“วุฒิสภา” ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2566 พร้อมติงทุจริต-งบรั่วไหล

การเมือง
30 ส.ค. 65
20:19
334
Logo Thai PBS
“วุฒิสภา” ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2566  พร้อมติงทุจริต-งบรั่วไหล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วุฒิสภา 179 : 0 เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบฯ 66 แล้ว ถูกติงเรื่องทุจริต เงินรั่วงบท้องถิ่น “สุพัฒนพงษ์” ระบุรัฐบาลพร้อมแก้ไข ปรับปรุงระบบจัดซื้อจัดจ้าง

วันนี้ (30 ส.ค.2565) ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ด้วยมติเอกฉันท์ 179 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง

ทั้งนี้พบว่า มี ส.ว.ที่มาร่วมลงมติเพียง 182 คน จากสมาชิกทั้งหมด 250 คน ซึ่งมี ส.ว.ที่ไม่ปรากฎการลงมติมาถึง 68 คน ซึ่งการพิจารณาดังกล่าวใช้เวลารวมทั้งสิ้น 7 ชั่วโมง 30 นาที

ทั้งนี้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวขอบคุณการพิจารณาของวุฒิสภา พร้อมระบุว่า จะนำข้อสังเกตและข้อเสนอแนะปรับปรุงการทำงานของหน่วยรับงบประมาณ

ส่วนกรณีที่มี ส.ว.ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการทุจริตของฝ่ายการเมือง ทำให้งบประมาณไปถึงประชาชนไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยนั้น รัฐบาลพยายามอุดรูรั่ว และให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยในปี 2566 กรมบัญชีกลางได้ปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ให้เป็นสมาร์ทอินเทอรีเจนท์ เพื่อประเมินผลการร่วมประมูล และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. อภิปรายท้วงติงต่อการจัดสรรงบประมาณตามปีงบประมาณ ที่พบว่าเกิดการทุจริต 10 -30 % ทำให้งบประมาณไปไม่ถึงประชาชนเต็มที่ ซึ่งเป็นกรณีที่พบว่าการปฏิรูปด้านกระบวนการปราบคอร์รัปชันมีปัญหาแม้ ส.ว.เสนอความเห็น แต่ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้

ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. อภิปรายตั้งข้อสังเกตต่องบประมาณของ สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. ว่า คณะกรรมการฯ จะสิ้นสุดการทำงานในเดือนธันวาคม 2565 และจะไม่ต่ออายุการทำงาน

เพราะมีรายงานว่า สามารถทำแผนการปฏิรูปประเทศได้บรรลุผลตามรัฐธรรมนูญแล้ว ขณะที่กรรมการปฏิรูปทั้ง 13 คณะ สิ้นสุดอายุทำงาน เมื่อ 14 ส.ค.2565 แต่ต้องอยู่ต่อเพื่อทำรายงานรอบ 3 เดือนสุดท้ายของปี 2565 ขณะที่ประธานคณะกรรมการต้องรอประชุม และให้ความเห็นชอบรายงานประจำปี หากทำงานแล้วเสร็จจะถือว่าหมดวาระถาวร

นายคำนูณกล่าวต่อว่า จะสิ้นยุคปฏิรูปและปิดฉาก ป.ย.ป.แล้ว ทั้งนี้ ป.ย.ป. ที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2561 ที่ถูกกำหนดให้มีอายุการทำงานเบื้องต้น 5 ปี และจะครบในปี 2566

แม้จะยังอยู่ในกระบวนการทบทวนของ สศช. ร่วมกับ ก.พ.ร. เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี แต่เชื่อว่าจะไม่มีการขยายอายุการทำงานอีกต่อไป สำนักงาน ป.ย.ป. แม้จะมีอายุการทำงานตามลายลักษณ์อักษร 5 ปี แต่ในทางปฏิบัติกว่าจะจัดองค์กรเสร็จ และมีข้าราชการสมัครใจโอนย้ายเข้ามาทำงานในหน่วยงานใหม่ที่มีอนาคตไม่ชัดเจน ก็เมื่อประมาณครึ่งปีหลังของปี 2563 นับจนถึงวันนี้ก็เพียง 2 ปีเท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง