เพจดังเปิดคลิป #พ่อทำร้ายลูก โซเชียลวิจารณ์ดันแฮชแท็กติดเทรนด์

อาชญากรรม
30 พ.ย. 64
12:57
693
Logo Thai PBS
เพจดังเปิดคลิป #พ่อทำร้ายลูก โซเชียลวิจารณ์ดันแฮชแท็กติดเทรนด์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เพจอยากดังเดี๋ยวจัดให้ รีเทิร์น Part 1 เปิดคลิปพ่อทำร้ายลูกผ่านเฟซบุ๊ก ขณะที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์ดัน #พ่อทำร้ายลูก ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ ด้าน ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลชี้พ่อแม่ต้องเปลี่ยนความคิดแบบอนุรักษ์นิยมที่เชื่อว่าเด็กเป็นสมบัติของพ่อแม่

เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2564 เพจเฟซบุ๊ก อยากดังเดี๋ยวจัดให้ รีเทิร์น Part 1 ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ชายคนหนึ่งสวมเสื้อไรเดอร์แพลตฟอร์มเดลิเวอรีทำร้ายร่างกายผู้หญิงที่นั่งอยู่บนเก้าอี้ท่ามกลางเสียงกรีดร้องของผู้ถูกทำร้าย โดยคลิปวิดีโอมีความยาว 1.19 นาที พร้อมข้อความอธิบายว่าเป็นเหตุการณ์ที่พ่อทำร้ายลูก และผู้เสียหายอยู่ระหว่างดำเนินคดี

หลังจากมีการเผยแพร่คลิปดังกล่าวทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์เป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ที่ #พ่อทำร้ายลูก ทะยานขึ้นเทรนด์อันดับ 1 เมื่อช่วงค่ำวานนี้ โดยบางส่วนมองว่า พ่อแม่ไม่ควรทำร้ายร่างกายลูกไม่ว่ากรณีใด ๆ และมีการแสดงความเห็นว่า การตีไม่เท่ากับการแสดงความรักหรืออบรมสั่งสอนด้วยรูปแบบอื่นก็ทำได้

ขณะเดียวกันผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บางส่วนในเฟซบุ๊กก็ระบุว่า พ่ออาจจะมีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้ตัดสินใจกระทำพฤติกรรมดังกล่าว และพ่อแม่มีสิทธิ์ที่จะอบรมสั่งสอนลูกตัวเองได้และเป็นเรื่องในครอบครัว


อย่างไรก็ตาม นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า สังคมแบบเก่า มีความคิดแบบอนุรักษ์นิยมที่เชื่อว่าเด็กเป็นสมบัติของพ่อแม่ ดังนั้น การเห็นว่ามีเด็กออกมาฟ้องร้องพ่อแม่ ผู้ใหญ่บางส่วนจึงมองว่าเป็นเรื่องที่ผิด ขณะที่ปัจจุบันสถานการณ์สังคมเปลี่ยนไป ดังนั้น จะใช้แนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมว่าลูกเป็นสมบัติของพ่อแม่ไม่ได้

นอกจากนี้ เริ่มมีเด็กหลายคนที่ต้องการรู้กฎหมายเพื่อต่อสู้ทางคดีความให้แม่ที่ถูกพ่อทำร้าย ดังนั้น ประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนเด็กเพื่อไม่ให้ต้องเป็นผู้เสียหายหรือผู้ที่ถูกทำร้ายร่างกาย ส่วนเด็กที่ถูกทำร้ายอยู่ขณะนี้หากยังไม่กล้าตัดสินใจดำเนินคดี เบื้องต้น สามารถปรึกษาญาติ เพื่อนสนิท หรือแจ้งกรมกิจการเด็กและเยาวชน มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้

ทั้งนี้ ข้อมูลจากยูนิเซฟ พบว่า เด็กอายุ 1-14 ปี ประมาณ 3 ใน 4 คน ถูกสมาชิกในครอบครัวลงโทษทางร่างกายหรือจิตใจ อย่างน้อยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในเดือนที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น เด็กราว 4 คนในทุก ๆ 100 คน มีแนวโน้มที่จะถูกลงโทษทางกายอย่างรุนแรง ขณะที่พ่อแม่และผู้ดูและเด็กเกือบครึ่ง เชื่อว่าการลงโทษทางร่างกายเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเลี้ยงดูหรืออบรมเด็ก

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง