นักวิชาการแนะภาครัฐ และเอกชนปรับตัวก้าวข้ามโควิด-19

ภูมิภาค
26 ส.ค. 65
17:49
352
Logo Thai PBS
นักวิชาการแนะภาครัฐ และเอกชนปรับตัวก้าวข้ามโควิด-19
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แม้การเปิดประเทศจะทำให้การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว แต่พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ถือเป็นความท้าทายที่ทุกฝ่ายต้องปรับตัวและ เปลี่ยนแปลง หากหวังจะก้าวข้ามวิกฤตโควิด-19

รศ.ดร.สุรชัย กังวล คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.แม่โจ้ ในฐานะผู้บริหาร ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร ม.แม่โจ้ ให้สัมภาษณ์พิเศษทีมข่าวไทยพีบีเอสภาคเหนือ ต่อสถานการณ์ และ แนวเศรษฐกิจ ของ จ.เชียงใหม่

 

ภาพรวมเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่รายได้หลัก คือ การท่องเที่ยว แต่ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์เชื้อโควิค-19 ที่ระบาดค่อนข้างรุนแรง ส่งผลกระทบหนัก

 

ปี 2562 เรามีตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย 40 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับประเทศ 2 ล้าน ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11 ของ GDP 

แต่ ณ ปัจจุบันนี้ เป้าหมายของนักท่องเที่ยวที่วางไว้ในปี 2565 อยู่ที่ 5.7 ล้านคน เมื่อมองจำนวนเป้านักท่องเที่ยวจากกว่า 40 ล้านคน เหลือเพียง 5 ล้านคน แสดงว่ายอดการท่องเที่ยวของเราลดลงมาก จึงนับเป็นความท้าทายว่าภาคการท่องเที่ยวจะมีการปรับตัวอย่างไร

 

โดยจากการศึกษาพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก พบว่ามีความเปลี่ยนแปลงไป โดยสนใจการดูแลสุขภาพ และสุขอนามัยที่เพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวต้องการความปลอดภัย และหลีกเลี่ยงผู้คนที่พลุกพล่าน จึงหันไปท่องเที่ยวในเชิงธรรมชาติมากขึ้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น 

นักท่องเที่ยวปัจจุบันต้องการสิ่งอำนวยความสะดวก ในเรื่องของ Social Media การสืบค้นหาข้อมูล เรื่องของแผนที่ GPS สิ่งอำนวยความสะดวกที่เข้าถึงได้ง่าย

 

ในส่วนของภาคธุรกิจ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รายได้ลดลง มีการเลิกจ้าง อัตราการว่างงานค่อนข้างสูง ในสถานการณ์ปัจจุบัน ธุรกิจโรงแรมจะต้องมีการพัฒนาในเรื่องของการ อัพสกิล และ รีสกิล ให้กับกลุ่มแรงงาน นั่นหมายถึงว่าธุรกิจโรงแรมเองอาจจะต้องปรับปรุงในเรื่องของการให้บริการ ในเรื่องของสื่อออนไลน์ต่างๆรูปแบบช่องทางทางการตลาดก็จะปรับเปลี่ยนไป

 

อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องเห็นใจผู้ประกอบการ คือ ในเรื่องของภาวะหนี้สิน เนื่องจากว่าสถานการณ์โควิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ดอกเบี้ย หรือ การเข้าถึงสินเชื่อ ของผู้ประกอบการโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจร้านอาหาร ดอกเบี้ยไม่ได้หยุ

แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยเองจะให้ความสนใจในการเข้ามาช่วยกันปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่เราก็ต้องเข้าใจด้วยว่าภาคธุรกิจที่ประสบปัญหาปิดกิจการมาในช่วง 1 -2 ปีนี้ ต้องเข้าไปช่วยในเรื่องของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างไรบ้าง เพื่อให้ธุรกิจสามารถที่จะดำเนินการต่อได้

 

ถ้าธุรกิจโรงแรมสามารถลืมตาอ้าปากได้ การจ้างงานก็จะเกิดขึ้น และ เศรษฐกิจภาพรวมก็จะเริ่มฟื้นตัว ธุรกิจโรงแรมในปัจจุบัน รายได้จากอาหารเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 70 จากแต่เดิมรายได้หลักมาจากห้องพัก ซึ่งก็จะส่งผลต่อเนื่องกับผู้ประกอบการด้านการเกษตร ผลิตวัตถุดิบต่างๆ

 

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจเอง จะต้องปรับเปลี่ยนความถนัดใหม่ หรือ ทักษะใหม่ ให้สอดคล้องกับเทรนใหม่ของการท่องเที่ยวที่จะต้องมีจุดเช็คอิน มีจุดปักหมุดในการถ่ายรูป

 

ส่วนในมุมมองของภาครัฐ ก็จะต้องมีในเรื่องของแผนกระตุ้นให้มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของด้านสาธารณสุข ให้ชาวต่างชาติเกิดความเชื่อมั่น อาทิ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างทั่วถึง ทั้งประชาชนคนไทย ทั้งผู้ประกอบการเอง ควรมีสัดส่วนได้รับวัคซีนกระตุ้นที่เพิ่มมากขึ้น

 

รวมทั้งในเรื่องของการเปิดสายการบินเพิ่มเติม เพื่อรับการเปิดประเทศ ควรมีการพิจารณาในเรื่องของข้อกำหนดต่างๆ หากเข้มข้นเกินไปก็จะไม่จูงใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามา

 

เช่นเดียวกับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ รัฐเองแต่ก็ควรออกมาตรการช่วยเหลือ หรือ ลดต้นทุนการท่องเที่ยว ยกตัวอย่างที่ผ่านมา เช่น โครงการร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย โครงการคนละครึ่ง หรือ นโยบายในการประกาศวันหยุดยาว 3 วันติดต่อกัน พบว่าสามารถที่จะกระตุ้นให้มีการเดินทางท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอย เพื่อให้เงินมันหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้

 

อีก เรื่องสำคัญ คือ เสียงสะท้อนของผู้ประกอบการ ในเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 โดยทฤษฎีแล้วจะทำให้ภาคธุรกิจกู้เงินน้อยลง เงินก็จะหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจน้อยลง ทำให้ภาวะเงินเฟ้อลดต่ำ แต่ก็อาจจะส่งผลกระทบ ภาคธุรกิจโรงแรม ภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ที่จะต้องเจอปัญหาในเรื่องของภาวะต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้นตามไปด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง