"พายุเซินกา" หอบฝน-ลมหนาวเข้าอุบลฯ น้ำมูลลด 2 ซม.

ภัยพิบัติ
15 ต.ค. 65
10:40
415
Logo Thai PBS
"พายุเซินกา" หอบฝน-ลมหนาวเข้าอุบลฯ น้ำมูลลด 2 ซม.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ระดับน้ำมูลล้นตลิ่งลดลง 2 ซม.แต่เจออิทธิพล "พายุเซินกา" หอบฝนและลมหนาวมาเยือนอุณหภูมิลดลง 18 องศาฯ ขณะที่ชาวบ้านในศูนย์พักพิงบางแห่ง ยังกังวลกลางเดือน ต.ค.น้ำไม่มีวี่แววลด อาจต้องอยู่ศูนย์พักพิงยาวถึงปลายปี เจอปัญหาสุขาไม่เพียงพอ

วันนี้ (15 ต.ค.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้านี้อิทธิพลพายุเซินกา ส่งผลให้ฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายจังหวัดของภาคอีสาน โดยที่ อ.เมืองอุบลราชธานี อุณหภูมิ 18 องศาเซลเซียส และมีฝนโปรยปรายมาตั้งแต่ช่วงเช้ามืด


ขณะที่ระดับน้ำมูล บริเวณสถานีวัดระดับน้ำสะพานเสรีประชาธิปไตย (M7) จ.อุบลราชธานี ระดับน้ำอยู่ที่ 11.49 เมตร ระดับน้ำ (116.49 ม.รทก.) ลดลง 2 ซม. แต่สูงกว่าปีที่แล้ว 4.86 เมตร อัตราการไหล 5,725 ลบ.ม.ต่อวินาที

ห่วงน้ำท่วมอุบลฯ ลากยาวถึงสิ้นปี-กลัวน้ำฝนเติม

ด้านนายพินิจ พงมิ่ง ชาวบ้านหมู่บ้านน้ำมูลน้อย อ.เมืองอุบลราชธานี ซึ่งเป็นหนึ่ง 20 ครอบครัวที่อพยพมาอยู่ศูนย์พักพิงชั่วคราวบริเวณสะพานแม่น้ำมูลน้อย บอกว่า ยังไม่มั่นใจว่าเดือน พ.ย.นี้ น้ำจะลดลงจริงหรือไม่ สมัยก่อนหากเดือน ต.ค.มีน้ำท่วม ช่วงวันที่ 25 ต.ค.น้ำจะลดลงจนเดินบนถนนได้แล้ว แต่ปีนี้น้ำยังขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ไม่รู้ว่าระดับน้ำจะลดและได้เข้ากลับไปทำความสะอาดบ้านหรือไม่

ตอนนี้น้ำท่วมไม่เหมือนเดิม ปีที่น้ำท่วมหนักปี 2562 ช่วงเดือน ต.ค.ระดับน้ำจะลดลงแล้ว แต่ปีนี้กลางเดือน ต.ค.น้ำไม่ลด มีแต่เพิ่มขึ้น กังวลว่ากว่าน้ำจะลด และเข้าไปบ้านที่ถูกน้ำท่วมมิดหลังคาคงเป็นสิ้นปี หรือช้าสุดปีใหม่

เร่งหาส้วมเคลื่อนที่ช่วยชุมชนน้ำท่วมติดเกาะ

ด้านนายบุรินทร์ เงาทอง พนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลนครอุบลราชธานี ตอบปัญหาห้องน้ำที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ไม่เพียงพอว่า ขณะนี้ได้พยายามแก้ปัญหา เนื่องจากมีจุดอพยพหลายจุดเบื้องต้นจะเร่งนำสุขาเคลื่อนที่ไปยังจุดที่เข้าถึงยาก และผู้ประสบภัยใหม่ ส่วนจุดที่มีการอยู่อาศัยนานแล้วจะทำสุขาแบบแคมป์ก่อสร้าง และหารถสุขาเคลื่อนที่มาประจำการ


ขณะนี้มีศูนย์พักพิงของเทศบาลฯ รวมทั้งหมด 32 จุด รวม 16 ครอบครัว ประมาณ 3,000 คน และยังไม่ต้องเปิดศูนย์เพิ่ม เนื่องจากประเมินว่าสามารถรับมือได้ ซึ่งแต่ละวันจะมีการนำอาหารกล่องจากครัวพระราชทานและจิตอาสาเข้าไปแจกในพื้นที่ 2,000 กล่อง


อย่างไรก็ตาม สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ตั้งแต่พายุโนรู เข้าลูกแรกมีการขอกระสอบทรายไปกั้นน้ำท่วมมากกว่า 100,000 กระสอบ เพราะในชุมชนเมืองหลายจุดที่ไม่เคยท่วมยังพบน้ำท่วมสูงถึง 1 เมตร จึงทำให้คนตื่นตัวที่จะทำแนวป้องกันน้ำท่วมและบางจุดต้องการลดระดับความแรงของน้ำเข้าบ้านโดยมีโควตาบ้านละ 30 กระสอบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง