เปิดพิกัด 9 บ่อขยะ เสี่ยงน้ำท่วม

ภัยพิบัติ
18 ต.ค. 65
14:39
367
Logo Thai PBS
เปิดพิกัด 9 บ่อขยะ เสี่ยงน้ำท่วม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คพ.เผยบ่อขยะ 9 แห่ง บ่อบำบัดน้ำเสีย 7 แห่ง เสี่ยงน้ำท่วม พร้อมส่งแผนประเมินความเสี่ยงและแนวทางแก้ปัญหาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เบื้องต้นก่อสร้างคันดินรอบพื้นที่ เตรียมเข้าตรวจสอบความเสียหายและคุณภาพน้ำ

วันนี้ (18 ต.ค.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บ่อขยะเทศบาลเมืองอ่างทอง เกือบ 100 ไร่ ถูกน้ำท่วมพื้นที่ สร้างความกังวลให้ชาวบ้านว่าน้ำปนเปื้อนอาจไหลเข้าชุมชน ขณะนี้เจ้าหน้าที่เร่งทำคันกั้นน้ำจากบ่อขยะไหลเข้าเขตเมือง

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า คพ.ภายใต้ศูนย์อำนวยการและประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ศอป.ทส. ได้ติดตามและเฝ้าระวังปัญหาน้ำท่วมขังสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย และระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียชุมชน

คพ.ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีระบบกำจัดขยะมูลฝอยและอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมตามแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยในสภาวะอุทกภัย รวมถึงการจัดเตรียมพื้นที่สำรอง (หรือพื้นที่จัดขยะของ อปท.ใกล้เคียง) เพื่อรองรับขยะมูลฝอยในช่วงประสบภัยน้ำท่วมสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย พิจารณาการก่อสร้างคันดินโดยรอบสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยให้มีความสูงกว่าระดับน้ำที่เคยท่วมถึง การเตรียมกำลังคนสำรองเพื่อเก็บขยะมูลฝอยในช่วงน้ำท่วม การจัดเตรียมแผนเคลื่อนย้ายเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ไปยังพื้นที่สูง

เช็ก 9 บ่อขยะ เสี่ยงน้ำท่วม

นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า จากการติดตามพบว่าสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยได้รับผลกระทบจำนวน 9 แห่ง ได้แก่ ทม.สิงห์บุรี จ.สิงห์บุรี, ทต.เขาพระงาม จ.ลพบุรี, ทต.นครหลวง ทต.แม่ลา จ.พระนครศรีอยุธยา, อบต.หนองอึ่ง จ.ศรีสะเกษ, ทต.ยะวึก ทต.ดอนแรด จ.สุรินทร์ และ อบต.ไร่ใต้ อบต.ท่าไห จ.อุบลราชธานี สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยดังกล่าวมีมาตรการป้องกันขยะมูลฝอยกระจายออกไปสู่พื้นที่ข้างเคียง และนำขยะมูลฝอยไปกำจัดในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยพื้นที่ใกล้เคียง 

สำหรับระบบบำบัดน้ำเสียที่ได้รับผลกระทบ และรายงานมายังระบบฐานข้อมูลระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน DSPOT รวม 7 แห่ง ได้แก่ ระบบบำบัดน้ำเสีย ทต.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ ทต.สรรพยา จ.ชัยนาท จำนวน 2 แห่ง ทม.สระบุรี ทต.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ทน.อุบลราชธานี และทม.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

ทั้งนี้ ภายหลังอุทกภัย อปท.จะดำเนินการตรวจสอบและปรับปรุงสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ได้รับความเสียหาย และสำรวจตรวจสอบความเสียหายของเครื่องจักรและอุปกรณ์รวมทั้งระบบไฟฟ้าของสถานีสูบและระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อซ่อมบำรุงให้สามารถใช้งานได้ต่อไป

นอกจากนี้ คพ.ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพน้ำภาคสนาม และอากาศยานไร้คนขับ เพื่อสำรวจคุณภาพน้ำหลังเกิดอุทกภัย หรือในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน จัดเตรียมน้ำหมักชีวภาพให้การสนับสนุนแก้ไขปัญหาผลกระทบกลิ่นจากน้ำเน่าเสียในพื้นที่น้ำท่วมขังหลังน้ำลด

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง น้ำทะลักท่วม “บ่อขยะ” อ่างทอง เร่งป้องกันไหลเข้าเขตเมือง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง