จาก "ละคร" สู่ "ร้านขนมไทย" ของ หนุ่มวัย 27 ปี

ไลฟ์สไตล์
11 พ.ย. 65
11:53
2,242
Logo Thai PBS
จาก "ละคร" สู่ "ร้านขนมไทย" ของ หนุ่มวัย 27 ปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ขนมเปียกปูน" จากละคร กลับสร้างเป็นแรงบันดาลใจให้หนุ่มวัย 23 ปี ผันตัวมายึดอาชีพทำขนมไทย กับเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เน้นสร้างความแตกต่าง จนทำให้ลูกค้าประทับใจ

พ่อค้าหนุ่ม แต่งกายชุดผ้าไทย นั่งขายขนมไทยกับพื้น มีที่นั่งเล็กๆ 5-6 ตัว อยู่หน้าร้าน แต่ที่นั่งเหล่านั้นไม่ว่างเว้นจากลูกค้าเลย พ่อค้า แม่ขาย หน้าตายิ้มแย้ม คุยเป็นกันเอง เชิญชวนลูกค้าทั้งให้ลองชิมขนม ทั้งเชิญถ่ายรูปได้ตามสบาย บวกกับหน้าตาของขนมไทยที่น่ากินไปซะทุกอย่าง สร้างจุดสนใจให้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาที่ตลาดถนนคนเดิน เมืองนครพนม ไม่ใช่น้อย

เราได้มีโอกาสได้พูดคุยกับเจ้าของร้าน น้องจูเนียร์ ณัฐพล บุนนาค อายุ 27 ปี ถึงแนวคิดในการยึดอาชีพนี้ จูเนียร์ เล่าว่า ปัจจุบัน อายุ 27 ปี เป็นคน กทม. แต่กำหนด ใช้ชีวิตอยู่เมืองหลวง ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเรียนจบทำงานออฟฟิศ วันหนึ่งต้องย้ายตามคุณพ่อมาอยู่ที่ จ.นครพนม แต่ชีวิตไม่ได้เป็นไปอย่างที่วางแผนไว้ ต้องกลายเป็นคนตกงานไปโดยปริยาย

จุดเริ่มต้น

จาก “ขนมเปียกปูน” ของแม่เรณู ใน “ละครกรงกรรม” กลายเป็นแรงบันดาลใจ ให้หนุ่มน้อยวัย 23 ปี ในขณะนั้น เริ่มต้นการทำขนมเปียกปูน ด้วยความรู้ที่เป็นศูนย์ ศึกษาสูตรจาก YouTube ลองผิดลองถูกมาหลายครั้งหลายหน น้อมรับคำติชมของคนในครอบครัวและเพื่อนบ้าน นำไปสู่การพัฒนาสูตรไปเรื่อยๆ กว่าจะได้สูตรที่ลงตัว จนเป็นรสชาติเฉพาะของทางร้านและถูกปากของลูกค้า

เงินลงทุน-รายได้

จากขนมเปียกปูน แค่อย่างเดียว ค่อยเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีขนมที่วางขายหน้าร้าน กว่า 40 ชนิด

เมื่อได้สูตรขนมเปียกปูนที่ลงตัว ก็ทำวางขายหน้าบ้าน และขายดีตั้งแต่วันแรก ต่อมาก็เพิ่ม หม้อแกง ขนมถ้วย ตะโก้ ทองหยิบทองหยอด กลีบลำดวน รวมถึงขนมลืมกลืนขนมที่หากินได้ยาก และขนมไทยอีกนานาชนิด

จากการลงทุนกับขนมเปียกปูนเริ่มต้นแค่ 500-600 บาท ณ วันนี้จูเนียร์ต้องใช้ลงทุนถึงวันละ 30,000 บาท สำหรับการเตรียมวัตถุดิบเพื่อทำขนมไทยกว่า 40 ชนิดต่อวัน

ส่วนราคาก็จะมีเริ่มต้นตั้งแต่ชิ้นละ 10 15 18 บาท จนถึง 35 บาท แล้วแต่ชนิดของขนม ซึ่งจูเนียร์มองว่าเป็นราคาที่ลูกค้าสามารถจับต้องได้ ซึ่งรายได้ต่อวันที่จูเนียร์ได้รับอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท

คุณภาพเป็นสิ่งสำคัญ

จูเนียร์ เล่าว่า นอกจากรสชาติของขนมที่อร่อย เข้มข้น ไม่หวานจนเกินไป และสดใหม่ ทำวันต่อวัน สิ่งที่สำคัญคือวัตถุดิบที่เป็นส่วนผสม โดยทางร้านจะเลือกวัตถุดิบอย่างดี อย่างเช่นน้ำตาลก็สั่งตรงมาจากเพชรบุรี

การใช้วัตถุดิบที่ดีไม่ได้มองว่าเป็นการเพิ่มต้นทุน แต่เพื่อเป็นการทำให้ลูกค้าได้สินค้าที่มีคุณภาพ เมื่อลูกค้ามีความสุขที่ได้กินของอร่อยเราก็มีความสุขด้วย นอกจากขายขนมแล้ว เรายังขายความสุขให้กับลูกค้าด้วย
อาทิตย์หนึ่งจะขายขนมเพียง 3 วัน ส่วนวันที่เหลือคือตั้งแต่วันจันทร์ ถึงวันพฤหัสบดี จะต้องเตรียมวัตถุดิบ

สร้างจุดแตกต่าง

นอกจากรสชาติขนมไทยที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของทางร้าน จูเนียร์ก็ได้สร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากร้านอื่นด้วยการแต่งกายด้วยชุดไทยกันทุกคน นั่งขายขนมกับพื้นและมีเก้าอี้เล็กๆ ให้ลูกค้าได้นั่งกินที่ร้าน นอกเหนือจากการซื้อกลับบ้าน
โดยจูเนียร์บอกว่าเป็นการสร้างสัมพันธ์ ได้มีการพูดคุยระหว่างพ่อค้าแม่ค้ากับลูกค้าเพื่อสร้างความเป็นกันเอง

การแต่งกายด้วยชุดไทยเป็นการอนุรักษ์ความเป็นไทย และมีที่นั่งทำให้นึกถึงบ้านสมัยก่อน นอกจากนี้แล้วยังได้สร้างสัมพันธ์ได้พูดคุยกับลูกค้า ทำให้ลูกค้านั่งกินแบบสบายๆ ราวกับได้อยู่บ้านของตัวเอง

การโปรโมทร้าน

ด้วยรสชาติขนมบวกกับอัธยาศัยดีของพ่อค้าแม่ค้า เป็นจุดสำคัญที่สร้างความประทับใจให้ลูกค้าที่แวะเวียนมาลิ้มลอง “การบอกปากต่อปากของลูกค้า” คือการโปรโมทที่ดีเยี่ยม

ลูกค้าบางคนก็เป็นลูกค้าประจำมาเจอกันทุกอาทิตย์ บางคนบินมาจากภูเก็ตก็มี

กำลังใจจากครอบครัว

จูเนียร์ บอกว่า คุณพ่อ คุณแม่ ก็สนับสนุนอยากให้ทำกิจการของตัวเอง และทำในสิ่งที่ชอบ ซึ่งตอนนี้ขายขนมก็สร้างรายได้ที่สามารถดูแลตัวเอง และครอบครัวได้ ซึ่งคุณพ่อและคุณแม่ก็ได้ช่วยทำขนม ทั้งยังช่วยขายด้วย และภูมิใจที่เราสามารถมีร้านซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า โดยในอนาคตอยากมีร้านเป็นของตนเอง ที่ลูกค้าสามารถแวะเวียนไปหาได้ทุกวัน

ร้านขนมไทยนี้มีหน้าร้านวางขายตลาดถนนคนเดิน เปิดทุกวันศุกร์ เสาร์ และ อาทิตย์ ที่ใครๆ ก็รู้จักในนาม “ขนมไทยตลาดนัดคนเดิน” ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ชื่อร้าน แต่เป็นชื่อที่ทุกคนย่านนี้ต่างเรียนขานกันจนเป็นชื่อที่ถูกจดจำกันมาตลอด

 

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง