"เจิมศักดิ์" แนะเยาวชนจัดระบบรองรับสังคมสูงวัย "เศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อม-สุขภาพ"

สังคม
2 ต.ค. 65
09:32
499
Logo Thai PBS
"เจิมศักดิ์" แนะเยาวชนจัดระบบรองรับสังคมสูงวัย "เศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อม-สุขภาพ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปี 2565 ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลก ที่เข้าสู่ “สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์” นั่นคือในสังคมมีประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี มากกว่าหรือเท่ากับ 10% ของประชากรทั้งหมด ส่งผลให้ประเทศต้องเดินหน้าสร้างสิ่งแวดล้อมทีเหมาะสมและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้สูงอายุ
คนจะเพ่งเล็งไปที่ผู้สูงอายุ แต่จริงๆแล้วคนที่จะรับภาระหนักที่สุดคือ เยาวชน

ศาสตราภิชาน เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบายของ Thai PBS ได้อธิบายในหัวข้อ “Digital Health for Aging Society กับ เยาวชนไทย” ไว้ ในการประกวดนโยบายและนวัตกรรมทางสังคมของคนรุ่นใหม่ในการพัฒนาระบบเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัยของประเทศไทย ผ่านการจัดทำร่างนโยบายสุขภาพและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสุขภาพ ซึ่งจัดโดย โครงการ Thailand Youth Policy Initiative

แบ่งกลุ่มประชากรในประเทศไทย

อ.เจิมศักดิ์ แบ่งกลุ่มประชากรออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 

1. กลุ่มอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
2. กลุ่มอายุระหว่าง 40-60 ปี
3. กลุ่มอายุ 40 ปีลงไป หรือ กลุ่มเยาวชน

พร้อมอธิบายว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า ประชากรกลุ่มอายุ 40-60 ปีจะมีจำนวนมากกว่าร้อยละ 30 ของประเทศ หากประเทศไทยยังไม่มีการเตรียมการที่ดี กลุ่มเยาวชนจะกลายเป็นกลุ่มที่ต้องรับภาระหนักที่สุด เพราะต้องดูแลประชากรทั้ง 2 กลุ่มที่เข้าสู่วัยเกษียณ

ในอนาคต กลุ่มเยาวชนจะมีจำนวนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะมีการศึกษาที่มากขึ้น ทำงานเยอะขึ้น แต่งงานช้าลง คนจะเริ่มรู้สึกว่า การมีลูกเป็นภาระ และคิดว่าตัวเองยังเอาตัวไม่รอด

นี่คือศึกหนักของไทยในอนาคต

แต่คนไทยขณะนี้ไม่ค่อยใส่ใจ เพราะคิดว่าอีก 10 กว่าปี เราแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆแล้วกัน ถึงเวลานั้นก็เกาะกลุ่มกันไป

แต่เที่ยวนี้ไม่จริง

 ถ้าไม่มีระบบรองรับ มีปัญหาแน่นอน

หลักการที่ง่ายที่สุดคือ “ทำยังไงให้แก่ช้าลง?”
แก่ในที่นี้ ไม่ขึ้นอยู่กับอายุ 60 แต่ “แก่” ต้องมีความหมายว่า พึ่งพาตัวเองได้น้อยลง

ถ้าพึ่งพาตัวเองได้ก็ถือว่าไม่แก่ เราต้องพึ่งพาตัวเองให้ยาวขึ้น พึ่งพาคนอื่นให้น้อยลง

กลุ่มเยาวชน ภาคประชาชน สังคม ต้องเริ่มจัดระบบ เพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุในปัจจุบัน และเพื่อรองรับเยาวชนที่จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต

1.ระบบเศรษฐกิจ
- การขยายอายุเกษียณ เพื่อให้คนสามารถทำงานได้นานขึ้น มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้นานขึ้น
- เพิ่มทักษะสำรอง เพื่อรองรับกับร่างกายที่เสื่อมตามอายุ
- ทักษะสำรอง ต้องเริ่มสอนในทุกกลุ่มประชากร เยาวชนจนถึงผู้สูงอายุ
- รัฐควรหานโยบายรองรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ได้อยู่ในระบบ เช่น ชาวบ้านทั่วไปที่ไม่ได้รับราชการ หรือ อาชีพที่ไม่สามารถทำประกันสังคมได้ เพื่อให้พวกเขายังมีเงินทุนสำรองไว้ใช้ หากต้องหยุดทำงานจริงๆ

2. ระบบสิ่งแวดล้อม
- ต้องปรับสภาพแวดล้อม เช่น บ้าน สถานที่สาธารณะ ให้สอดคล้องกับผู้สูงอายุ เพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ
- นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น เตียงนอนผู้สูงอายุ เมื่อลุกหรือเดินออกมาจากเตียง ไฟข้างเตียงควรสว่างเพื่อช่วยลดอุบัติเหตุ
- หากเกิดอุบัติเหตุ กรณีล้มแน่นิ่ง ต้องมีเซ็นเซอร์จับสัญญาณ กี่นาทีแล้วส่งข้อมูลให้ครอบครัว หรือ สถานพยาบาล

3. ระบบสุขภาพ
- ชุมชน ต้องจัดสำรวจกลุ่มประชากรผู้สูงอายุ บ้านไหนป่วย อาศัยอยู่คนเดียว หรือ อยู่กับครอบครัว
- คำนวณความเร็วถ้าต้องพาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล เพื่อลดความสูญเสีย
- จัดสถานพักฟื้นทดแทนในกรณีเตียงในโรงพยาบาลเต็ม
- มีศูนย์จัดกิจกรรมรวมตัว เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รวมกลุ่มทำกิจกรรม ลดความเครียด และอาการติดบ้านติดเตียง
- จัดให้มี นักบริบาลชุมชน คอยสำรวจและช่วยเหลือผู้สูงอายุในชุมชน


หากเยาวชนรู้จักปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตผู้สูงอายุ จะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มประชากรผู้สูงอายุในปัจจุบัน และช่วยลดภาระของกลุ่มเยาวชนได้อีกทาง

อ่านข่าวเพิ่ม : ทำความรู้จัก วันผู้สูงอายุสากล

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง