ชง กทม.เดินหน้า “ชุมชนจักรยาน” ตั้งเป้าลดมลพิษ

สังคม
4 ก.ย. 65
14:15
488
Logo Thai PBS
ชง กทม.เดินหน้า “ชุมชนจักรยาน” ตั้งเป้าลดมลพิษ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ชง กทม. เดินหน้า “ชุมชนจักรยาน” หวังลดคาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งเป้าลดมลพิษในชุมชน และรับมือกับวิกฤตสภาพอากาศแปรปรวน

การรณรงค์ให้คนหันมาใช้จักรยานมากขึ้น นอกจากเหตุผลด้านสุขภาพแล้ว อีกเป้าหมายสำคัญคือ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของวิกฤตสภาพภูมิอากาศแปรปรวนที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

สถาบันการเดินและการจักรยานไทย ได้ทดลองให้คน 50 คน ขี่จักรยานกันคนละ 4 กิโลเมตรครึ่ง พบว่า เพียงแค่นี้ก็สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 30 กิโลกรัม

ถ้าทำให้คนมาขี่จักรยานได้มากถึง 50 ล้านคน ก็จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 3 หมื่นตัน แต่คำถามคือ ทำยังไงจึงจะให้คน 50 ล้านคนมาขี่จักรยานในชีวิตประจำวัน เพราะมองถนน กทม. หลายคนอาจจะคิดว่า ดูจะเป็นไปได้ยาก

เสนอ กทม. พัฒนา "ชุมชนจักรยาน"

ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ที่ปรึกษาสถาบันฯ กล่าวว่า ไม่มีเมืองใหญ่ที่ไหนในโลกรวมทั้ง กทม. ที่สามารถทำเมืองจักรยานได้ เพราะพื้นที่ใหญ่และระยะทางไกลเกินไป แต่ถ้าเป็น "ชุมชนจักรยาน" อาจเป็นไปได้

ใช้พื้นที่แค่ 9 ตารางกิโลเมตร ขี่จักรยานสบาย ดังนั้นการคาดหวังให้ กทม.เป็นเมืองจักรยานอาจจะยาก แต่ถ้าเป็นชุมชนจักรยานใน กทม. เช่น ชุมชนเสนา แบบนี้ไดั เพราะการขี่จักรยานในชีวิตประจำวัน ไม่ได้ขี่ไกล ๆ

นอกจากนี้ ข้อมูลจากประเทศที่มีเมืองจักรยานแล้ว พบว่า ใช้ระยะทางเพียงไม่เกิน 3 กิโลเมตรต่อคนต่อวัน ดังนั้น ถ้าจะทำให้ กทม. เป็นชุมชนจักรยาน น่าจะมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า

แต่จะไปให้ถึงจุดนั้นได้ ที่ปรึกษาสถาบันฯ เห็นว่า ผู้บริหาร กทม.ต้องเข้าใจก่อนว่า "ระบบจักรยาน" ไม่ใช่มีแค่ทางจักรยาน หรือแค่เรื่องความปลอดภัย แต่ยังมีเรื่องความต่อเนื่อง แต่ยังมีเรื่องความสะดวกสบาย มีทางลัดที่ไม่ต้องไปอ้อมไกล ๆ

การทำทางจักรยานให้เกิดขึ้น สำหรับผมไม่ใช่เรื่องยาก เราสร้างรถไฟฟ้าเป็นแสนล้าน ยากกว่า ยังทำได้ อยู่ที่วิธีคิดว่าทำยังไงจะให้เกิดขึ้นได้

ข้อเสนอนี้ ได้รับการตอบรับจาก 10 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากทั่วประเทศ รวมทั้ง กทม. ร่วมกันจัดกิจกรรมเปิดตัวชุมชนจักรยาน เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ตั้งเป้าหมายให้คนในชุมชนหันมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยท้องถิ่นมีภารกิจสำคัญที่จะต้องสร้างระบบจักรยาน ที่ชุมชนต้องการ

นายศานนนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม.ต้องทำ 2 อย่างไปพร้อมกัน คือทำให้คน กทม. หันมาใช้จักรยานมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ต้องส่งเสริมให้เกิดชุมชนจักรยานด้วย ไม่ใช่แค่เพื่อการออกกำลังกาย แต่เพื่อการสัญจรด้วย

ชุมชนไหนที่มีคนขี่จักรยานอยู่แล้ว กทม.ก็จะสนับสนุนจุดเชื่อมต่อระหว่างทางจักรยานในชุมชน กับระบบขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่ คือต้องทำทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ไปพร้อมกับให้คนรักจักรยานมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ ตัวแทนจากสำนักงานการจราจรและขนส่ง, สำนักงานเขต และเครือข่ายจักรยาน ได้ร่วมกันสำรวจจุดที่จะต้องปรับปรุงแก้ทางจักรยาน 2 เส้นทางหลัก ได้แก่ ทางเลียบด่วนรามอินทรา และทางเลียบคลองแสนแสบ โดยบางจุดสามารถดำเนินการได้เลย โดยใช้งบประมาณค้างท่อปี 2565 ขณะบางจุดต้องรองบประมาณปี 2566

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง