ความเห็น "วิษณุ-เท่าพิภพ" หลัง แก้กฎกระทรวงปลดล็อกผลิตสุรา

การเมือง
2 พ.ย. 65
13:41
684
Logo Thai PBS
ความเห็น "วิษณุ-เท่าพิภพ" หลัง แก้กฎกระทรวงปลดล็อกผลิตสุรา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไม่กี่ชั่วโมงหลัง ครม.มีมติอนุมัติการแก้ไขกฎกระทรวงการคลัง เรื่องการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ.2560 ก็ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้แล้วในวันนี้ เปิดทางให้การผลิตสุราทำได้ง่ายขึ้น

การให้ไฟเขียวกฎกระทรวงครั้งนี้ คงจะไม่เป็นที่พูดถึงขนาดนี้ ถ้าไม่ใช่เพราะร่างแก้ไข พ.ร.บ.สรรพสามิต หรือ ที่เรียกกันว่า พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ของพรรคก้าวไกล จะเข้าพิจารณาวาระ 2 วาระ 3 ในสภาวันนี้ จนถูกมองว่า เป็นการออกกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ.2565 เป็นการปาดหน้าหรือเตะตัดขากันหรือไม่

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุว่า กฎกระทรวงที่ปรับปรุงนี้ โดยหลักบอกว่า ไม่เอื้อเฉพาะนายทุน พิจารณาถึงชุมชน ประชาชนให้ผลิตสุราได้ง่ายขึ้น แต่มีมาตรฐานความปลอดภัย ความรัดกุมเรื่องการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง

มันยังไม่รัดกุมเขาจึงปรับเป็นกฎกระทรวงฉบับที่ 2 ฉบับที่ 1 ทิ้งไป ไม่ใช้ ไปใช้ฉบับที่ 2 ซึ่งก็ได้อนุมัติฉบับที่ 2 ซึ่งไม่ใช่เรื่องไปชิงไหว ชิงพริบ ตัดหน้าอะไรกับสภาฯ

นายวิษณุยังระบุว่า เป็นเรื่องที่ต้องการให้มีกฎเกณฑ์เพื่อผ่อนปรนให้สามารถผลิตสุรา โดยเฉพาะสุราที่ไม่ได้มีเพื่อการค้า โดยเฉพาะสุราพื้นบ้าน เนื่องจากมองว่า 1.เป็นการรักษาภูมิปัญญาชาวบ้าน 2. กฎกระทรวงฯนี้ไม่ได้ทำให้รายได้ของรัฐบาลลดลง และ 3.ผู้ที่ประสงค์จะผลิตสุรา สามารถทำได้โดยไปไม่ต้องไปขออนุญาตหรือเป็นเป็นภาระแก่ประชาชน

สาระสำคัญ คือ 1.เปิดโอกาสให้สุราชุมชนขนาดเล็ก สามารถขยายกำลังการผลิตเป็นระดับกลางที่ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังการผลิตสูงกว่า 5 แรงม้า แต่ไม่เกิน 50 แรงม้า และสามารถใช้คนงานมากกว่า 7 คนได้ แต่ต้องไม่เกิน 50 คน แต่ยังมีเงื่อนไขคือ ต้องได้รับใบอนุญาตผลิตสุราแช่ หรือ สุรากลั่นชุมชนขนาดเล็กมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี และไม่เคยกระทำความผิดกฎหมายภาษีสรรพสามิต

2.มีการยกเลิกการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำและทุนจดทะเบียน สำหรับทั้งกรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย

3.เปิดโอกาสให้บุคคลธรรมดาที่มีอายุไม่น้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และนิติบุคคล ขอใบอนุญาตผลิตสุราที่มิใช่เพื่อขาย โดยต้องผลิตสุราไม่เกิน 200 ลิตรต่อปี

อย่างไรก็ตาม แม้นายวิษณุจะบอกว่าปรับแก้กันมานาน แต่ห้วงเวลาที่เข้าสู่การพิจารณาที่เกิดขึ้นเพียง 1 วันก่อนร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าของพรรคก้าวไกลจะเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2-3 ของสภา จนไม่แน่ว่า ร่างฯนี้อาจจะถูกคว่ำไปหรือไม่

ทั้งที่ ได้เสียงรับหลักการมาจาก ส.ส.รัฐบาลมาได้ ก็น่าคิดเหมือนกันว่าจะเป็นการชิงโอกาสทางการเมืองหรือเปล่า

เมื่อวานนี้ (1 พ.ย.65) นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.ก้าวไกล ที่ผลักดันร่าง พ.ร.บ.นี้มาตลอด ยอมรับเหมือนกันว่า ค่อนข้างแปลกใจที่ก็มีการรับรองร่างแก้ไขกฎกระทรวงเรื่องนี้มา และมองว่าจะยังไงการออกเป็น พ.ร.บ.ก็ยังมีศักดิ์และสิทธิที่มากกว่า

จริง ๆ การออก พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เป็นการประกันหลักที่ผ่าน ส.ส.ซึ่งเป็นเสียงของทุกคนจากทุกเขต มีความศักดิ์สิทธิ์คงทนถาวรมากกว่าอยู่แล้ว และผ่าน กมธ.ฯ มาหมดแล้ว

นายเท่าพิภพ ยังระบุว่า ก็ยังไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น ต้องขอดูก่อนว่าเป็นอย่างไร แต่จะบอกว่าออกกฎกระทรวงแล้วไม่ต้องออก พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า คิดว่าไม่ใช่

นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่างกฎกระทรวงที่มีผลบังคับใช้ กับร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่กำลังพิจารณาในสภากันตอนนี้ หลัก มี 6 ข้อ คือ

1.การคงเรื่องขออนุญาตผลิตกรณีผลิตที่บ้าน 2.การขออนุญาตต้องขึ้นกับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

3.การผลิตเพื่อการค้าต้องขออนุญาต เท่ากับบริษัทก็สามารถแข่งขันกับสหกรณ์เกษตรกรได้

4.มีข้อกำหนดที่ต้องผ่านการผลิตเป็นโรงงานขนาดเล็กก่อนจึงจะเป็นระดับกลางได้

5.ข้อกำหนดเรื่องการทำ EIA ที่ต้องใช้เงินหลักล้าน และการกำหนดขั้นต่ำการผลิตเป็นอุตสาหกรรม ที่ต้องผลิต 30,000 ลิตรต่อวัน

ขณะที่ข้อกังวลในเรื่องการเปิดทางให้สามารถผลิตสุรา หรือ ทำเบียร์ดื่มเองที่บ้านได้จะทำให้คนดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้นหรือไม่ เพราะทำเองได้ ไม่ต้องซื้อ ซึ่งนายเท่าพิภพซึ่งก็เคยทำเบียร์คราฟต์เอง ก็มองว่า คงไม่ใช่แบบนั้น

ไม่ว่าความกังวลในทางสังคมจะเป็นอย่างไร พ.ร.บ.จะผ่านหรือไม่ ก็ยังมีกฎกระทรวงฉบับแก้ไขที่ผ่านการพิจารณาของ ครม.ประกาศบังคับใช้ไปแล้ว โดยกล่าวอ้างไม่แง่มุมการควบคุมที่ดีกว่า

แต่มุมมองของพิธา ลิ้มเจริญรัฐ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มองว่า เป็นการจงใจเพื่อให้ ส.ส.รัฐบาลอภิปรายว่า กฎหมายนี้ไม่จำเป็นแล้ว แต่ทางพรรคก็พร้อมที่จะตอบข้อสงสัย ยืนยันความจำเป็นที่จะต้องมี พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ออกมา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง