ห่วงปลากัด GMOs รุกพันธุ์พื้นเมือง เสี่ยงถูกกีดกันการค้า

สิ่งแวดล้อม
10 ก.ย. 65
07:23
4,187
Logo Thai PBS
ห่วงปลากัด GMOs รุกพันธุ์พื้นเมือง เสี่ยงถูกกีดกันการค้า
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมประมง ออกกฎเข้มห้ามเพาะ ผสมข้ามพันธุ์ปลากัดเรืองแสง GMOs ห่วงทำสายพันธุ์ดั้งเดิม เสี่ยงถูกกีดกันการค้า หลังไทยส่งออก 20 ล้านตัวต่อปี มูลค่า 200 ล้านบาทต่อปี ขีดเส้นขอคืน 3 เดือน

ไทยพีบีเอสออนไลน์ คุยกับ นางอรุณี รอดลอย ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำและพรรณไม้น้ำสวยงาม กรมประมง เกี่ยวกับสถานการณ์สัตว์น้ำดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) โดยเฉพาะกลุ่มปลาสวยงาม ซึ่งประเทศไทยเป็นอันดับในการส่งออกปลาสวยงามของโลก

นางอรุณี อธิบายว่า หลายประเทศไม่ยอมรับเรื่องการดัดแปลงพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิต จึงออกกฎมาควบคุม เพราะอาจส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมกับชนิดพันธุ์ที่มีในท้องถิ่น โดยเฉพาะปลาสวยงาม เมื่อมีการแทรกเข้าไปอยู่ในยีนแล้วเป็นเรื่องยากที่จะจัดการ ที่สำคัญอาจสูญเสียความเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม

หากหลุดรอดไปจะกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแหล่งน้ำในธรรมชาติ เสี่ยงต่อการรุกรานสัตว์น้ำท้องถิ่น สร้างความเสียหายต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
ปลาจีเอ็มโอ ภาพ : กรมประมง

ปลาจีเอ็มโอ ภาพ : กรมประมง

ปลาจีเอ็มโอ ภาพ : กรมประมง

 

อย่างกรณีล่าสุด พบการเพาะเลี้ยง "ปลาเรืองแสง" หรือปลาจีเอ็มโอ ด้วยเทคนิคการนำยีนที่ได้จากแมงกะพรุน หรือดอกไม้ทะเลบางชนิดไปใส่ไว้ในดีเอ็นเอที่ควบคุมลักษณะทางพันธุกรรมของปลา สร้างโปรตีนที่มีลักษณะเด่นขึ้นมา เมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสงไฟ จะทำให้ตัวปลาเรืองแสง สร้างสีสันแปลกตา ดึงดูดคนให้ซื้อไปเลี้ยง

ปลาสวยงามหลากหลายชนิดที่นำมาพัฒนาพันธุ์ด้วยวิธีการตัดต่อพันธุกรรมเป็นปลาเรืองแสง ยกตัวอย่าง เช่น ปลาเสือเยอรมัน ปลาม้าลาย ปลากลุ่มเตตร้า ปลาเทวดา ปลากาแดง

ปลาจีเอ็มโอ ภาพ : กรมประมง

ปลาจีเอ็มโอ ภาพ : กรมประมง

ปลาจีเอ็มโอ ภาพ : กรมประมง

 

จากการสำรวจพบว่าปลาเหล่านี้ราคาขายปลีกตัวละไม่เกิน 10 บาท หากมาจากฟาร์มจะมีราคาถูกลงไปอีก ชนิดของปลาเรืองแสงในปัจจุบันมีทั้งสีเขียว สีฟ้า สีแดง สีส้ม สีชมพู และสีม่วง โดยกลุ่มคนที่นิยมเลี้ยงปลาเรืองแสง จะเป็นกลุ่มที่นิยมปลาสวยงาม เลี้ยงไว้ในตู้ปลาประดับไว้ในบ้าน เมื่อโดนแสงจะมีสีสัน โดดเด่น จึงเป็นที่นิยมเลี้ยงกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ปลาจีเอ็มโอ ภาพ : กรมประมง

ปลาจีเอ็มโอ ภาพ : กรมประมง

ปลาจีเอ็มโอ ภาพ : กรมประมง

 

เรื่องนี้กลายเป็นโจทย์ให้ กรมประมงต้องสกัดไม่ให้เกิดปัญหาหลุดรอดไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะถ้าไม่ยับยั้งในอนาคตเกิดการปนเปื้อนกับชนิดปลาในท้องถิ่น ทำให้ถูกกีดกันทางการค้า สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมปลาสวยงามของไทย

เหตุผลดังกล่าวจึงนำไปสู่ การเรียกคืนปลาจีเอ็มโอจากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง ผู้เลี้ยง โดยกำหนดเวลาต้องนำมาคืนภายใน 3 เดือน (1 ก.ย. - 30 พ.ย.) ก่อนใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด

แม้ขณะนี้ในธรรมชาติยังไม่พบการปนเปื้อนของปลาเรืองแสงจีเอ็มโอในแหล่งน้ำธรรมชาติของไทย และสถานการณ์ไม่น่ากังวลเท่าปลาเอเลี่ยน หรือ สัตว์น้ำต่างถิ่น ชนิด ๆ อื่น แต่พบมีการนำเข้าปลาเรืองแสงเข้ามาเพาะพันธุ์ผสมกับปลาสวยงาม แต่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง เพื่อไม่เกิดความเสียหายตามมา

เช็ก 13 ชนิด สัตว์น้ำต่างถิ่น  

ปลาเสือเยอรมัน และปลาม้าลาย เป็นหนึ่งในปลาที่พบถูกตัดต่อพันธุกรรม ทำให้ตัวปลาเรืองแสง ซึ่งถูกขึ้นบัญชีเป็นปลาต่างถิ่น รวมกับปลาอีกกว่า 10 ชนิด ที่กรมประมงออกประกาศเป็นปลาห้ามเพาะเลี้ยง


กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาศัยความตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2560 ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 27 พ.ค. 2564 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันทึ่ 16 ส.ค. 2564 นั้นก็เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำพื้นถิ่นหายาก ป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ

ส่วนบทลงโทษ หากพบมีผู้ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษตามมาตรา 144 จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ห้ามปล่อยลงแหล่งน้ำ เพราะมีปลาบ้างชนิดเป็นปลาค่อนข้างดุร้าย ไปกินสัตว์น้ำขนาดเล็ก กินไข่ของสัตว์น้ำที่อยู่ในธรรมชาติ ตรงนี้มีผลกระทบสูง แต่สัตว์น้ำเรืองแสงส่วนใหญ่เป็นปลาขนาดเล็ก ไม่ได้มีผลกระทบมาก

 

ต่างชาติฮิตเลี้ยง ปลาสวยงามไทย ส่งออกคึกคัก

นางอรุณี กล่าวว่า ในต่างประเทศมีการศึกษาสร้างสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม และใช้ประโยชน์มานานแล้ว ช่วงแรกไม่ได้ทำเพื่อการค้าปลาสวยงาม แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้ปลาเรืองแสงเหล่านี้ตรวจสภาพความเป็นพิษของแหล่งน้ำ

ส่วนในไทยพบการนำเข้าปลาที่ตัดต่อพันธุกรรมจากต่างประเทศ นำมาเพาะขยายพันธุในประเทศ เฉพาะปลาเสือเยอรมันมีการส่งออกหลักแสนตัวต่อปี

 

สำหรับสถิติส่งออกสัตว์น้ำสวยงาม (ข้อมูล ก.พ.2564) ผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปลาสวยงามน้ำจืด มีปริมาณการส่งออกสูงสุด 5.94 ล้านตัว มีมูลค่า 44.9 ล้านบาท

รองลงมาเป็นกุ้งสวยงามน้ำจืด 4.6 แสนตัว มูลค่า 3.4 ล้านบาท หอยสวยงามน้ำจืด 2.3 แสนตัว มูลค่า 6.9 แสนบาท ขณะที่ปูสวยงามน้ำจืด มีปริมาณส่งออกน้อยสุด 3.1 หมื่นตัว เป็นมูลค่า 50,000 บาท

ปลากัด เป็นปลาสวยงามของไทยที่มีการส่งออกสัตว์น้ำสวยงาม ส่งออกสูงสุดกว่า 1.5 ล้านตัว สร้างมูลค่ากว่า 16.8 ล้านบาท 


นางอรุณี กล่าวว่า สหรัฐอเมริกา เป็นคู่ค้าหลักปลาสวยงามของไทย มีการนำเข้าปลาสวยงามสูงทั้งปริมาณและมูลค่า โดยซื้อปลาหลากหลายชนิด เช่น ปลากระเบน ปลาหมอสี ซึ่งมีราคาสูงกว่าปลาหางนกยูง ปลากัด

รวมทั้งประเทศจีน ซึ่งในช่วงการระบาดโควิด-19 จีนปิดประเทศ ทำให้ปริมาณการส่งออกลดลง เนื่องจากเที่ยวบินที่จะเข้าไปจีนมีการยกเลิก

นอกจากนี้ยังมีเกาหลี ไต้หวัน เยอรมนี ฝรั่งเศส สาธารณรัฐเช็ก รัสเซีย สร้างมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 600 - 700 ล้านบาท

โควิดช่วยพลิกตลาดปลาสวยงามให้ส่งออกมากขึ้น เพราะคนอยู่กับบ้าน อยากผ่อนคลาย จึงเลือกเลี้ยงปลาสวยงาม อยู่ในบ้านได้ไม่ต้องดูแลมาก ที่สำคัญราคาไม่แพง 1 ตัว ในต่างประเทศราคาเริ่มต้นที่ 1 ยูโร หรือประมาณ 36.55 บาท

ห่วงปลากัดไทย  ปลากัดจีเอ็มโอ

นางอรุณี กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมายังพบการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ปลากัดเรืองแสงสีเขียว ซึ่งเป็นปลาจีเอ็มโอเข้ามา แต่ยังไม่พบการนำเข้าสีอื่น ๆ โดยปลากัดสีเขียว กรมประมงจึงตัดไฟแจ้งเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาห้ามเพาะและทดลองผสมกับปลาสวยงามอื่น ๆ

 

โดยเฉพาะปลากัดพันธุ์พื้นเมืองของไทย ปลากัดของไทยมีความหลากหลายทางสายพันธุ์ หากขายแบบปลาเกรด มูลค่าต่อตัวประมาณ 15-20 ดอลลาร์สหรัฐ หากตัวสวยเด่น อาจมีมูลค่ามากกว่านั้น

ห่วงหากมีการผสมข้ามพนธุ์ระหว่างปลากัดจีเอ็มโอกับปลากัดพันธุ์พื้นเมืองของไทย ที่มีการส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของปลาสวยงาม มีการส่งออกถึง 20 ล้านตัวต่อปี สร้างมูลค่ากว่า 200 ล้านบาทต่อปี ผ่านตลาดค้าขายออนไลน์และออฟไลน์

หากประเทศใดประเทศหนึ่ง แจ้งเตือนไปยังประเทศคู่ค้าของไทยว่ามีการนำปลากัดเรืองแสงเข้ามาเพาะพันธุ์และผสมข้ามพันธุ์ ทำให้สินค้าปลากัดในไทยปนเปื้อนทางพันธุกรรม หากประเทศนั้นมีการแอนตี้เรื่องสัตว์น้ำจีเอ็มโอ อาจมีผลต่อการค้าปลาของไทยในระยะยาว

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำฯ ยกตัวอย่าง อินเดียที่ประกาศห้ามนำปลาสวยงามจีเอ็มโอเข้าประเทศ โดยระบุว่าปลาชนิดใดที่จะนำเข้าต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้กรมประมงรับรองว่าไม่ใช่ปลาจีเอ็มโอ

ปลากัด จีเอ็มโอ  ภาพ : กรมประมง

ปลากัด จีเอ็มโอ ภาพ : กรมประมง

ปลากัด จีเอ็มโอ ภาพ : กรมประมง

 

นางอรุณี ขอความร่วมมือประชาชนหากเลี้ยงหรือครอบครองปลาในลักษณะดังกล่าว ให้นำมาส่งมอบได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. - 30 พ.ย.นี้ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมประมง ทั่วประเทศ หรือสำนักงานประมงจังหวัดทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ หากฝ่าฝืนอาจได้รับโทษทั้งจำคุกไม่เกิน 1-2 ปี ปรับไม่เกิน 1-2 ล้านบาท

ส่วนวิธีการทำลายปลาจีเอ็มโอที่ได้คืนนั้นกำลังเลือกวิธีที่เหมาะสม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิด และขนาดของปลา แต่ยืนยันว่ากระบวนการคำนึงถึงหลักวิชาการ เช่น น็อกน้ำแข็งก่อนให้ตายแบบไม่ทรมาน ก่อนกำจัดซากต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทยอยคืน “ปลาเรืองแสงจีเอ็มโอ” หลังกรมประมง ขีดเส้น 3 เดือน

ผู้เลี้ยง "ปลาเรืองแสง" วอนทบทวนคำสั่งห้ามเพาะเลี้ยง

"ปลาเรืองแสง" สวยอันตราย ตัดต่อ GMOs ใครมีให้คืนกรมประมง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง