ญี่ปุ่นผลิต "หมวกกันน็อก" จากเปลือกหอย น้ำหนักเบา เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

Logo Thai PBS
ญี่ปุ่นผลิต "หมวกกันน็อก" จากเปลือกหอย น้ำหนักเบา เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
บริษัทสตาร์ตอัปในญี่ปุ่น ผุดไอเดียสร้างสรรค์ผลิต "หมวกกันน็อก" จากเปลือกหอยเชลล์ ช่วยเปลี่ยนขยะจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลมาเป็นหมวกนิรภัยน้ำหนักเบา ใช้งานได้จริง

หลังจากที่รัฐบาลยุติการส่งออกเปลือกหอยไปยังประเทศอื่น ๆ เพื่อรีไซเคิล ตั้งแต่ปี 2021 ทำให้มีขยะจากเปลือกหอยหลงเหลืออยู่ที่หมู่บ้านซารุฟุสึ ประเทศญี่ปุ่น มากถึง 40,000 ตันต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะที่เกิดจากอุตสาหกรรมการทำอาหารทะเล โดยเปลือกหอยเชลล์เหล่านี้ถูกทิ้งกองไว้จนสูงเป็นภูเขา

หากเปลือกหอยเหล่านี้ถูกทิ้งทับถมไว้เป็นเวลานาน จะส่งผลเสียต่อคุณภาพของดินและระบบนิเวศ บริษัทสตาร์ตอัปในญี่ปุ่นจึงผุดไอเดีย เปลี่ยนเปลือกหอยที่ถูกทิ้งเหล่านี้ให้เป็น "หมวกกันน็อก" ที่มีน้ำหนักเบา ใช้งานได้จริง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

"หมวกกันน็อก" จากเปลือกหอย (HOTAMET) มีน้ำหนักเบา ประมาณ 400 กรัมเท่านั้น โดยกระบวนการผลิตเริ่มจากการนำเปลือกหอยเชลล์ไปต้มในเดือดและทำการฆ่าเชื้อด้วยวิธีสเตอร์ไรด์ (Sterile) ทีละชิ้น ก่อนจะนำไปบดแล้วอัดเป็นเม็ดเล็ก ๆ จากนั้นนำไปขึ้นพิมพ์เพื่อทำเป็นหมวกกันน็อก โดยทำลวดลายที่สวยงามเลียนแบบเปลือกหอย

เปลือกหอยเซลล์เป็นวัสดุที่แม้จะแข็งแรงแต่ก็แตกหักง่าย จึงไม่เหมาะจะนำมาใช้เป็นวัสดุเดี่ยว ๆ สำหรับขึ้นพิมพ์เป็นหมวกกันน็อก จึงจำเป็นต้องเพิ่มพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างอื่นเข้าไปในส่วนผสม เพื่อสร้างคุณสมบัติที่ทนทาน และมีน้ำหนักเบาให้กับหมวกกันน็อก

หมวกกันน็อกจากเปลือกหอยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แข็งแรง ทนทาน และมีน้ำหนักเบา สามารถใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน เหมาะกับการใส่เพื่อปั่นจักรยาน ตลอดจนการใช้งานที่เสี่ยงอันตราย เช่น การตรวจสอบงานในไซต์งานก่อสร้าง และการป้องกันภัยพิบัติ อีกทั้งยังมีดีไซน์ที่สวยงาม โดยผู้ผลิตวางแผนที่จะจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ภายในปี 2023

ที่มาข้อมูล: makuake, designboom
ที่มาภาพ: makuake
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง