บทวิเคราะห์ : มีชัย ฤชุพันธุ์ กับปมคดี 8 ปีนายกฯ

การเมือง
13 ก.ย. 65
15:35
2,476
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : มีชัย ฤชุพันธุ์ กับปมคดี 8 ปีนายกฯ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กลายเป็นเป้าสำคัญที่โดนจัดหนัก ในคดี 8 ปีบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเอกสารชี้แจงในฐานะประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 60 ไปยังประธานศาลรัฐธรรมนูญ เกิดรั่วไปปรากฏอยู่บนหน้าสื่อ

ทั้งสื่อหลักและสื่อออนไลน์ นำไปสู่การแบไต๋ให้สาธารณชนได้รับรู้ว่า มุมมองต่อปม 8 ปีนายกรัฐมนตรี ของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นอย่างไร

ไม่เพียงแค่รั่ว และเผยให้เห็นมุมมองต่อประเด็นนายกฯ 8 ปี ที่มีผลโดยตรงต่อ พล.อ.ประยุทธ์ บนเส้นทางการเมืองนับจากนี้เท่านั้น

ในเอกสารชี้แจงยังโดนดิสเครดิต โดยเอกสารอีกชุดที่ “รั่ว” ตามมาเช่นกัน คือเอกสารการประชุมครั้งที่ 501 ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ระบุชัดทั้งเรื่องการรับรองมติในบันทึกการประชุม กรธ. รวมทั้งครั้งที่ 500 ซึ่งนายมีชัย ระบุว่า เป็นบันทึกจากความเข้าใจของผู้บันทึก และไม่เคยมีมติรับรองบันทึกของกรรมการร่างรธน. ครั้งที่ 500

นายมีชัย เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป โดยเฉพาะด้านผลงานการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2534 เป็นฉบับแรก เมื่อเกิดรัฐประหารในปี 2534 ล้มรัฐบาล  พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาในขณะนั้น

โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่มี พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ.เป็นแกนนำ

หลังการยึดอำนาจ รสช.ได้กำหนดกรอบเวลาเพียง 6 เดือน ให้คณะกรรมการชุดนี้ร่างรัฐธรรมนูญ และแล้วเสร็จ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 ในวันที่ 9 ธันวาคม 2534

เนื้อหาสาระสำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 มีหลายประเด็นที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการปูทางสู่การสืบต่ออำนาจของ รสช. หรือไม่ โดยเฉพาะการเปิดทางให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง อีกประเด็นคืออำนาจของวุฒิสภา ที่มาจากการแต่งตั้ง กลับมีอำนาจมากขึ้น

รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ส่อเค้าเป็นผลไม้พิษ เมื่อหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2535 พรรคสามัคคีธรรม ที่มีนายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรค ที่ชนะเลือกตั้ง ถูกระบุว่า ติดปัญหาแบล็คลิสต์ของสหรัฐอเมริกา มีผลต่อการจะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย

ทำให้ในเวลาต่อ พล.อ.สุจินดา คราประยูร หนึ่งในผู้นำการรัฐประหาร ลาออกจากผู้บัญชาการกองทัพบก ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ส่งผลให้เกิดการชุมนุมประท้วงจากประชาชน และรัฐบาลใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามประชาชนจนเกิดเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ในปี 2535 มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

จนในที่สุด พล.อ.สุจินดา ต้องลาออก และนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นสำคัญ คือ นายกรัฐมนตรี ต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.เท่านั้น

นายมีชัย มีบทบาทอีกครั้งในการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อเกิดเหตุรัฐประหารรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) ในปี 2549 ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยะรัตกลิน ผบ.ทบ.ในขณะนั้น

นายมีชัย มีบทบาทสำคัญในการร่างแถลงการณ์ประกาศ และคำสั่ง คปค.หลายฉบับ รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2549 ร่วมกับนายวิษณุ เครืองาม และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รวมทั้งได้เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช.ในครั้งนั้นด้วย

และเมื่อเกิดการรัฐประหาร รัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายมีชัยกลับมามีบทบาทต่อการร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง

หลังจากเข้ารับตำแหน่งสมาชิก และเป็นบอร์ด คสช. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายทหาร และได้รับทาบทามให้เป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 หลังจากคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ เป็นประธาน ถูกคว่ำโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช.

นายมีชัย พูดไว้ตอนหนึ่ง หลังตกลงเข้ารับเป็นประธานกรรมการร่างรธน.ปี 2560 ว่า ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง มีหน้าที่ต้องให้ความร่วมมือตามกำลังความสามารถ จึงไม่อาจจะเห็นแก่ความสุขความสบายที่ชักจะเริ่มเคยตัว และไม่อยู่ในฐานะที่จะปฏิเสธได้ มิฉะนั้น ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่รู้จักทดแทนบุญคุณของแผ่นดิน

ก่อนเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ถูกวิพากษ์มาตลอดว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน ซ่อนปม และวางกับดักไว้หลายชั้น และยากต่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างที่เป็นอยู่

รวมทั้งเรื่องการอยู่ในตำแหน่ง นายกฯ ไม่เกิน 8 ปี ไม่ว่าจะต่อเนื่องกันหรือไม่

 

ประจักษ์ มะวงศ์สา รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง