"ฐานทัพเรือเรียม" จุดยุทธศาสตร์ใหม่จีน เสริมอิทธิพลสู้คู่แข่ง

ต่างประเทศ
9 มิ.ย. 65
20:08
1,257
Logo Thai PBS
"ฐานทัพเรือเรียม" จุดยุทธศาสตร์ใหม่จีน เสริมอิทธิพลสู้คู่แข่ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จับตา! จีนสนับสนุนกัมพูชา พัฒนาโครงการฐานทัพเรือเรียม กับความพยายามขยายอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการสร้างจุดยุทธศาสตร์ เพื่อส่งกำลังบำรุงทางทหารควบคู่กับการใช้ในเชิงพาณิชย์

วันนี้ (9 มิ.ย.2565) รศ.ปณิธาน วัฒนายากร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคง วิเคราะห์จีนให้การช่วยเหลือพัฒนาฐานทัพเรือเรียม ประเทศกัมพูชา โดยระบุว่า เป็นเรื่องดี เป็นโครงการตามยุทธศาสตร์ของจีนและกัมพูชา แท้จริงแล้วก็เป็นของอาเซียนด้วย ที่จะพัฒนาพื้นที่ให้ทันสมัย โดยการพัฒนาในพื้นที่กว่าแสนไร่ จะมีสนามบินขนาดใหญ่ มีท่าเรือขนาดใหญ่ มีโรงแรม และมีสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งโลกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเปลี่ยนไป แต่หลายประเทศก็มีข้อกังวลกับโครงการนี้อยู่ไม่น้อย

รศ.ปณิธาน กล่าวว่า เป้าหมายของจีนชัดเจนว่าต้องการจะปักหลักอยู่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ จีนต้องการเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อส่งกำลังบำรุงทางการทหาร ซึ่งคล้าย ๆ กับสหรัฐฯ ที่เข้าไปใช้พื้นที่ของสิงคโปร์ เพื่อส่งกำลังบำรุงทางเรือ

เขาจะไม่เรียกพื้นที่นี้ว่า ฐานทัพ แต่เรียกว่า เป็นที่อำนวยความสะดวก

กัมพูชาให้สิทธิกับจีนพัฒนาโครงการดังกล่าวเป็นเวลา 99 ปี และมีข้อสังเกตว่า อาจจะมีสิทธิในการใช้พื้นที่เพื่อการทหารด้วย แต่ยังไม่แน่ชัด ขณะที่ทางฝั่งตะวันตกของกัมพูชาชัดเจนแล้วว่าเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์ของจีน จาก 4-5 จุดที่จีนประกาศไว้ว่า จะต้องพัฒนาให้ได้ภายใน 30 ปี เพื่อใช้ส่งกำลังบำรุงกับกองเรือขนาดใหญ่ 

รศ.ปณิธาน ยังมองว่า แม้กองเรือจีนจะเป็นกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุด แต่ขีดความสามารถยังไม่เท่ากับสหรัฐฯ ขณะที่กองทัพอากาศของจีนเป็นที่ 3 ของโลก เพราะฉะนั้นจีนจะต้องมีที่ซ่อมบำรุงทั่วโลก และหมายรวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ขณะเดียวกัน จีนก็ยังพยายามเจรจากับสิงคโปร์เพื่อขอใช้ฐานทัพ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่สิงคโปร์จะให้จีนใช้ในระยะยาว

นอกจากนี้ รศ.ปณิธาน ยังระบุอีกว่า จีนจะมีอิทธิพลมากขึ้นในอาเซียนจากการสนับสนุนประเทศต่าง ๆ โดยในลุ่มน้ำโขง และในเขตการบังคับบัญชาทางการทหารของจีนทางตอนใต้จีนเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีนี้ แต่จีนก็ยังคงเดินหน้าขยายอิทธิพลด้วยความระมัดระวัง ทั้งนี้ ยังไม่เคลื่อนไหวในทะเลจีนใต้มากนัก แต่ในอนาคตก็เป็นไปได้ ถ้าจีนมีความพร้อมกว่านี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง