งทุกวัน แต่จนถึงขณะนี้ เรารู้หรือไม่ว่า เราทิ้งถูกวิธีแล้วหรือยัง?

ล่าสุดเราจะพบ "ขยะติดเชื้อ" ชนิดใหม่เกิดขึ้นทั่วประเทศ นั่นคือ ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ชุดตรวจนี้จะมีสารคัดหลั่งอยู่ที่ขวดน้ำยาและไม้แหย่จมูก ซึ่งไม่ว่าผลตรวจจะเป็นบวกหรือลบ ชุดตรวจนี้ก็ต้องแยกการทิ้งจากขยะทั่วไป

 

เมื่อทั้ง 2 สิ่งเป็นขยะติดเชื้อเหมือนกัน ดังนั้นวิธีการทิ้งก็ไม่แตกต่างกัน

กรมอนามัยแนะนำว่า ให้ใส่ถุงขยะ 2 ชั้น ถุงใบแรกใส่หน้ากากอนามัยหรือชุดตรวจโควิด-19 ที่ใช้งานแล้ว โดยให้ราดสารฆ่าเชื้อหรือน้ำยาฟอกขาวก่อน จากนั้นมัดปากถุงให้แน่น แล้วฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้อ

 

แล้วนำไปใส่ในถุงขยะอีกใบ มัดปากถุงชั้นนอกด้วยเชือกให้แน่น และฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้อบริเวณปากถุงอีกครั้ง หลังจัดการขยะติดเชื้อแล้ว ต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ทันที

มีขยะติดเชื้อจะแจ้งใครมาเก็บ แล้วเขาจะมาไหม?

กรมอนามัยให้ข้อมูลว่า ขยะติดเชื้อที่ผ่านการฉีดสารฆ่าเชื้อแล้ว ให้นำไปกำจัดเป็นขยะทั่วไป ซึ่งให้ประสานและนำส่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่

หากเรายึดตามคำแนะนำของกรมอนามัย หลังจากแยกขยะติดเชื้อและฆ่าเชื้อเสร็จแล้ว เราจะต้องติดต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ให้มาจัดเก็บ แล้วเราต้องแจ้งไปอย่างไร

แจ้งแล้วจะมีเจ้าหน้าที่มาเก็บหรือไม่ หากเราทิ้งแค่ชุดตรวจโควิด-19 เพียงชิ้นเดียว
ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.

นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เล่าให้ไทยพีบีเอสออนไลน์ฟังว่า ขยะติดเชื้อที่ประชาชนแยกใส่ถุง 2 ชั้น และฆ่าเชื้อแล้ว สามารถทิ้งไว้ในถังขยะ ที่มีฝาปิดมิดชิดหน้าบ้านตัวเอง

หรือเก็บไว้ในบ้านก่อน แล้วนำออกมาให้เจ้าหน้าที่ เมื่อรถเก็บขนขยะของสำนักงานเขต มาเก็บขยะประจำสัปดาห์ได้

ซึ่งเจ้าหน้าที่จะแยกขยะติดเชื้อออกจากขยะทั่วไป แล้วส่งไปกำจัดในเตาเผาขยะติดเชื้อ ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขม

ตอนนี้อยากให้ทิ้งหน้ากาก และชุดตรวจโควิดในถุงเดียวกัน แล้วเขียนหรือติดข้อความหน้าถุงขยะว่า หน้ากากอนามัยและชุดตรวจโควิด เพื่อให้เจ้าหน้าที่เห็นได้ชัดๆ จะได้แยกออกมาจากขยะทั่วไปได้ทันที

การเขียนกำกับหน้าถุงขยะมีความจำเป็น เพราะจะป้องกันไม่ให้ใครเปิดถุง และให้ทุกคนได้เห็นว่าถุงขยะนี้คือ ขยะติดเชื้อ

 

ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า นอกจากนี้ยังนำขยะติดเชื้อ ไปทิ้งได้ที่ถังสีส้มซึ่งวางอยู่ในพื้นที่สาธารณะ 1,000 จุด ในกรุงเทพฯ คือ สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. โรงพยาบาลสังกัด กทม. ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า-ดินแดง)

โรงเรียนสังกัด กทม. ศูนย์กีฬา กทม. ศูนย์เยาวชน กทม. สถานีดับเพลิง สวนสาธารณะ ตลาด วัด ชุมชน หน้าห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงาน เคหะชุมชนต่าง ๆ

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.

ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.

แต่สำหรับขยะติดเชื้อของผู้ป่วยโควิด-19 ที่แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บให้ถึงหน้าบ้านทันที เพราะมีข้อมูลของผู้ป่วยอยู่ในระบบแล้ว หรือผู้ป่วยจะแจ้งสำนักงานเขตเพิ่มเติมก็ทำได้

มีใครกังวลบ้างไหมว่า หมึกที่เขียนหน้ากำกับหน้าถุงขยะติดเชื้อ หากจางจนอ่านข้อความไม่ได้ หรือข้อความที่ติดไว้หลุดไป เจ้าหน้าที่เก็บขยะจะแยกออกหรือไม่ ว่าเป็นถุงขยะติดเชื้อ

"ถุงขยะสีแดง" มองเห็นได้ง่าย แต่หาซื้อยาก

ถ้าเราใช้ "ถุงขยะสีแดง" เหมือนที่โรงพยาบาล จะช่วยให้เจ้าหน้าที่เห็นถุงขยะชัดเจนมากกว่าหรือไม่ แน่นอนว่าเห็นชัดเจนแน่ แต่ปัญหาของถุงขยะสีแดงคือ หาซื้อได้ที่ไหน

 

ถุงขยะสีแดงไม่มีขายในห้างสรรพสินค้า ตลาด และร้านสะดวกซื้อทั่วไป ถุงขยะที่มีขายจะเป็นสีดำหรือสีขาว แม้บางยี่ห้อจะผลิตแบบมีกลิ่นและมีสีต่าง ๆ มาเป็นตัวเลือก แต่ก็ไม่มีสีแดง เพราะสีแดงถูกกำหนดให้ใส่ขยะอันตราย และขยะติดเชื้อเท่านั้น

ในชีวิตประจำวันที่ผ่านมา ไม่มีใครเคยมีขยะติดเชื้อในบ้านเหมือนในช่วงเวลานี้ ถุงขยะสีแดงจึงไม่มีวางขาย และหาซื้อไม่ง่าย

แต่เมื่อค้นหาถุงขยะสีแดงในโลกออนไลน์ พบว่า บริษัทที่ผลิตถุงขยะพลาสติกเปิดขายผ่านทางเว็บไซต์ สามารถสั่งซื้อได้ ซึ่งเขาขายแบบนี้มานานแล้ว และตอนนี้ก็มีประชาชนมาหาซื้อ เพื่อนำไปบริจาคให้กับโรงพยาบาลสนามเป็นจำนวนมาก และซื้อไปใช้เองบ้างเล็กน้อย

 

อีกที่ที่พบคือเว็บไซต์ E-Marketplace อย่าง Lazada และ Shopee มีขายหลากหลายขนาด ราคาแตกต่างกันตามจำนวนของสินค้า หากหน้าถุงพิมพ์คำว่าขยะอันตราย จะมีราคาสูงกว่าถุงขยะที่ไม่มีข้อความ

 

เมื่อดูจากยอดรีวิวสินค้าหลายคนบอกว่า ซื้อไปบริจาคให้โรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอยในที่ต่าง ๆ และมีจำนวนไม่น้อยที่ซื้อมาเพื่อใส่หน้ากากอนามัยและทิ้งขยะติดเชื้อ


ในขณะที่ขยะติดเชื้อมีปริมาณเพิ่มขึ้น ตามจำนวนผู้ป่วยรายวัน และกระจายอยู่ในทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร การจัดเก็บและกำจัดเป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำให้ทันถ่วงที

แต่ขณะนี้เจ้าหน้าที่เก็บขยะหลายคนติดเชื้อโควิด-19 จากการเก็บขยะติดเชื้อที่ไม่ได้แยกทิ้ง ทำให้ขาดแคลนกำลังพลและเกิดความล่าช้าในการจัดเก็บ

ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่เราจะจัดการปัญหาขยะไปพร้อมกับการยับยั้งการระบาดของโควิด-19 เพราะหากถ้าตามเก็บหลังจากการระบาดเบาบางลง ไม่แน่ใจได้เลยว่าจะจัดการง่ายกว่าตอนนี้หรือไม่

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง