เตือน 25 จังหวัด เสี่ยงน้ำหลาก-น้ำท่วม 15-17 มิ.ย.นี้

สังคม
15 มิ.ย. 65
16:11
25,124
Logo Thai PBS
เตือน 25 จังหวัด เสี่ยงน้ำหลาก-น้ำท่วม 15-17 มิ.ย.นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ออกประกาศเตือน 25 จังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน ดินถล่ม ในวันที่ 15-17 มิ.ย.นี้ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนล่วงหน้า เตรียมพร้อมบุคลากรและเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือประชาชน

วันนี้ (15 มิ.ย.2565) กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ออกประกาศฉบับที่ 17/2565 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน โดยมีรายละเอียดว่า

จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วงวันที่ 15-16 มิ.ย.2565 ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้

 

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า ปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่องอาจส่งผลให้เกิดน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และดินถล่ม จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ในช่วงวันที่ 15-17 มิ.ย.2565 ดังนี้

  • ภาคเหนือ บริเวณเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณนครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ชัยภูมิ บึงกาฬ ขอนแก่น อุดรธานี เลย หนองคาย กาฬสินธุ์ สกลนคร และนครพนม
  • ภาคใต้ บริเวณระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานเตรียมความพร้อมด้วยการติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ, ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งเร่งทำการระบายน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิม เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ขอให้เตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที และประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ พร้อมแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง