การพิมพ์ 3 มิติ ช่วยสร้างเนื้อเยื่อตา ความหวังรักษา "โรคจอประสาทตาเสื่อม"

Logo Thai PBS
การพิมพ์ 3 มิติ ช่วยสร้างเนื้อเยื่อตา ความหวังรักษา "โรคจอประสาทตาเสื่อม"
นักวิจัยจากสถาบันจักษุแห่งชาติ สหรัฐฯ สร้างเนื้อเยื่อตาด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ชีวภาพ 3 มิติ ความหวังใหม่การรักษา "โรคจอประสาทตาเสื่อม"

ชาวอเมริกันเกือบ 20 ล้านคนต้องประสบปัญหาโรคจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ เป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียการมองเห็นในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการตาบอดและการสูญเสียการมองเห็นของคนทั่วโลก สถาบันจักษุแห่งชาติ (National Eye Institute หรือ NEI) ของสหรัฐอเมริกา จึงได้คิดค้นวิธีรักษาโรคนี้ ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ชีวภาพ 3 มิติ (3D Bioprinting)

จอประสาทตาเสื่อมตามอายุ (AMD) มีสาเหตุมาจากเนื้อเยื่อจอประสาทตาในเลือดชั้นนอก (oBRB) ที่สร้างจากเยื่อบุผิวที่มีเม็ดสีเรตินา (RPE) เยื่อหุ้มบรูช (Bruch) และชั้นของเส้นเลือดฝอย (Choriocapillaris) ในผู้ที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม จะมีไลโปโปรตีนที่สะสมอยู่ เรียกว่า ดรูเซน (Drusen) ก่อตัวนอกเยื่อหุ้มบรูชซึ่งขัดขวางการทำงาน เมื่อเวลาผ่านไป RPE จะสลายตัว ซึ่งนำไปสู่การเสื่อมของเซลล์รับแสงและการสูญเสียการมองเห็น

นักวิจัยจากสถาบันจักษุแห่งชาติ ได้พิมพ์ชุดเซลล์ที่สร้างสิ่งกีดขวางจากเลือดและเรตินาด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ชีวภาพ 3 มิติ ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อตาที่รองรับเซลล์ที่รับแสงของเรตินา วิธีการนี้จะนำมาใช้ศึกษาโรคจอประสาทตาเสื่อม เช่น โรคจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ

โดยทำการพิมพ์เซลล์รวมกันเพื่อสร้างเนื้อเยื่อจอประสาทตาด้านนอก ด้วยการใช้อัตราส่วนผสมของเซลล์ที่เหมาะสมซึ่งเป็นเซลล์คอรอยด์ 3 ชนิดในไฮโดรเจล ประกอบด้วยเซลล์เพริไซต์ (Pericytes cell) และเซลล์บุผนังหลอดเลือด (Endothelial cell) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเส้นเลือดฝอย และไฟโบรบลาสต์ (Fibroblasts) ซึ่งเป็นโครงสร้างเนื้อเยื่อ จากนั้นเซลล์เริ่มเติบโตเป็นเครือข่ายเส้นเลือดฝอยหนาแน่นภายในไม่กี่วัน

หลังจากนั้น นักวิจัยได้เพาะเซลล์เยื่อบุผิวเม็ดสีเรตินา แล้วใช้เวลาอีกหนึ่งเดือนรอให้เนื้อเยื่อเติบโตเต็มที่ โดยเนื้อเยื่อที่พิมพ์ออกมามีลักษณะและพฤติกรรมคล้ายกับเนื้อเยื่อจอประสาทตาชั้นนอก โดยการทดลองนี้ส่งผลให้เกิดแบบจำลองเนื้อเยื่อเรตินาที่เกี่ยวข้องกับโรคจอประสาทตาเสื่อม เพื่อใช้ในการพัฒนาการบำบัดรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมในอนาคต 

ที่มาข้อมูล: nih, dailymail, scienceboard
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง