กุมารแพทย์ หนุนเลิกสวมแมสก์ ส่งผลดีพัฒนาการเด็กเล็ก

สังคม
13 ม.ค. 66
19:13
578
Logo Thai PBS
กุมารแพทย์ หนุนเลิกสวมแมสก์ ส่งผลดีพัฒนาการเด็กเล็ก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กุมารแพทย์ ระบุการสวมหน้ากากอนามัยในเด็กเล็กต่อเนื่องเป็นเวลานาน กระทบพัฒนาการของเด็กวัยนี้ จนอาจขาดความมั่นใจในตัวเอง เพราะการสื่อสารจะเน้นทางแววตา อารมณ์ เพื่อดูปฏิสัมพันธ์ผู้ตอบรับ
กระต๊ากๆๆ 

เสียงครูบอกกับเด็กๆ ให้อ่านออกเสียงตาม พร้อมกับตั้งคำถามว่าเป็นเสียงของอะไร 

เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วิธีการออกเสียงพยัญชนะผ่านนิทาน คุณครูประจำชั้นอนุบาล โรงเรียนวัดบางโพโอมาวาส จำเป็นต้องถอดหน้ากากอนามัย เพื่อให้เด็กๆ สังเกตรูปปากได้ง่ายขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ และสร้างการจดจำที่ถูกต้อง

น.ส.นันทพร บุญสิทธิ์ ผอ.รร.วัดบางโพโอมาวาส เขตบางซื่อ ยอมรับว่าการสวมหน้ากากอนามัยระหว่างเรียนเป็นผลดีต่อการป้องกันโรค แต่ในเด็กระดับชั้นอนุบาลไม่สามารถควบคุมให้เด็กใส่ได้อย่างถูกวิธี

โดยพบว่า เด็กสื่อสารได้ยากขึ้น มีอาการเหนื่อยง่ายบางคนรู้สึกอึดอัด และส่งผลต่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กวัยนี้

หน้ากากอนามัยที่เด็กสวมใส่ระหว่างเรียนจะมีปัญหาในการสื่อสาร เพราะเด็กเล็กจะสื่อสารจากท่าทาง มองที่ปากและครูทำกิจกรรม เด็กจะขอถอดหน้ากาก มองปากของครูเพื่อดูสิ่งที่ครูสื่อสารมาคืออะไร 

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ระบุว่า เด็กอนุบาล และเด็กประถม มีภูมิคุ้มกันถึงร้อยละ 80 และได้รับวัคซีนไปแล้วจำนวนหนึ่งแม้จะมีโอกาสติดซ้ำ แต่อาการจะไม่รุนแรง จึงแนะนำ อาจไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยในโรงเรียนแล้ว

เนื่องจากกระทบพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ยกเว้นอยู่ในพื้นที่สาธารณะ สิ่งสำคัญ ควรเน้นการล้างมือ ดูแลสุขอนามัย และทำความสะอาดของสถานที่

ชี้สวมหน้ากากอนามัย-ลดทอนการสื่อสารทางอารมณ์

ขณะที่ รศ.พิเศษ พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ กุมารแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ กล่าวว่า การสวมหน้ากากอนามัยในเด็กปฐม วัย ประโยชน์ที่ได้จากการป้องกันโรคน้อยกว่าความเสี่ยงต่อพัฒนาการ ด้านอารมณ์และสังคมของเด็กวัยนี้ ที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างและสิ่งแวดล้อม

เพราะเด็กต้องเรียนรู้ว่าเวลาที่ปฏิสัมพันธ์กับใคร อารมณ์ และความรู้สึก สื่อสารทางสีหน้าแววตา 70% คำพูดแค่ 30% ถ้าเด็กไม่เห็นสีหน้าแววตาอาจจะสื่อสารคลาดเคลื่อน จะไม่รู้ว่าผู้รับสารมีการตอบสนองอย่างไร และอาจมีผลต่อความมั่นใจ

แต่ในมุมมองของผู้ปกครอง ยังมีทั้งส่วนที่เห็นด้วยและกังวลใจต่อสถานการณ์ของโรค จึงยังคงให้ลูกหลานสวมหน้ากากอนามัยต่อไป บางคนมองว่าน่าจะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ แต่ยังกลัวอยู่ 

ขณะที่ผู้ปกครองอีกคน มองว่าขึ้นกับโรงเรียนที่ลูกไปเรียนมีความปลอดภัยเพีียงพอที่เด็กจะถอดหน้ากากอนามัย และเรียนได้อย่างเต็มที่ 

สัปดาห์หน้า กรมควบคุมโรค เตรียมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยว ชาญด้านการระบาดการติดเชื้อในเด็ก เพื่อพิจารณาว่าสมควรถอดหน้ากากอนามัยใน เด็กเล็กหรือไม่ หากมีข้อมูลวิชาการรองรับไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมออกเป็นคำแนะนำต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เช็กอินกิจกรรมวันเด็ก 2566 มีจัดที่ไหนบ้าง

โอมิครอน "XBB.1.5" ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากที่สุด ทั่วโลกพบ 38 ประเทศ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง