10 เรื่องราวน่าทึ่ง - ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในวันวาน

สังคม
10 พ.ย. 65
09:10
817
Logo Thai PBS
10 เรื่องราวน่าทึ่ง - ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในวันวาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กว่า 3 ปีที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ปิดปรับปรุงครั้งใหญ่ เพื่อพัฒนาศักยภาพของสถานที่ให้รองรับกับการจัดการระดับโลกที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ไทยพีบีเอสออนไลน์พาย้อนถึง 10 เรื่องราวอันน่าทึ่งของสถานที่แห่งนี้ ก่อนจะเจอโฉมใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่แพ้กัน

ในอดีตที่ผ่านมา หากประเทศไทยจะจัดการประชุมระดับประเทศซักงาน สถานที่จัดงานส่วนใหญ่จะเป็นตามห้องจัดเลี้ยงของโรงแรมต่างๆ ใน กทม. เนื่องจากในขณะนั้น ประเทศไทยยังไม่เห็นถึงความจำเป็นของศูนย์การประชุมอิสระหรือสถานที่ที่ให้บริการได้ในระดับเดียวกับโรงแรม

ในปี พ.ศ.2532 ประเทศไทยได้รับเลือกจากคณะกรรมการบริหารธนาคารโลก (World Bank) ให้เป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกครั้งที่ 46 (IMF) รัฐบาลไทยจึงมีมติในเดือนพ.ย.2532 

ให้ก่อสร้างสถานที่จัดงานประชุมแห่งชาติที่ได้มาตรฐานสากลขึ้นเพื่อรองรับการประชุมครั้งสำคัญ

บึงน้ำขนาดใหญ่ 53 ไร่ จากทั้งหมด 150 ไร่ ริมถนนรัชดาภิเษกจึงถูกถม เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้าง ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ใช้รองรับงานประชุมระดับนานาชาติครั้งสำคัญที่ไทยเป็นเจ้าภาพ และในเวลาต่อมาก็กลายเป็นสถานที่สำคัญในการจัดประชุมระดับนานาชาติ งานแสดงสินค้า การประกวดต่างๆ เรื่อยยาวมาตลอดเกือบ 27 ปี 

จนกระทั่งเดือนเมษายน 2562 ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ได้ปิดปรับปรุงครั้งใหญ่และถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เปิดใช้งานมา เพื่อปรับปรุง ยกระดับศักยภาพของสถานที่แห่งนี้ ให้สามารถรองรับการจัดงานระดับโลกในอนาคตได้ และ 1 ในงานใหญ่ที่กำลังจะถูกจัดขึ้นในสถานที่แห่งนี้คือ การประชุมเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 ในวันที่ 14-19 พ.ย.2565 

10 เรื่องราวน่าทึ่งของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

1. ชื่อ “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์”

วันพฤหัสบดีที่ 29 ส.ค.2534 ศูนย์การประชุมแห่งนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้พระนามเป็นชื่อของศูนย์การประชุม เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เป็นที่มาของชื่อ “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” มาจนถึงทุกวันนี้

ที่มา : Queen Sirikit National Convention Center

ที่มา : Queen Sirikit National Convention Center

ที่มา : Queen Sirikit National Convention Center

2. สร้างได้เพราะ World Bank

ในปี พ.ศ.2532 ประเทศไทยได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการบริหารธนาคารโลก (World Bank) ให้จัดการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกครั้งที่ 46 (IMF) ซึ่งการประชุมนั้นจะมีขึ้นในปี พ.ศ. 2534 รัฐบาลไทยเห็นว่ายังพอมีเวลาเหลือพอที่จะสร้างสถานที่แห่งใหม่เพื่อรับรองการประชุมระดับนานาชาติ จึงลงมติให้สร้าง ศูนย์ฯ สิริกิติ์ โดยกำหนดระยะเวลาสร้างให้เสร็จทันกำหนดการประชุมในเดือนต.ค.2534

3. สร้างเสร็จเร็วกว่ากำหนด

ย้อนกลับไปราว 30 ปีที่แล้ว ประเทศไทยเองก็ยังไม่ได้มีนวัตกรรมใหม่อะไรมากมาย ศูนย์ฯ สิริกิติ์ในขณะนั้นถือว่าเป็นโครงการที่ใหญ่มาก เป็นงานเร่งด่วนแต่ต้องออกมาดีที่สุด แต่แรงงานและวัสดุก่อสร้าง รวมถึงช่างฝีมือก็ขาดแคลน แต่ด้วยความพยายาม ในที่สุด ศูนย์ประชุมแห่งนี้ก็สามารถเสร็จได้ทันก่อนกำหนดเวลา โดยใช้เวลาในการก่อสร้างเพียง 16 เดือนเท่านั้น จากที่วางกำหนดไว้ 20 เดือน

4. นำเทรนด์ประหยัดพลังงาน-รักษ์โลก

ย้อนกลับไป 30 ปีก่อนอีกเช่นกัน เรื่องการประหยัดพลังงาน แนวความคิดรักษ์โลก ยังไม่แพร่หลายเหมือนในปัจจุบันนี้ แต่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ได้นำแนวคิดประหยัดพลังงานเข้ามาใช้ เช่น ระบบไฟฟ้าและแสงสว่างพิเศษ ควบคุมระบบแสงสำหรับห้องประชุมด้วยคอมพิวเตอร์ ม่านไฟฟ้าไฮเทคพลังงานแสงอาทิตย์ กำหนดให้แสงผ่านหลังคาได้บางส่วน เพิ่มความสว่างและความโปร่งของตัวอาคาร เป็นต้น

ที่มา : Queen Sirikit National Convention Center

ที่มา : Queen Sirikit National Convention Center

ที่มา : Queen Sirikit National Convention Center

5. สถาปัตยกรรมไทยผ่านตัวอาคาร 

อาคารแห่งนี้ถูกออกแบบให้มีชายคาแผ่กว้าง ต่ำเกือบจรดพื้น ระนาบหลังคาลาดชัน สะท้อนลักษณะเด่นของหลังคาไทย ทางเข้าหลักด้านหน้าเน้นด้วยมุข ทำเป็นหลังคารูปจั่วซ้อนสามชั้น ทั้งหมดแสดงถึงการประยุกต์รูปแบบของสถาปัตยกรรมไทยในอดีตแทบทั้งสิ้น

ที่มา : Queen Sirikit National Convention Center

ที่มา : Queen Sirikit National Convention Center

ที่มา : Queen Sirikit National Convention Center

6. ศิลปะ 1,500 ชิ้นแทนทูตวัฒนธรรม

ภายในอาคารยังมีผลงานศิลปะกว่า 1,500 ชิ้นที่ถูกนำมาตกแต่งให้สื่อถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ทำให้งานศิลปะเหล่านี้ได้ทำหน้าที่เป็นทูตวัฒนธรรมไปในตัว เช่น "พระราชพิธีอินทราภิเษก" ประติมากรรมไม้จำหลักนูนต่ำนูนสูงและกึ่งลอยตัว, "หนังใหญ่เรื่องรามเกียรติ์" การฉลักหนังของภาคใต้ เล่าเรื่องการศึกครั้งสุดท้าย ระหว่างพระรามกับทศกัณฑ์ จากวรรณคดีไทยเรื่องรามเกียรติ์, บานลายรดน้ำรูปกัลปพฤกษ์ เป็นต้น

ที่มา : Queen Sirikit National Convention Center

ที่มา : Queen Sirikit National Convention Center

ที่มา : Queen Sirikit National Convention Center

7. ศิลปะพื้นบ้านสอดแทรกวัฒนธรรม

นอกจากผลงานศิลปะสะท้อนความเป็นไทยแล้ว ภายในศูนย์ฯ สิริกิติ์แห่งนี้ ยังถูกตกแต่งไปด้วยศิลปะพื้นบ้านอีกมากมาย อาทิเช่น "นาคฮดสรง" หรือรางสำหรับใช้ในการสรงน้ำแก่พระภิกษุผู้ใหญ่ที่ได้เลื่อนยศตามประเพณีของชาวอีสาน, ประติมากรรมลอยตัวรูปพญานาคราช ที่ได้แรงบันดาลใจจากนาคศิลปะเขมร ราวบันไดสะพานนาคราช ปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์

เพื่อสื่อให้ผู้เข้ามาเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้ได้เห็นถึงความเท่าเทียมกันในทุกผลงานและทุกแนวความคิดของวัฒนธรรมไทยในทุกภูมิภาค

8. 27 ปี อีเวนต์ 20,000 กว่างาน

ก่อนที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ จะปิดปรับปรุงครั้งใหญ่เป็นเวลา 4 ปี (ตามแผนการดำเนินงานโครงการ) ระยะเวลาร่วม 27 ปีที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ เปิดดำเนินการนั้น ได้ทำหน้าที่รองรับการจัดงานการประชุม งานแสดงสินค้า นิทรรศการ ฯลฯ มากถึง 22,709 งาน

9. ก้าวสู่ MICE หลังเสร็จสิ้นภารกิจแรกทันที

หลังจากการประชุม IMF ครั้งที่ 46 เสร็จสิ้นลงไปแล้วนั้น ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ได้รับคำชื่นชมจำนวนมากในด้านความพร้อมของสถานที่ จนทำให้ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านธุรกิจไมซ์ (MICE ; Meeting, Incentive travel, Convention, Exhibition) ในประเทศไทยทันที

ปัจจุบัน ศูนย์ฯ สิริกิติ์อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง และบริหารงานโดยบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด

10. โลกุตระ สัญลักษณ์ศูนย์ฯ สิริกิติ์

งานศิลปะร่วมสมัยที่สร้างขึ้นในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน ใช้แนวความคิดด้านพุทธธรรมมาเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทาง เพื่อมุ่งสู่จุดหมายปลายทางแห่งศิลปะ ประติมากรรมชิ้นนี้เป็นสัญลักษณ์และภาพจำตลอดมา และเป็นผลงานของ ชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ประจำปี 2541

ที่มา : Queen Sirikit National Convention Center

ที่มา : Queen Sirikit National Convention Center

ที่มา : Queen Sirikit National Convention Center

แม้ในวันนี้ ศูนย์ฯ สิริกิติ์ จะถูกปรับปรุงใหม่เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่แนวทางต่างๆ ที่ได้วางไว้ตั้งแต่แรกสร้างนั้น ก็ยังถูกนำมาประยุกต์ใช้กับอาคารหลังใหม่ในปัจจุบัน เช่น

โครงการป่ารักน้ำ พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ที่เป็นแนวทางสำคัญในการออกแบบพื้นที่ของศูนย์ฯ สิริกิติ์หลังใหม่ ให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมของสวนและทะเลสาบในสวนเบญจกิติ 

คอนเซ็ปต์ Eco-friendly & Smart City การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารที่ยังคงเน้นใช้แสงธรรมชาติให้มากที่สุดเพื่อประหยัดพลังงานให้ได้มากที่สุด และการปรับตัวให้สอดคล้องกับยุคสมัยโดยการนำคอนเซ็ปต์ สมาร์ต ซิตี้ มาใช้เพื่อคงความทันสมัยที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุด

 

ที่มา : QSNCC, Wikipedia

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผู้ว่าฯ กทม. ชวนเป็นเจ้าภาพที่ดีต่อผู้มาประชุม APEC 2022

ข่าวที่เกี่ยวข้อง