#BirdStrike คืออะไร ทำไมทำเครื่องบินตกได้?

สิ่งแวดล้อม
28 ธ.ค. 64
12:50
2,681
Logo Thai PBS
#BirdStrike คืออะไร ทำไมทำเครื่องบินตกได้?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เพจ Thaiarmedforce นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นความรู้เกี่ยวกับ “การบินชนนก” หรือภาษาของนักบินเรียกว่า #BirdStrike หลังจากเกิดอุบัติเหตุเครื่องบิน F-5 ขับชนนกปากห่างทำให้เครื่องตก นักบินบาดเจ็บเมื่อช่วงต้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา

ข้อมูลจากเพจ ThaiArmedForce.com โพสต์ข้อความว่า #BirdStrike คืออะไร ทำไมถึงทำเครื่องบินตกได้? มารู้จักการบินชนนกและความพยายามหลีกเลี่ยงการชนเจ้าเวหาตัวจริงอย่างนกกันดีกว่า

กรณีเครื่องบินขับไล่ F-5F ของ #กองทัพอากาศ ประสบอุบัติเหตุตกเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการเปิดเผยถึงสาเหตุที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดที่ทำให้เครื่องบิน F-5F ที่เหลือชั่วโมงบินเยอะ และเพิ่งปรับปรุงมาใหม่ประสบอุบัติเหตุตกก็คือ อาจจะเป็นการบินชนนกหรือ #BirdStrike

โดยนักบินให้ข้อมูลว่า ระหว่างบินเหมือนชนวัตถุแข็งขนาดใหญ่ และมีเลือดกระจาย ประกอบกับบินมาในระดับต่ำคือ 500 ฟุต ที่ความเร็วสูงราว 400 น็อต เครื่องไม่สามารถควบคุมได้ จึงพยายามบังคับเครื่องหลบที่ชุมชนและดีดตัวออกขณะเครื่องหงายท้อง

#BirdStrike เป็นเหตุการณ์ที่พบได้บ่อยครั้งในการบิน โดยคาดการณ์กันว่า ในวงการการบินพลเรือนแล้ว มีค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปกับการซ่อมเครื่องบินที่เกิดจาก Bird Strike ถึงปีละเกือบ 4 หมื่นล้านบาท ในสหรัฐอเมริกาเอง FAA รายงานว่า มีกรณี Bird Strike ราว ๆ ปีละ 13,000 กรณีเลยทีเดียว

กรณี Bird Strike แรกของโลกเกิดขึ้นกับ Orville Wright หนึ่งในสองพี่น้องตระกูล Wright ที่เป็นผู้คิดค้นเครื่องบินเป็นครั้งแรก ทั้งสองชนนก ขณะบินเหนือทุ่งข้าวโพด

อีกกรณีหนึ่งที่มีชื่อเสียงในช่วงแรก ๆ คือกรณีที่นักบินชาวฝรั่งเศส Eugene Gilbert ถูกเหยี่ยวตัวเมียตัวใหญ่ บินเข้ามาโจมตี ขณะบินเครื่องบิน Bleriot XI เหนือเทือกเขาพิเรนีส ในปี 1911 ขณะเข้าแข่งขันการบินจากปารีสไปยังแมดริด เขาใช้ปืนสั้นยิงไล่นก แม้จะยิงไม่โดน แต่ก็ทำให้มันหนีไปได้

 

#BirdStrike ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือกรณีการตกของเครื่องบิน L-188 ของสายการบิน Eastern Air Lines ในสหรัฐอเมริกา โดยเครื่องตกหลังจากชนกับนกไม่นานหลังบินขึ้นจากสนามบิน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 66 คน จากผู้โดยสาร 72 คน ทำให้หลังจากนั้น FAA จึงต้องออกข้อกำหนด ในการออกแบบเครื่องบิน เพื่อให้ทนการชนนกให้ได้มากที่สุด

ในปัจจุบัน การออกแบบเครื่องยนต์มีข้อกำหนดมากมาย เพื่อให้เครื่องยนต์ทนต่อ #BirdStrike

FAA กำหนดว่า เครื่องยนต์จะต้องทนต่อนกที่มีน้ำหนัก 1.8 กิโลกรัม บินเข้าไปในเครื่อง โดยเครื่องต้องสามารถปิดตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ โดยไม่ก่ออันตรายต่ออากาศยาน

นอกจากนั้น โครงสร้างของเครื่องบินจะต้องทนต่อการชนนกน้ำหนักตัว 1.8 กิโลกรัมได้ แพนหางระดับ ต้องทนต่อการชนนกน้ำหนัก 3.6 กิโลกรัมได้ กระจกห้องนักบินจะต้องทนต่อการชนนกน้ำหนัก 1.8 กิโลกรัม โดยไม่แตกออกมา

แต่กรณีชนนกที่ใหญ่กว่านั้น หรือชนนกเป็นฝูง อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่ออากาศยาน หรือเครื่องยนต์จนสร้างความเสียหายได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชนมักเกิดขึ้นในช่วงบินขึ้นหรือร่อนลง ซึ่งเป็นช่วงที่ถือว่าวิกฤตของการบินอยู่แล้ว เนื่องจากเครื่องมีความสูงและมีกำลังขับไม่มากนัก

หลายครั้ง แม้ว่าเครื่องบินจะมีหลายเครื่องยนต์ แต่ถ้าเครื่องยนต์บางส่วนชนเข้ากับนก ก็อาจทำให้เครื่องเสียเสถียรภาพทางการบินอย่างฉับพลันจนเครื่องตกได้ เช่น กรณีเครื่องบิน E-3 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่ชนเข้ากับนก จนเครื่องยนต์สองเครื่องด้านซ้ายเสียกำลังระหว่างบินขึ้น และตกลงไม่ไกลจากสนามบินในฐานทัพอากาศ Elmendorf ส่งผลให้ลูกเรือทั้ง 24 คนเสียชีวิต

นอกจากการออกแบบเครื่องยนต์แล้ว ยังมีความพยายามอีกหลายอย่างเช่น การจัดตั้งหน่วยไล่นก บริเวณรอบท่าอากาศยาน ด้วยการใช้เสียงหรือสารเคมีต่าง ๆ ที่นกไม่ชอบ

รวมถึงมีการศึกษาเส้นทางการอพยพและแหล่งที่อยู่ของนก เพื่อแจ้งให้นักบินรับทราบ และหลบเลี่ยงการบินในบริเวณนั้น เช่นในกรณีของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งมีการพัฒนาระบบแจ้งเตือนอันตรายจากสัตว์ปีกหรือ US Military Avian Hazard Advisory System (AHAS) โดยใช้ข้อมูลจากเรดาร์ตรวจจับนกต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนการบิน และคาดการณ์การบินของนกล่วงหน้า 24 ชั่วโมง เพื่อใช้ในการวางแผนภารกิจการบินต่าง ๆ ให้สามารถหลีกเลี่ยงการชนนกได้

แต่ด้วยความพยายามทั้งหมดนี้ เราก็ยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงการบินชนนกได้ 100 % ซึ่งทำให้มีกรณีการชนนกทั่วโลก รายงานเข้ามาเป็นพัน ๆ กรณีต่อปี ส่งผลเสียไม่เพียงแต่ทรัพย์สินหรือชีวิตของมนุษย์ แต่ยังทำให้จำนวนประชากรของนกลดลงด้วย ซึ่งก็คือ “การบินชนนก” ไม่เป็นผลดีต่อใครเลย ไม่ว่าคนหรือนก

กรณีที่น่าจะมีชื่อเสียงที่สุดของ #BirdStrike คงหนีไม่พ้นเครื่องบิน Airbus A320 ของสายการบิน US Airways เที่ยวบินที่ 1549 ซึ่งบินขึ้นจากท่าอากาศยาน LaGuardia ในนิวยอร์ก โดยเครื่องบินบินชนฝูงนกหลังจากบินขึ้นได้เพียงไม่กี่นาที ที่ความสูงเพียง 3,199 ฟุต เครื่องยนต์ทั้งสองเสียหายอย่างสิ้นเชิง นักบินพยายามนำเครื่องบินกลับไปยังท่าอากาศยาน แต่ความสูงและความเร็วของเครื่องบินมีไม่มากพอ จนทำให้กัปตันของเครื่องคือ Chesley Sullenberger ตัดสินใจนำเครื่องร่อนลงที่แม่น้ำ Hudson การลงจอดเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ และผู้โดยสารทั้งหมดได้รับการช่วยเหลือจากทั้งเรือเฟอร์รี่และหน่วยกู้ภัยทางน้ำใกล้เคียงจนรอดชีวิตทั้งหมด

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผล DNA กระดูก-เลือดในเครื่องบิน F-5 ตกเป็น “นกปากห่าง"

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง