เปิดประชุม COP27 หารือจ่ายเงินชดเชยผลกระทบสภาพอากาศ

ต่างประเทศ
7 พ.ย. 65
08:00
493
Logo Thai PBS
เปิดประชุม COP27 หารือจ่ายเงินชดเชยผลกระทบสภาพอากาศ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เริ่มประชุม COP27 ที่อียิปต์ โดยปีนี้มีการพูดถึงเงินชดเชยที่ประเทศที่ร่ำรวยควรจ่ายให้ประเทศยากจน เนื่องจากต้องรับผลกระทบอย่างหนักทั้งที่ไม่ใช่ชาติที่ก่อให้เกิดโลกร้อนเป็นหลัก

เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2565 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า การประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP27) เริ่มต้นแล้วที่เมืองชาร์ม เอล เชค ประเทศอียิปต์

ปีนี้ผู้แทนจากประเทศต่างๆ เห็นพ้องที่จะหารือเรื่องค่าชดเชยความสูญเสียและความเสียหายที่ประเทศที่ร่ำรวยควรชดเชยให้กับประเทศยากจน เนื่องจากชาติที่กำลังได้รับผลกระทบและเสี่ยงมากที่สุดกลับเป็นชาติที่รายได้น้อย และไม่ใช่ชาติที่สร้างแก๊สให้เกิดโลกร้อนเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาพูดในเวที COP

รัฐมนตรีต่างประเทศอียิปต์ ซึ่งเป็นประธานการประชุม COP27 เรียกร้องให้บรรดาผู้นำอย่าปล่อยให้วิกฤตการณ์อาหารและพลังงานที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน เข้ามาขัดขวางการดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แต่อย่างไรก็ตาม COP27 ยังต้องเผชิญกับปัญหาในการระดมเงิน เนื่องจากชาติตะวันตกต้องหมดงบประมาณไปกับการใช้จ่ายจำนวนมาก เพื่อปกป้องพลเมืองของตนจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสงครามในยูเครน

จนถึงขณะนี้มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่เสนอเงินเพื่อชดเชยความสูญเสียและความเสียหายคือ เดนมาร์ก เสนอมอบเงิน 100 ล้านโครนเดนมาร์ก หรือประมาณ 496 ล้านบาท และสกอตแลนด์ ที่สัญญาว่าจะให้ 2 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 84 ล้านบาท

ขณะที่ข้อมูลจากรายงานสภาพอากาศประจำปี ของหน่วยงานด้านสภาพอากาศองค์การสหประชาชาติ พบว่า ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากในปี 1990 และตั้งแต่เดือน ม.ค.2020 ระดับน้ำเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่านั้น โดยเพิ่มขึ้น 5 มิลลิเมตรต่อปี เมื่อเทียบกับ 2.1 มิลลิเมตรในช่วงปี 1990

รายงานดังกล่าว เน้นย้ำให้เห็นถึงอุทกภัยรุนแรงที่ปากีสถานต้องเผชิญในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 1,700 คน และทำให้มีผู้พลัดถิ่นกว่า 7.9 ล้านคน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ก่อให้เกิดสภาพอากาศรุนแรง ส่งผลกระทบต่อผู้คนในหลายพื้นที่ เช่น ภัยแล้งที่ยาวนานถึง 4 ปีในแอฟริกาตะวันออก ซึ่งทำให้มีผู้หิวโหยมากกว่า 18 ล้านคน และระดับน้ำในแม่น้ำแยงซีของจีนที่แห้งเหือดและลดลงสู่ระดับต่ำสุดในเดือน ส.ค. รวมไปถึงคลื่นความร้อนเป็นประวัติการณ์ที่แผดเผาผู้คนในจีนและยุโรป

"ผู้นำจีน-อินเดีย" ไม่มีแผนร่วมประชุม COP27

การประชุม COP27 ครั้งนี้มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมมากกว่า 40,000 คน สะท้อนให้เห็นถึงความเร่งรีบในการหาวิธีรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลังจากโลกเผชิญภัยพิบัติใหญ่หลายครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมากและนำไปสู่ค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในการฟื้นฟู

อียิปต์ เจ้าภาพจัดการประชุม ระบุว่า ผู้นำทั่วโลกมากกว่า 120 คนจะทยอยเดินทางเข้าร่วมในวันที่ 7-8 พ.ย.นี้ ส่วน โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คาดว่าจะมาถึงในภายหลัง

ขณะที่บุคคลสำคัญหลายคน รวมทั้ง สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน และนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ไม่มีแผนเดินทางเข้าร่วม ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการเจรจาในอียิปต์จะส่งผลให้เกิดข้อตกลงสำคัญใดๆ ในการลดการปล่อยมลพิษหรือไม่ เนื่องจากอินเดียและจีนเป็นประเทศที่ก่อมลพิษมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ผู้นำประเทศกลับไม่เข้าร่วมการประชุม

นักเคลื่อนไหวประท้วงเร่งแก้ปัญหาโลกร้อน

การประชุม COP27 ในครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความเคลื่อนไหวของคนอีกหลายส่วนที่ต้องการให้จัดการกับปัญหาสภาพอากาศอย่างจริงจัง โดยกลุ่มผู้ประท้วงด้านสภาพอากาศรวมตัวในสนามบินที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ขัดขวางไม่ให้เครื่องบินเจ็ทส่วนตัวบินออกจากสนามบินได้ ขณะที่ผู้ประท้วงอีกส่วนหนึ่งรวมตัวปั่นจักรยานไปรอบๆ ลานบิน โดยความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นก่อนหน้าการประชุม COP27 ที่ประเทศอียิปต์

โฆษกของกรีนพีซ เนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เคลื่อนไหวครั้งนี้ ระบุว่า การประท้วงนี้มีขึ้นเพื่อต้องการให้มีการใช้เที่ยวบินน้อยลง รวมไปถึงเที่ยวบินระยะสั้นและเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว และต้องการให้หันไปใช้รถไฟมากขึ้น ขณะที่ตำรวจระบุว่าได้จับกุมผู้ประท้วงจำนวนหนึ่ง เนื่องจากเข้าไปอยู่ในสนามบินโดยไม่ได้รับอนุญาต

ส่วนที่เยอรมนี นักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศช่วยกันปล่อยป้ายข้อความขนาด 70 ตารางเมตร บริเวณใกล้กับปราสาท Neuschwanstein หรือที่รู้จักกันในชื่อปราสาทเทพนิยาย (fairytale castle) โดยกลุ่มผู้ประท้วงต้องการให้กลุ่มผู้มีอำนาจทางการเมืองที่เข้าร่วมประชุม COP27 เร่งดำเนินการอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด เพื่อจำกัดปัญหาภาวะโลกร้อนที่ยังคงดำเนินต่อไป ขณะที่นายกฯ เยอรมนีคาดว่าจะเข้าร่วมประชุม COP27 ตั้งแต่เย็นวันที่ 7 พ.ย.เป็นต้นไป

และที่เมืองชาร์ม เอล เชค ประเทศอียิปต์ กลุ่มผู้ประท้วงรวมตัวบริเวณด้านนอกสถานที่จัดการประชุม พร้อมถือป้ายข้อความให้ยุติการทำปศุสัตว์ ซึ่งเป็นอีกส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาด้านสภาพอากาศ เนื่องจากการปล่อยก๊าซมีเทนในกระบวนการเลี้ยงปศุสัตว์ โดยในปีนี้มีกลุ่มเยาวชนรวมตัวเคลื่อนไหวด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง