สธ.เผยเคสเข้าข่ายสงสัย 3 คน ติดเชื้อเริม ไม่ใช่ฝีดาษลิง

สังคม
29 พ.ค. 65
15:41
964
Logo Thai PBS
สธ.เผยเคสเข้าข่ายสงสัย 3 คน ติดเชื้อเริม ไม่ใช่ฝีดาษลิง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมควบคุมโรค เผยเคสเข้าข่ายสงสัย 3 คน เป็นการติดเชื้อเริม ไม่ใช่ฝีดาษลิง คาดกลับบ้านได้ภายใน 1-2 วัน เตรียมแถลงข้อมูลพรุ่งนี้ (30 พ.ค.)

วันนี้ (29 พ.ค.2565) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคฝีดาษลิง ว่า ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในไทย มีเพียงผู้เข้าข่ายสงสัย โดยผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั้งจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ยืนยันว่าไม่ใช่โรคฝีดาษลิง แต่เป็นการติดเชื้อเริม ขณะนี้อยู่ระหว่างพักรักษาอาการผื่นที่สถาบันบำราศนราดูร คาดว่าจะกลับบ้านได้ใน 1-2 วัน โดยจะมีการแถลงข้อมูลอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (30 พ.ค.)

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 27 พ.ค.2565 ทั่วโลกมีการรายงานผู้ป่วยทั้งหมด 344 คน โดยประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สเปน 120 คน อังกฤษ 77 คน โปรตุเกส 49 คน แคนาดา 26 คน และเยอรมัน 13 คน ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชายที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ติดโรค อยู่ในกลุ่มอายุ 20-59 ปี

 

โรคฝีดาษลิง เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae พบได้ในสัตว์หลายชนิดไม่ใช่แค่ลิง พบได้ในสัตว์ตระกูลฟันแทะ เช่น กระต่าย กระรอก หนู และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก ส่วนการติดต่อจากสัตว์สู่คน เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อและปรุงสุกไม่เพียงพอ การติดเชื้อจากคนสู่คนเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน หรืออาจนานถึง 21 วัน โดยอาการเริ่มแรกจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต อ่อนเพลีย

จากนั้น 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา จะมีอาการป่วยประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนหมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากสัตว์ พร้อมทั้งรับประทานอาหารที่ปรุงสุกสะอาด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง