ผู้เชี่ยวชาญการเมืองญี่ปุ่น ชี้เหตุลอบยิง "อาเบะ" อาจเกิดการเลียนแบบ

ต่างประเทศ
8 ก.ค. 65
19:59
2,195
Logo Thai PBS
ผู้เชี่ยวชาญการเมืองญี่ปุ่น ชี้เหตุลอบยิง "อาเบะ" อาจเกิดการเลียนแบบ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้เชี่ยวชาญการเมืองประเทศญี่ปุ่น ระบุว่าแม้ปืนจะเป็นสิ่งหายากในญี่ปุ่น แต่กังวัลว่าจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ จากเหตุลอบยิงอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เพราะความเครียดจากสภาวะเศรษฐกิจและปัญหาทางจิตที่มีอยู่จำนวนไม่น้อย

วันนี้ (8 ก.ค.2565) ศ.กิตติ ประเสริฐสุข คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองประเทศญี่ปุ่น กล่าวถึงเหตุการณ์ลอบยิง นายชินโสะ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ว่าเป็นเหตุการณ์ที่สังคมญี่ปุ่น ตั้งคำถามถึงการทำงานของตำรวจ ในเรื่องความปลอดภัย ซึ่งรัฐบาลและตำรวจจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น

ศ.กิตติ ระบุว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะไม่บานปลายหรือเพิ่มมากขึ้น เพราะปืนเป็นสิ่งที่หายากมากในญี่ปุ่น แต่กลัวจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะสังคมญี่ปุ่นมีความเครียดและพบผู้มีปัญหาทางจิตจำนวนไม่น้อย

ยังไม่มีสัญญาณเพิ่มขึ้น สภาพจิตใจคนญี่ปุ่นไม่ค่อยจะดีจากปัญหาเศรษฐกิจ ต้องระวังต่อไป

เมื่อถามถึงเรื่องการเมืองของญี่ปุ่น ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ญี่ปุ่นมี 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายอนุรักษ์ หรือ ฝ่ายขวา เน้นการมีบทบาทด้านความมั่นคง ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ไม่คิดที่จะขอโทษจีนและเกาหลีมากไปกว่าเดิม เพราะคิดว่าเพียงพอแล้ว ขณะที่ฝ่ายซ้าย เห็นว่าญี่ปุ่นไม่ควรมีบทบาทด้านความมั่นคง ด้านการทหารมากนัก ควรอยู่อย่างสันติ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนและเกาหลี และพร้อมที่จะน้อมรับปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ทั้งนี้ ผู้ก่อเหตุลอบยิงนายอาเบะ เคยเป็นทหารเรือ คาดว่ามีแนวทางการเมืองเหมือนนายอาเบะ การก่อเหตุดังกล่าวอาจเกิดจากความไม่พอใจอะไรบางอย่างของนายอาเบะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องหาสาเหตุต่อไป

อาเบะอาจจะทำอะไรน้อยไป หรือ ทำอะไรมากไป

นายอาเบะ มีนโยบายที่เป็นภาพจำของคนญี่ปุ่น 2 เรื่อง คือ นโยบายความมั่นคงและการต่างประเทศ เป็นนโยบายที่แข็งขัน มีสโลแกนว่า "ญี่ปุ่นต้องมีบทบาทอย่างแข็งขันเพื่อสันติภาพ" ซึ่งนำไปสู่การแก้กฎหมายความมั่นคง ปี 2558 อนุญาตให้กองกำลังญี่ปุ่น สามารถปฏิบัติการได้มากกว่าเดิม ซึ่งในยุคนั้นคนญี่ปุ่นออกมาประท้วงที่ท้องถนน ตั้งคำถามว่า ญี่ปุ่นจะไม่รักสันติแล้วหรืออย่างไร จะเป็นประเทศที่เข้าร่วมสงครามแล้วหรืออย่างไร ที่ทำให้ทหารมีบทบาทมากขึ้น และนโยบายนี้ ทำให้คนฝ่ายซ้ายไม่ชอบนายอาเบะจำนวนไม่น้อย

นโยบายที่ 2 คือ นโยบายเศรษฐกิจ "อาเบะโนมิกส์" ด้วยมาตรการ "ศร 3 ดอก" ได้แก่ นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และนโยบายปรับโครงสร้าง เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตดีขึ้นในช่วงแรก แต่ไม่ยั้งยืนเพราะฐานเศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร การปฏิรูปโครงสร้าง จึงไปไม่ได้ไกล

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ย้อนเส้นทาง "ชินโสะ อาเบะ" ครองตำแหน่งนายกฯญี่ปุ่นนานสุด 8 ปี

"ชินโสะ อาเบะ" อดีตนายกฯ ญี่ปุ่นถึงแก่อสัญกรรม

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง