ทำได้หรือไม่? ทุบเขื่อนปากมูล แก้กีดขวางทางน้ำ

ภัยพิบัติ
15 ต.ค. 65
08:49
2,245
Logo Thai PBS
ทำได้หรือไม่? ทุบเขื่อนปากมูล แก้กีดขวางทางน้ำ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิชาการ ชี้จุดอ่อนน้ำท่วมอุบลราชธานี เหตุเขื่อนปากมูล อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เป็นคอขวดกีดขวางระบายน้ำลงแม่น้ำโขงล่าช้า ชาวโซเชียลเสียงแตกข้อเสนอทุบเขื่อนแก้น้ำท่วมอุบลฯ ส่วนคนหาปลากระทบเปิดประตู 8 บานเร็วกว่ากำหนด

วันนี้ (15 ต.ค.2565) ไทยพีบีเอสออนไลน์ ลงพื้นที่สำรวจบริเวณเขื่อนปากมูล อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี พบว่ามีการเปิดประตูทั้ง 8 บาน โดยระดับน้ำค่อนข้างไหลแรงและเชี่ยวมาก

ล่าสุด มีการระบายน้ำ 7,018 ลบ.ม.ต่อวินาที เฉลี่ยวันละ 606 ล้าน ลบ.ม. โดยขณะนี้ระดับแม่น้ำโขงอยู่ต่ำกว่าแม่น้ำมูล 1.49 เมตร


สำหรับการเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 8 บานตั้งแต่ช่วง วันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อเร่งระบายน้ำออกแม่น้ำโขง ตัดปริมาณน้ำก่อนเมืองอุบลราชธานี ซึ่งเป็นจุดรับน้ำ และสถานการณ์น้ำท่วมจากน้ำมูลล้นตลิ่งในเขตเมือง และ อ.วารินชำราบ มาเกือบ 1 เดือน และระดับน้ำสูง ซึ่งมีการประเมินว่าอาจต้องใช้เวลาจนถึงเดือน พ.ย.นี้ระดับน้ำถึงจะเริ่มคลี่คลาย

อย่างไรก็ตาม การเปิดประตูระบายน้ำครั้งนี้ส่งผลกระทบกับคนหาปลาหน้าเขื่อนปากมูล ซึ่งวันนี้มีคนหาปลาเพียง 5 คน โดยบางคนใช้
แห ใช้เบ็ดตกปลา แต่บางคนก็ใช้เรือขนาดเล็กลอยอยู่ด้านริมน้ำเพราะกระแสน้ำไหลแรง


ชาวบ้านคนหนึ่งบอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่าการเปิดประตูระบายน้ำ พร้อมกันทั้ง 8 บานทำให้การหาปลาหน้าเขื่อนยากขึ้น เพราะมวลน้ำไหลที่เปิดประตูค่อนข้างแรง จึงเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย และปลาว่ายทวนความแรงของน้ำไม่ไหว

วันนี้ได้ปลาตัวใหญ่เช่นปลาโจก ปลากด ขนาดกว่า 1 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าโชคดีแต่บางวันก็หาได้น้อยลงกว่าตอนปิดประตูน้ำไม่ถึง 3 กิโลกรัม 

นอกจากนี้ คนหาปลายังบอกว่าปีนี้มีการเปิดประตูระบายน้ำเร็วกว่ากำหนดจากเดิมที่จะทำในช่วงเดือน ส.ค. แต่ปีนี้เปิดประตูตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เพราะสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่มาเร็ว โดยเฉพาะเขต อ.วารินชำราบ และในเขตอ.เมืองอุบลฯ น้ำมูลมีระดับสูงกว่าตลิ่งมากต้องเร่งผันออกแม่น้ำโขง

เสนอทุบเขื่อนปากมูล ทำได้แค่ไหน?

ขณะที่ปัญหาน้ำท่วมอุบลราชธานี ครั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตในสื่อสังคมออนไลน์ถึงสาเหตุน้ำท่วมอุบลราชธานี

นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โพสต์เฟซบุ๊ก Chainarong Setthachua ว่าทำไมอุบลอ่วม? โดยระบุว่า เขื่อนตอนบนลุ่มน้ำชี และมูลเร่งปล่อยน้ำลงมา เขื่อนปากมูล ขวางแม่น้ำมูลก่อนไหลลงโขง จนกลายเป็นคอขวด กรรมจึงตกอยู่กับคนอุบลฯ

เขื่อนแห่งนี้ นักสร้างเขื่อนกล่าวว่าต้องสร้างเขื่อนปากมูลเพื่อไม่ให้น้ำจากอีสานไหลลงน้ำโขงอย่างสูญเปล่า กว่าเขื่อนปากมูลจะเปิดประตูระบายน้ำ พวกเขาคงคิดหนัก


สำหรับประเด็นนี้ ทำให้ถูกตั้งคำถาม ผ่านในสื่อสังคมออนไลน์ และมีข้อเสนอถึงขั้นให้มีการทุบเขื่อนปากมูล ซึ่งมีผู้แสดงความคิดเห็นในวงกว้างทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยเนื่องจากมีการลงทุนก่อสร้างเขื่อนมูลค่า 6,600 ล้านบาทเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง ประกอบกับเขื่อนแห่งนี้มีการก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2538

ชี้เกาะแก่งมีส่วนกีดขวางการไหลของน้ำ

ขณะที่นายเทิดพงศ์ ไทยอุดม ผอ.สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค 3 กล่าวว่า น้ำจะทยอยไหลผ่านตัวเขื่อนปากมูล ที่ตอนนี้ประตูทั้ง 8 บานได้เปิดสุด แต่ว่าระยะทางที่น้ำไหลมา มีบางช่วงที่เป็นอุปสรรคทำให้น้ำระบายได้ช้า คือแก่งต่างๆที่เป็นแก่งหินธรรมชาติตลอดระยะทางมากกว่า 3-4 แก่ง

จุดนั้นได้ใช้เครื่องผลักดันน้ำวางทั้งสองฝั่งเพื่อช่วยเสริมแรงดัน ซึ่งการเร่งระบายนี้ เพื่อเตรียมที่จะรับมวลน้ำอีกก้อนหนึ่งที่คาดว่าน่าจะถึงสัปดาห์หน้าคือมวนน้ำจากแม่น้ำชีไหลผ่าน จ.มหาสารคาม ลงมา แต่อาจจะทำให้น้ำเพิ่มขึ้นไม่มากเพราะว่าน้ำที่ท่วมอุบลฯ ก็จะทยอยลดลงก่อนแล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง