รู้จัก "โรคลมหลับ" ง่วงมากผิดปกติ-หลับกลางอากาศ

สังคม
28 ต.ค. 65
14:43
4,609
Logo Thai PBS
รู้จัก "โรคลมหลับ" ง่วงมากผิดปกติ-หลับกลางอากาศ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมการแพทย์ระบุ "โรคลมหลับ" เป็นปัญหาการนอนหลับเรื้อรัง มีภาวะง่วงมากผิดปกติตอนกลางวัน บางครั้งอาจหลับได้โดยไม่รู้สึกตัว แนะปรึกษาแพทย์หากพบความผิดปกติ

วันนี้ (28 ต.ค.2565) นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคลมหลับ หรือ Narcolepsy เป็นโรคเกี่ยวกับการนอนหลับที่เกิดขึ้นแบบเรื้อรัง ผู้ป่วยมักมีอาการง่วงมากในตอนกลางวัน แม้ว่าตอนกลางคืนจะนอนหลับสนิทอย่างเพียงพอ

บางครั้งพบว่ามีการนอนหลับเกิดขึ้นในสถานการณ์ไม่เหมาะสม เช่น เกิดขึ้นขณะพูดคุยกับบุคคลอื่น ขณะรับประทานอาหาร ทำงาน เรียน เล่นเกมส์ หรือขับรถ ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้

สาเหตุของโรคในทางการแพทย์ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เกิดจากความผิดปกติของสาร สื่อประสาทที่ชื่อ โอเร็กซิน (Orexin) ทำหน้าที่ควบคุมการตื่นของร่างกาย มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้สารเคมีชนิดนี้ลดลง ส่งผลให้มีอาการหลับง่ายกว่าปกติ ดังนั้นควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย หากมีอาการผิดปกติด้านการนอนหลับ ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

ด้าน นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผอ.สถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการแสดงที่สำคัญนอกจากมีภาวะง่วงนอนมากผิดปกติตอนกลางวันแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ภาวะผีอำ หรือ sleep paralysis โดยที่ไม่สามารถขยับตัวได้ตอนที่กำลังใกล้จะตื่น และมีอาการเห็นภาพหลอนตอนขณะเคลิ้มหลับ

แพทย์วินิจฉัยโรคจากการสอบถามประวัติโรคประจำตัว และยาที่ใช้เป็นประจำ เนื่องจากมีปัจจัยภายนอกอย่างอื่นที่ทำให้เกิดอาการคล้ายโรคลมหลับ ในรายที่แพทย์สงสัยอาการเข้าได้กับโรคนี้ จะให้ผู้ป่วยบันทึกการนอนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และส่งตรวจการนอนหลับ ร่วมกับการตรวจความง่วงนอน

ปัจจุบันแม้ว่ายังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่สามารถให้การรักษาเพื่อบรรเทาอาการได้ โดยการใช้ยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่เหมือนคนปกติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง