"อีลอน มัสก์" พร้อมลาเก้าอี้ CEO ทวิตเตอร์ หลังโพลล์โหวตเห็นด้วย 57%

ต่างประเทศ
21 ธ.ค. 65
12:37
275
Logo Thai PBS
"อีลอน มัสก์" พร้อมลาเก้าอี้ CEO ทวิตเตอร์ หลังโพลล์โหวตเห็นด้วย 57%
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อีลอน มัสก์ ออกมาเคลื่อนไหวครั้งแรก หลังผลสำรวจว่าเขาควรลงจากตำแหน่งผู้บริหารทวิตเตอร์หรือไม่ มีผู้ร่วมโหวตกว่า 17 ล้านบัญชี เห็นด้วยไปแล้ว 57% โดยเขาออกตัวว่า พร้อมจะลาออกจากตำแหน่งทันทีที่เจอคนโง่พอจะมาทำงานนี้แทน

หลังจากทำแบบสอบถามความเห็นว่า ควรลงจากตำแหน่งผู้บริหารบริษัทหรือไม่ ผ่านทางทวิตเตอร์ ซึ่งมีผู้ร่วมโหวตกว่า 17 ล้านบัญชี โดยในจำนวนนี้ 57.5% โหวตเห็นด้วยที่มัสก์ควรจะลงจากตำแหน่ง ล่าสุด อีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัททวิตเตอร์มีความเคลื่อนไหวแล้ว

วันนี้ (21 ธ.ค.2565) อีลอน มัสก์ ได้ทวีตตอบกลับโพลล์สำรวจความคิดเห็นดังกล่าว โดยระบุว่า "ผมจะลาออกจากตำแหน่ง CEO ทันทีที่เจอบางคนที่โง่พอที่จะมาทำงานนี้ หลังจากนั้นผมจะไปเดินหน้าต่อกับทีมซอฟต์แวร์และเซิร์ฟเวอร์"

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า การสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากทวิตเตอร์ ประกาศนโยบายใหม่ว่า จะไม่อนุญาตให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์ ทำการโฆษณาบัญชีจากแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ รวมถึง Facebook, Instagram และ Mastodon ซึ่งเป็นคู่แข่งของทวิตเตอร์

อย่างไรก็ตาม หลังจากมัสก์ เข้ามาเป็น CEO ในช่วงเวลาสั้น ๆ ทวิตเตอร์ได้เลิกงานพนักงานครั้งใหญ่ และเปิดให้บัญชีทวิตเตอร์ของโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้กลับมาใช้งานอีกครั้ง หลังจากถูกระงับไปเนื่องจากการจลาจลรัฐสภา รวมถึงการผลักดันฟีเจอร์ชำระเงินเพื่อยืนยันตัวตน และถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างอีกครั้งหลังมีการระงับบัญชีผู้สื่อข่าวหลายคนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

กระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนต่างเรียกร้องให้มัสก์ลาออกจากตำแหน่ง CEO ของทวิตเตอร์ โดยให้เหตุผลว่า การเข้ามาบริหารทวิตเตอร์ส่งผลให้เขาเสียสมาธิกับการบริหาร Tesla บริษัทรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบมากยิ่งขึ้น หลังหุ้นของบริษัทร่วงลงมากกว่า 65% ในปีที่ผ่านมา อีกทั้งมัสก์ยังขายหุ้น Tesla มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสมทบทุนซื้อทวิตเตอร์ไปก่อนหน้านี้ด้วย หลังจากนี้จึงอาจต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ใครจะเข้ามาเป็น CEO คนใหม่ของทวิตเตอร์ และก้าวต่อไปของแอปพลิเคชันนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

ที่มา : BBC, CNN

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง