"เดี่ยวไมโครโฟน" Call out หรือ Call to action ?

ไลฟ์สไตล์
19 ต.ค. 65
16:48
648
Logo Thai PBS
"เดี่ยวไมโครโฟน" Call out หรือ Call to action ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ประเด็นโลกออนไลน์ที่กำลังอยู่ในความสนใจของชาวโซเชียลขณะนี้ คือ การพูดถึงประเด็นทางการเมือง ในการแสดง “เดี่ยว 13” ของ โน้ส-อุดม แต้พานิช

หลายคนที่ติดตามการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนของนักพูดคนนี้มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ เดี่ยว 1-13 จะรู้ว่า ตั้งแต่การแสดง เดี่ยว 7 ในปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา อุดม แต้พานิช เริ่มที่จะพูดเชิงเสียดสีเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลมาโดยตลอด หรือแม้กระทั่งในการแสดงครั้งล่าสุดครั้งนี้ โน้ส-อุดม ก็ยังบอกว่า เขาล้อเลียนนายกรัฐมนตรี ของทุกรัฐบาลมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว

หลายคนที่เห็นไปในทางเดียวกันกับสิ่งที่ โน้ส-อุดม พูด ก็อาจจะรู้สึกดีและมองว่า

โน้ส-อุดม กำลังทำสิ่งที่สังคมต้องการ
โน้ส-อุดม กำลังช่วยเหลือสังคมในแบบของเขา
หรือ โน้ส-อุดม อาจจะกำลังทำตัวเป็นแบบอย่าง ให้บุคคลที่มีชื่อเสียงคนอื่น ลองใช้ความมีชื่อเสียงของตัวเองเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องสิ่งที่สังคมต้องการ

หรือใช้ภาษาที่นิยมใช้ในปัจจุบันว่า โน้ส-อุดม กำลัง Call out !

แต่การ Call out ของ โน้ส-อุดม เหมือนกับ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนอื่นๆ อย่างเช่น เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล , ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไม่ ?

หากมีจุดมุ่งหมายเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเช่นเดียวกัน
แต่ไฉนผลลัพธ์แห่งการ Call out นั้นช่างต่างกันเสียเหลือเกิน

สิ่งที่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายๆ คนได้รับจากการ Call out คือ มาตรา 112 และการมีคดีติดตัวอีกหลายคดี
ผู้คนด้านล่างเวทีได้เห็นความกล้าในการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงจากกลุ่มผู้เรียกร้องบนเวที และอาจจะลามไปสู่การปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ หลายคนเจ็บตัว บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต

ในขณะที่การ Call out ของโน้ส-อุดม ผู้ที่เข้าร่วมชมการแสดง ได้มีม ได้มุขตลก สามารถเอาไปเล่นต่อหรือส่งต่อกันได้ทางโลกออนไลน์ ได้ความสุข เสียงหัวเราะ ไม่มีใครได้บาดแผลหรือมีคดีติดตัวกลับบ้าน
ส่วนคนบนเวที ได้เงินเป็นค่าตอบแทนจากการทำการแสดง

วลีเล็กๆ จากหนังสือ GU123 ของอุดม แต้พานิช เขียนไว้ว่า

มีนักวิจารณ์เคยบอกว่า หนังสือของ อุดม แต้พานิช
เป็น วรรณกรรมขยะ หากเป็นเช่นนั้นจริง
ก็คงเป็นขยะรีไซเคิล ที่มีคนนำกลับมาใช้บ่อยมาก

การแสดงเดี่ยวไมโครโฟนของ โน้ส-อุดม จึงแทบจะไม่ใกล้เคียงกับการ Call out อย่างที่หลายคนคิดไว้เลย แต่คือการ Call to action หรือกลยุทธ์ในการทำงานที่ใช้คำหรือประโยคสั้นๆ ในการดึงดูดลูกค้าให้กลับมาซื้อของซ้ำเท่านั้นเอง

หลายคนหลงไปกับการคิดว่านี่คือการ Call out เพียงเพราะผู้พูดพูดในสิ่งที่ตนเองถูกใจ
หลายคนออกมาเรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐให้ตรวจสอบการแสดงของเขา ว่าชอบโดยกฎหมายหรือไม่

แต่ดูเหมือนคนที่จะไม่หลงทางในกับดักเดี่ยว 13 ของโน้ส-อุดม ในครั้งนี้ คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ออกโรงพูดสั้นๆ ว่า ให้มองเป็นเรื่องของความบันเทิงก็พอ

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง