โชว์นวัตกรรม AR สร้างภาพจำลองฝึกทักษะ CPR

Logo Thai PBS
โชว์นวัตกรรม AR สร้างภาพจำลองฝึกทักษะ CPR
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แพทย์จุฬาฯ ร่วมกับ บริษัทเอกชน ดึงเทคโนโลยี AR เสริมประสิทธิภาพด้านการแพทย์ เปิดตัวนวัตกรรมสร้างภาพจำลองฝึกการกู้ชีพพื้นฐาน (CPR) เพื่อความสมจริงมากขึ้น ส่งผลดีต่อการตัดสินใจช่วยเหลือ เพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด แถลงข่าว Augmented Reality Hololens for CPR การเปิดตัวนวัตกรรมสร้างภาพจำลองฝึกการกู้ชีพพื้นฐาน เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2566 ที่ผ่านมา โดยภายในงานมีกิจกรรม การฝึกสอนการกู้ชีพพื้นฐานกับหุ่นจำลองให้แก่ประชาชนทั่วไป 

 

ผศ.นพ.สุชัย สุเทพารักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์ฝึกทักษะการแพทย์เสมือนจริง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า ภาวะหัวใจหยุดเต้นยังคงเป็นสาเหตุสําคัญของการเสียชีวิต ทั้งในประเทศไทยและนานาชาติ ในสหรัฐฯ มีอัตราอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล 356,000 คน ต่อปี

ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในสถานที่พักของผู้ป่วย มีเพียง 9% ที่สามารถรอดชีวิตและสามารถกลับบ้านได้ และมีแค่ 7% เท่านั้นที่สามารถที่กลับบ้านได้โดยที่มีการใช้ชีวิตได้ตามปกติ (good functional status)

เนื่องจากพบว่าผู้ที่เริ่มทําการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานโดยการกดหน้าอกเป็นผู้ที่ยังขาดประสบการณ์ในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานถึง 40% และมีผู้ที่ใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติเป็น เพียง 9% เท่านั้น

สำหรับประเทศไทยแม้ไม่มีการศึกษาอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจหยุดเต้นแน่ชัด แต่เคยมีการศึกษาในปี 2013 พบว่า 145 คน ที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล มีเพียง 7.6% เท่านั้นที่สามารถกลับบ้านได้

 

ดังนั้น การฝึกให้มีทักษะในการช่วยชีวิตพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจึงมีความสําคัญยิ่งต่อการเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย ปัจจุบันแม้จะมีการฝึกการกู้ชีพพื้นฐานมากขึ้นด้วยวิธีต่าง ๆ รวมถึงมีหุ่นจําลองที่เป็นมาตรฐานในการฝึกฝนทักษะการกดหน้าอกแต่ยังขาดความสมจริงหลายประการ ความสามารถในการช่วยชีวิตของผู้ประสบเหตุ และอัตราการใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจเองนั้นยังถือว่าน้อยมาก โดยอาจเกิดจากการขาดประสบการณ์ อาจจะเป็นผลมาจากการไม่มีความรู้ที่เพียงพอ ขาดทักษะ ขาดความมั่นใจ หรือกลัวการถูกฟ้องร้อง

 

ผศ.นพ.ตุลชัย อินทรัมพรรย์ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการศูนย์ฝึกทักษะการแพทย์เสมือนจริง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายขั้นตอน การใช้งานเบื้องต้นของ Augmented Reality Hololens ดังนี้

  •  สวมแว่นครอบศีรษะ ให้แว่นอยู่ในระดับสายตา ปรับอุปกรณ์ให้กระชับโดยหมุนบริเวณปุ่มด้านหลังศีรษะ
  • เข้าสู่หน้า Home เลือก Application CPR
  • สแกน QR code เพื่อตั้งค่าตำแหน่งอ้างอิงของภาพสามมิติคนไข้หมดสติ จะปรากฏการ์ตูน 2 มิติเบื้องหน้าผู้ใช้งาน แสดงสถานการณ์สมมติก่อนเกิดเหตุผู้ป่วยหมดสติขึ้น
  • ฝึกกดหน้าอกกู้ชีพ โดยจะมี UI แสดงภาพนาฬิกาจับเวลา 2 นาที, แถบวัดความลึกในการกดหน้าอก และอัตราเร็วในการกด ซึ่งเป็นข้อมูลป้อนกลับทันที
  • เมื่อฝึกครบ 2 นาที หน้าจอจะปรากฎสรุปการฝึกกดหน้าอกกู้ชีพ โดยแสดงผล % ที่สามารถกดหน้าอกได้เหมาะสม แยกเป็นด้านความลึก, อัตราเร็ว และการขัดจังหวะน้อยกว่า 10 วินาที โดยจะผ่านเมื่อทำได้เหมาะสมทั้ง 3 ปัจจัย โดยเกณฑ์การผ่าน คือ ทำได้เหมาะสมมากกว่า 75% สำหรับความลึก และอัตราเร็ว
  • ก่อนสิ้นสุดการฝึกจะปรากฏคำถามเพื่อวัดความรู้พื้นฐานหลังเรียน

 

สำหรับประโยชน์จากเทคโนโลยีเสริมภาพจำลองบนโลกแห่งความเป็นจริง หรือ AR (Augmented Reality) ดังกล่าวจะช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้สึกร่วมเสมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง ช่วยให้การฝึกฝนมีความสมจริงมากขึ้น จุดเด่นเหนือการฝึกแบบดั้งเดิมนี้อาจช่วยให้ผู้เรียนมีความสนใจ รวมถึงมีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการตัดสินใจช่วยเหลือ และเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ในอนาคต

 

ผศ.นพ.ตุลชัย กล่าวว่า ปัจจุบันเครื่องมือดังกล่าวผ่านการทดลองใช้ในคณะผู้พัฒนาโครงการ พบว่า ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจไม่ด้อยกว่าการฝึกแบบดั้งเดิม พร้อมที่จะส่งมอบชิ้นงานเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการฝึกการกู้ชีพพื้นฐาน และพร้อมยื่นจดสิทธิบัตรต่อไปในอนาคต ผู้ที่สนใจเข้าร่วมการใช้ Augmented Reality Hololens for CPR ขณะนี้อยู่ในช่วงทดลองใช้ และพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ในการใช้งานต่อไป ผู้ที่สนใจฝึกการกดหน้าอกกู้ชีพ (CPR) สามารถสอบถามได้ที่ ศูนย์ฝึกทักษะการแพทย์เสมือนจริง CHAMPS Center

ข่าวที่เกี่ยวข้อง