รถไฟปรับปลายทาง กระทบคน (หัวลำโพง) แค่ไหน

สังคม
19 พ.ย. 64
15:24
678
Logo Thai PBS
รถไฟปรับปลายทาง กระทบคน (หัวลำโพง) แค่ไหน
ฟังเสียงคนใช้ชีวิตผูกพันกับสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) หลังรถไฟทุกขบวนจะถูกปรับปลายทางให้สิ้นสุดที่สถานีกลางบางซื่อ ตั้งแต่ 23 ธ.ค. 2564 กระทบคนแค่ไหน

สำรวจสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ฟังเสียงชีวิตที่ทำมาหากินรอบศูนย์กลางการเดินทาง หลัง รถไฟทุกขบวนเตรียมปรับปลายทางให้สิ้นสุดที่สถานีกลางบางซื่อ ตั้งแต่ 23 ธ.ค.2564 กระทบผู้คนแค่ไหน

หากเป็นไปได้ก็อยากทำอาชีพเดิม แต่ก็ไม่มั่นใจว่าจะทำมาหากินตรงนี้ได้อีกไหม

ชุติภาส ตุลาใคร อาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง บริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง บอกว่า ทำมาหากินอยู่ที่นีมาเกือบ 10 ปี หากหัวลำโพงไม่มีรถไฟเข้ามาจริงก็คงใจหาย ที่ผ่านมารับรู้ข่าวจากสื่อสังคมออนไลน์แต่ก็เข้าใจหากมีความเปลี่ยนแปลง และอยากให้สถานที่แห่งนี้คงอยู่ต่อไป แม้จะไม่ได้เป็นศูนย์กลางการเดินทางทางรถไฟเหมือนเดิม

ชุติภาส ตุลาใคร อาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง

ชุติภาส ตุลาใคร อาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง

ชุติภาส ตุลาใคร อาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง

 

เขาบอกว่า ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของ COVID-19 ผู้โดยสารที่จะมาใช้บริการน้อยลง ลูกค้าส่วนใหญ่มาจากรถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟ พนักงาน นักเรียน จากเคยมีรายได้วันละเกือบพัน ตอนนี้เหลือเพียงไม่กี่ร้อยบาท

ยอมรับว่ารู้สึกผูกพันกับหัวลำโพง ทั้งผู้คน สถานที่ หากมีโอกาสก็ยังอยากอยู่ทำมาหากินตรงนี้ เพราะหากต้องไปทำอย่างอื่น ก็เหมือนต้องตั้งหลักใหม่

ชุติภาส บอกว่า หากจะเปลี่ยนไปขับรถรับจ้าง ส่งอาหาร ก็กลัวจะสู้คนอื่น ๆ ไม่ได้ เพราะอายุเพิ่มขึ้นทุกวัน ถึงตอนนี้จะยังไม่ชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ยังไม่มีใครมาบอกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่อย่างน้อยสถานที่ยังอยู่ ยังพอทำมาหากินได้ ทุกอย่างอาจเปลี่ยนแปลงได้ ไม่แน่อาจจะดีก็ได้

โอดรายได้ลดวูบ-คนหนี

สอดคล้องกับ นายสมาน พิมพลา อาชีพขับรถสามล้อรับจ้างย่านสถานีรถไฟหัวลำโพง บอกว่า ทำมาหากินที่หัวลำโพงมา 30-40 ปี แล้ว รู้สึกผูกพันกับสถานที่แห่งนี้มาก บ้านก็อยู่หลังหัวลำโพง ที่นี่จึงกลายเป็นพื้นที่ประจำในการทำมาหากิน

 

ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่มาซื้อเสื้อผ้าไปขาย คนทำงานที่มาจากชานเมือง ย่านเยาวราช ช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาหาเงินยากจริง ๆ ส่วนหนึ่งอาจเพราะสถานการณ์ COVID-19

ก่อนช่วง COVID-19 ได้วันละ 1,000 บาท แต่ในช่วงนี้ วิ่งรถได้วันละ 100-200 บาท ส่วนใหญ่จะวิ่งในระยะสั้น เที่ยวละ 20-40 บาท ก็รับหมด 
สมาน พิมพลา อาชีพขับรถสามล้อรับจ้าง

สมาน พิมพลา อาชีพขับรถสามล้อรับจ้าง

สมาน พิมพลา อาชีพขับรถสามล้อรับจ้าง

 

ด้านนางสุนิศา บัวรัตน์ อาชีพพนักงาน กล่าวว่า  รู้ว่าจะมีการปิดสถานีรถไฟหัวลำโพงในช่วงสิ้นปีนี้ และหากมีการปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ ก็ถือเป็นเรื่องดี ซึ่งจะเป็นการอนุรักษ์พื้นที่ให้คนเดินทางมาเที่ยวชมประวัติศาสตร์

อยากให้มีการจัดระเบียบโดยรอบหัวลำโพง เนื่องจากส่วนหนึ่งมีปัญหาเรื่องคนไร้บ้าน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาดูแล เพื่อความปลอดภัยทั้งผู้ที่เดินทางมาย่านนี้ รวมถึงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไร้บ้านด้วย

สุนิศา บัวรัตน์ อาชีพพนักงาน

สุนิศา บัวรัตน์ อาชีพพนักงาน

สุนิศา บัวรัตน์ อาชีพพนักงาน

 

 

ด้าน นางสุรีย์ มิ่งภัคนีย์ อดีตพนักงานบริษัทเอกชน กล่าวว่า ทราบข่าวว่า สถานีรถไฟหัวลำโพงกำลังจะปิดมานานแล้ว ก็รู้สึกคิดถึง และอยากมาชมบรรยากาศเก่า ๆ ของหัวลำโพงแต่ว่า ก็ยังเปิดให้ประชาชนได้เข้ามาชมเพราะเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ก็ดีกว่าเพราะคิดว่า มันลดปัญหาการจราจรลงได้เยอะเพราะการจอดรถในการเดินทางในหัวลำโพงก็ไม่สะดวกนัก ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบจะเป็นร้านค้าในย่านนี้เพราะผู้โดยสารลดลงกลายเป็นศูนย์ ก็ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการค้าขาย

ขณะที่ในช่วงเวลาพีคส่วนใหญ่รถไฟจะดีเลย์ แต่หากไปสถานีกลางบางซื่อก็คิดว่าจะดีขึ้นเพราะสามารถต่อไปยังระบบรางอื่น ๆ ได้ด้วย และมีความกว้างขวางโออ่า สะดวกมากกว่า ซึ่งก็เป็นการปรับเปลี่ยนที่เหมาะสมในแง่ของการเดินทาง ขณะที่การเปลี่ยนพิพิธภัณฑ์ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งในการเดินทางขนส่งของไทย

สุรีย์ มิ่งภัคนีย์ อดีตพนักงานบริษัทเอกชน

สุรีย์ มิ่งภัคนีย์ อดีตพนักงานบริษัทเอกชน

สุรีย์ มิ่งภัคนีย์ อดีตพนักงานบริษัทเอกชน

รถไฟปรับเส้นทางสิ้นสุด ผุดโครงการเชิงพาณิชย์  

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค.2564 การรถไฟแห่งประเทศไทย เตรียมให้รถไฟทุกขบวนปรับเส้นทางจากเดิมให้สิ้นสุดจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปเป็นสถานีปลายทางที่สถานีกลางบางซื่อ เพื่อพัฒนาสถานีหัวลำโพง เป็นพื้นที่สาธารณะ เพิ่มศักยภาพเชิงพาณิชย์ แต่ยังคงความเป็นอัตลักษณ์เดิมให้สอดคล้องกับความสมัยใหม่ และยังคงอนุรักษ์อาคารหัวลำโพงและจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ในบริเวณนี้อย่างครบถ้วน

 

การรถไฟ ฯ ให้เหตุผลถึงการปรับสถานีปลายทางเป็นสถานีกลางบางซื่อว่า จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนถนน และได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ และสถานีกลางบางซื่อ เพื่อยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ และศูนย์กลางระบบขนส่งแห่งใหม่ของประเทศไทย ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติ 

 

ส่วนแนวทางการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เผยหลังจาก รฟท.ย้ายการเดินรถไฟไปที่สถานีกลางบางซื่อทั้งหมดแล้ว จะเริ่มพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีหัวลำโพง

สำหรับแนวทางการพัฒนา จะให้เป็นศูนย์คมนาคมกลางเมือง ทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยายจากสถานีกลางบางซื่อมาสถานีกรุงเทพ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถท่องเที่ยวรอบเมือง และเรือท่องเที่ยว

 

พื้นที่บางส่วนซึ่งปัจจุบันคือโรงซ่อมรถไฟ และพวงราง จะพัฒนาเชิงพาณิชย์ให้ทันสมัย เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่เชิงวัฒนธรรมร่วมสมัย แหล่งศูนย์รวมร้านค้าและอาหารที่มีชื่อรอบเกาะรัตนโกสินทร์ตั้งแต่อดีต ผสมผสานกับร้านค้าสินค้า แบรนด์เนมระดับโลก 

 

นอกจากนี้ ยังจัดสรรพื้นที่กิจกรรมสำหรับทุกเพศทุกวัยและเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยรอบ รวมถึงศูนย์ประชุมนานาชาติ และที่สำคัญคือ ยังคงอนุรักษ์พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ให้ได้แก่ อาคารสถานีหัวลำโพง ชานชาลา อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่จะเชื่อมประวัติศาตร์ให้เข้ากับรูปแบบการดำเนินชีวิตจากอดีตสู่สังคมในอนาคต เพื่อเสริมสร้างประโยชน์ร่วมกันระหว่างการอนุรักษ์มรดกอันมีค่าทางประวัติศาสตร์ กับการสร้างรายได้เพิ่มให้กับการรถไฟฯ และประเทศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง