ANYmal หุ่นยนต์ 4 ขา เดินขึ้นเขาได้เร็วกว่ามนุษย์

Logo Thai PBS
ANYmal หุ่นยนต์ 4 ขา เดินขึ้นเขาได้เร็วกว่ามนุษย์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หุ่นยนต์ 4 ขา รูปร่างคล้ายสุนัขถูกนำมาทดสอบเดินขึ้นเขา พบว่าสามารถเดินได้เร็วกว่านักปีนเขาทั่วไปถึง 4 นาที และเตรียมทำภารกิจบนดาวอังคาร

ANYmal เป็นหุ่นยนต์ 4 ขา ที่สามารถทำกิจกรรมได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่ว่าจะเป็นการเดินหรือวิ่งบนพื้นทางเรียบ ขั้นบันได พื้นที่ลาดชัน ล่าสุดทีมผู้พัฒนาได้ทำการทดสอบให้หุ่นยนต์เดินขึ้นเขา ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้พบว่าหุ่นยนต์สามารถเดินได้เร็วกว่านักปีนเขาทั่วไปถึง 4 นาที และคาดว่าจะทำกิจกรรมที่มีความท้าทายได้มากขึ้น

ทีมวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีสวิส ซูริค (ETH Zürich) ได้พัฒนาระบบการควบคุมแบบใหม่ที่ช่วยให้หุ่นยนต์ ANYmal สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็วบนพื้นที่ขรุขระและยากลำบาก ซึ่งเป็นระบบ Machine Learning ที่หุ่นยนต์สามารถใช้การรับรู้ของสายตาผ่านกล้องรวมถึงความรู้สึกที่สัมผัสได้ เพื่อช่วยในการตัดสินใจและเคลื่อนไหว

เทคโนโลยีที่นำมาใช้จะช่วยให้หุ่นยนต์ ANYmal สามารถทำภารกิจที่ท้าทายได้มากกว่าเดิม ด้วยการอัปเกรดระบบควบคุมที่มีโครงข่ายประสาทเทียมเข้ากับตัวหุ่นยนต์ เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถใช้ระบบการรับรู้ภายนอกช่วยในการตัดสินใจว่าควรจะเดินทางไปบนเส้นทางนั้นต่อหรือไม่ หรือควรเปลี่ยนเส้นทางการเดินทางใหม่

ระบบการควบคุมจะช่วยให้หุ่นยนต์สามารถเดินทางได้เร็วขึ้น แม้ว่าจะไม่เคยเดินทางบนพื้นที่นั้นมาก่อน หรือมีความขรุขระและยากลำบากในการเดินทาง ANYmal ก็สามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้ระบบการรับรู้ภายนอกร่วมกับการมองเห็นเพื่อช่วยในการตัดสินใจ ทีมพัฒนาได้ทดลองใช้ระบบการควบคุมกับหุ่นยนต์ ด้วยการจำลองพื้นผิวต่าง ๆ ด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อฝึกให้หุ่นยนต์ได้ทดลองเดินทางก่อนนำไปทดสอบในสถานที่จริง

โดยผลทดสอบที่ได้พบว่าหุ่นยนต์สามารถเดินขึ้นเขา Etzel ซึ่งมีความสูง 1,098 เมตร ได้โดยไม่มีอุปสรรค แม้ว่าจะต้องเผชิญกับรากไม้ ทางลาดชัน และพื้นผิวที่ลื่น หุ่นยนต์สามารถขึ้นไปถึงยอดเขาได้ในเวลา 31 นาที ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เร็วกว่านักปีนเขาที่เป็นมนุษย์ถึง 4 นาที โดยไม่ลื่นหรือหกล้ม

เมื่อหุ่นยนต์สามารถใช้ระบบการรับรู้และตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง นับเป็นความท้าทายที่มนุษย์สามารถนำหุ่นยนต์ที่มีประสิทธิภาพออกมาช่วยทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการนำหุ่นยนต์ไปทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัย หรือภารกิจกู้ภัยต่าง ๆ และอาจไปได้ไกลกว่านั้น คือการนำไปปฏิบัติภารกิจนอกโลก เช่น การสำรวจบนดาวอังคาร โดยความคิดนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาเพื่อให้หุ่นยนต์มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่มาข้อมูลและภาพ: ETH Zurich, therobotreport, Freethink
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง