เจอตัวยาก "เสือไฟ" โชว์ตัวกลางถนนป่าภูเขียว

สิ่งแวดล้อม
17 พ.ย. 65
14:09
585
Logo Thai PBS
เจอตัวยาก "เสือไฟ" โชว์ตัวกลางถนนป่าภูเขียว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ ชี้นักท่องเที่ยวถ่ายภาพ "เสือไฟ" สัตว์ป่าหายากแบบตัวเป็นๆ โชว์ตัวกลางถนนทางเข้าภูเขียว แม้จะเคยเดินผ่านกล้องดักถ่ายภาพ แต่ไม่ชัดเท่า IUCN จัดอยู่ในหมวดใกล้ถูกคุกคาม

วันนี้ (17 พ.ย.2565) เพจเฟซบุ๊กประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยภาพ "เสือไฟ" สัตวป่าหายาก ซึ่งน.ส.จิราวรรณ คล้ายทอง นักท่องเที่ยวถ่ายภาพได้ในระหว่างไปท่องเที่ยวที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สอบถามข้อมูลพิ่มเติม เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ระบุว่า ภาพเสือไฟ ที่นักท่องเที่ยวถ่ายภาพได้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา ในระหว่างเส้นทางเข้ามาที่ภูเขียว

โดยถือเป็นภาพถ่ายเสือไฟตัวเป็นๆ ที่ชัดเจนที่สุด ตั้งแต่เคยมีการรายงาน แม้ว่าก่อนหน้านี้ จะมีการถ่ายติดภาพเสือไฟ จากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า แต่ไม่เคยมีการถ่ายหรือเห็นตัวได้ชัดขนาดนี้มาก่อน 

เสือไฟ เป็นเสือขนาดเล็ก ค่อนข้างหายาก แม้จะมีการถ่ายภาพตอนเดินผ่านกล้องดักถ่าย แต่ไม่ชัดเท่านี้มาก่อน เพราะเป็นเสือที่ปราดเปรียว และเจอตัวยาก ตัวที่ถ่ายภาพเป็นการถ่ายระยะไกล 

เจ้าหน้าที่จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว กล่าวอีกว่า ขณะนี้เป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว และเป็นช่วงฤดูหนาวที่อาจจะเจอสัตว์ป่าออกมารับความอบอุ่นบนถนน จึงมีโอกาสเจอสัตว์ป่าหายากในพื้นที่ได้ ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการท่องเที่ยว ซึ่งในพื้นที่มีการกำหนดกางเต็นท์ไม่เกิน 50 คนต่อวัน 

รู้จักเสือไฟ สัตว์ป่าในบัญชีใกล้ถูกคุกคาม 

สำหรับ "เสือไฟ" ทางสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) จัดอยู่ในหมวด NT หรือ ใกล้ถูกคุกคาม เป็นเสือที่มีขนาดกลาง รูปร่างบึกบึนขาค่อนข้างยาว ลำตัวสีเรียบ มีลวดลายน้อย มีสีพื้นน้ำตาลแดงจนถึงแดงคล้ายเก้ง บางตัวอาจจะมีสีดำ น้ำตาล เทา

มีลักษณะเด่นบริเวณใบหน้าที่มีแถบสีขาวเหนือตาและแก้ม หางยาวปลายหางด้านล่างมีสีขาวตลอด ท้องและใต้หางมีสีขาว มักหากินในเวลากลางคืนและล่าเหยื่อตามลำพังบนพื้นดิน

อาหารที่ชอบกินคือหนู กระต่าย ลูกเก้ง และนกเล็ก ๆ พบอาศัยอยู่ตามป่าดิบและป่าเบญจพรรณ มีระยะเวลาในการตั้งท้องประมาณ 100 วัน ออกลูกครั้งละ 1 – 2 ตัวเพียงเท่านั้น จึงพบตัวไม่บ่อยนัก) น้ำหนักตัวประมาณ 12-15 กิโลกรัม (ขอบคุณภาพถ่ายจาก : คุณจิราวรรณ คล้ายทอง) 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง