ตาเทียมจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เปลี่ยนถ่ายสำเร็จครั้งแรกของโลก

Logo Thai PBS
ตาเทียมจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เปลี่ยนถ่ายสำเร็จครั้งแรกของโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ชายชาวอังกฤษ ได้รับการเปลี่ยนถ่ายตาเทียมจากเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นการผลิตตาเทียมเฉพาะบุคคลที่สมจริงและรวดเร็วกว่าวิธีอื่น

 

สถาบันเทคโนโลยีจากประเทศเยอรมนี ร่วมกับบริษัทในประเทศอังกฤษ พัฒนาตาเทียมจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ แล้วเปลี่ยนถ่ายให้กับคนไข้ชายชาวอังกฤษได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก โดยการพัฒนาในครั้งนี้เป็นการผลิตตาเทียมเฉพาะบุคคลที่มีความรวดเร็วและสมจริงกว่าการผลิตตาเทียมด้วยเทคโนโลยีแบบอื่น

ชายชาวอังกฤษซึ่งเป็นคนไข้ของโรงพยาบาลเกี่ยวกับดวงตา Moorfields NHS Foundation Trust ในประเทศอังกฤษ ได้เป็นคนไข้คนแรกของโลกที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายดวงตาเทียมที่ผลิตจากเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สำเร็จเป็นคนแรกของโลก โดยได้เผยถึงความรู้สึกหลังจากได้ทดลองใช้งานว่ามีความสมจริงด้านการมองเห็น เพราะให้การมองเห็นที่คอมชัดมากขึ้นกว่าตาเทียมแบบเดิม

การผลิตตาเทียมด้วยเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เป็นผลงานการพัฒนาที่เกิดจากความร่วมมือของ Fraunhofer Institute for Computer Graphics Research IGD จากประเทศเยอรมนี ร่วมมือกับบริษัท Ocupeye ในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นวิธีการผลิตตาเทียมที่ต่างไปจากเดิมที่ต้องอาศัยเวลานาน และเจ็บตัวน้อยลง เพราะใช้วิธีทำเบ้าตาแบบใหม่ที่ไม่ต้องวางยาสลบ แต่ใช้การสแกนด้วยเครื่องมือที่ผลิตมาเป็นพิเศษทำให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำ ก่อนถ่ายโอนข้อมูลของดวงตาไปยังซอฟต์แวร์ Cuttlefish:Eye เพื่อพิมพ์ตาเทียมออกมา

การผลิตดวงตาเทียมเฉพาะบุคคลที่เป็นอะคริลิกแบบเดิมนั้นใช้เวลาในการผลิตค่อนข้างนาน เนื่องจากต้องทำทุกอย่างด้วยมือ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์จึงจะเสร็จสมบูรณ์ แต่การผลิตด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ช่วยให้เวลาในการผลิตสั้นลง เหลือเพียง 2 สัปดาห์ ก่อนจะถึงส่งไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านตาเทียม เพื่อปรับองศาให้พอดีกับคนไข้ โดยขั้นตอนทั้งหมดนั้นใช้เวลาเพียง 2-3 สัปดาห์ คนไข้ก็สามารถใช้ดวงตาดวงใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเครื่องพิมพ์เพียงเครื่องเดียวสามารถผลิตตาเทียมได้มากถึง 10,000 ชิ้น

ความสำเร็จของการผลิตตาเทียมจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ทำให้เทคโนโลยีนี้จะถูกนำไปทดลองกับคนไข้อีก 40 8o แล้วทำการทดสอบประสิทธิภาพของดวงตาเทียม โดยเปรียบเทียบกับดวงตาเทียมแบบเดิม และเทคโนโลยีนี้จะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับคนไข้ได้มากขึ้น ทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ

ที่มาข้อมูลและภาพ: IGD.Fraunhofer, engadget, 3dprintingmedia
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง