บทวิเคราะห์ : "บ้านใหญ่" ใครว่าบทบาททางการเมือง "ลด"

การเมือง
13 ก.พ. 66
19:29
576
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : "บ้านใหญ่" ใครว่าบทบาททางการเมือง "ลด"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ช่วงนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง ส.ส. ระหว่างนี้ ยังเป็นช่วงเวลาเปิดกว้าง สำหรับการเลือกพรรคการเมืองใหม่ของ ส.ส. อดีต ส.ส. หรือว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ยังมีเวลาเหลือเฟือไม่ต้องรีบร้อน

เพราะเมื่อผ่านเดดไลน์ 7 ก.พ.2566 อันเป็นช่วงระยะปลอดภัยสำหรับคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.ที่ต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่ต่ำกว่า 90 วัน หากนับตามไทม์ไลน์ที่กรรมการการเลือกตั้งจัดทำไว้ก่อนหน้านี้

เท่ากับมีแนวโน้มสูงกว่า 90 % ที่จะมีการยุบสภา แทนที่จะยื้อจนครบวาระ 4 ปี ส.ส. คือ 23 มี.ค.2566 เท่ากับกรอบเวลาสังกัดพรรคการเมือง จะเหลือแค่ 30 วัน สามารถลงสมัคร ส.ส.ได้

ตลาดนัดนักการเมืองจึงยังไม่ปิดตลาด ส่งผลให้โอกาสของพรรค อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ชูพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดทนายกฯ ในบัญชีของพรรค ยังมีโอกาสจะได้ ส.ส.หรือกลุ่มนักการเมืองที่ยังลังเล ไม่ได้ตัดสินใจ เข้ามาเพิ่มยอดให้กับพรรคได้อยู่

ด้านหนึ่งจะช่วยลดคำปรามาสเรื่อง ส.ส.จะได้ไม่ถึง 25 คนลงได้ อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ในทางกลับกัน บางพรรคการเมือง ก็ต้องทั้งลุ้นทั้งกล่อม ส.ส.ในพรรคให้ตกลงปลงใจอยู่กับพรรคต่อไป ไม่ต้องย้ายออก ซึ่งก็ต้องมีการเจรจาในเรื่องสิทธิประโยชน์เช่นกัน

จากนี้ไป ส.ส.รายย่อย รายบุคคล จึงไม่น่าจับตาเท่ากับ ส.ส.ที่เป็นกลุ่มเป็นก้อน เพราะยังมีเวลาเปลี่ยนใจได้อยู่ และการจะอยู่หรือไป จะไม่ใช่แค่คนสองคน แต่จะเป็นกลุ่มใหญ่ อย่างเช่น กลุ่มการเมืองสามมิตร และกลุ่มการเมืองบ้านใหญ่ในหลายจังหวัด

กรณีกลุ่มชลบุรีของบ้านใหญ่ตระกูล “คุณปลื้ม” ชัดเจนแล้วว่า โบกมือลาพลังประชารัฐ กลับไปพรรคเพื่อไทย นายสนธยา คุณปลื้ม พี่ใหญ่คนปัจจุบันของกลุ่ม ลงมือจัดวางตัวผู้สมัครเองครบทั้ง 10 เขต

ถือเป็นการพิสูจน์บารมี การรักษาฐานเสียงดั้งเดิมตั้งแต่สมัยนายสมชาย คุณปลื้ม ผู้เป็นพ่อด้วยว่าจะยังคงมีเหมือนเดิมหรือไม่

แต่ครั้งนี้ต้องเปิดศึก 3 เส้า กับทั้งกลุ่มบ้านใหม่ ที่มีนายสุชาติ ชมกลิ่น แม่ทัพใหญ่พรรครวมไทยสร้างชาติ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ก็หวังรักษาเก้าอี้ ส.ส.ของพรรคให้ได้เช่นกัน โดยเลือกทายาทบ้านใหญ่ชลบุรีในอดีตเช่นกัน จากตระกูลเนื่องจำนงค์ นำโดย ส.ส.หลายสมัย นายสุรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เป็นหัวหน้าทีม

“กลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า” ของบ้านใหญ่ “อัศวเหม” จ.สมุทรปราการ ยิ่งน่าจับตา เพราะแม้ปัจจุบันจะยังสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ทั้งยังถูกซื้อใจจาก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค มอบเก้าอี้ รมช.เกษตรฯ ให้นายสุนทร ปานแสงทอง นักการเมืองท้องถิ่นคนใกล้ชิดของตระกูล มาตั้งแต่สมัยนายวัฒนา อัศวเหม

แต่กระนั้น ครั้งนี้ยังไม่แน่นัก เพราะ “น้องเพลง” ชนม์ทิดา อัศวเหม ลูกสาวนายชนม์สวัสดิ์ กับอดีตนักร้องดังนันทิดา แก้วบัวสาย ด้านหนึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า คบหาดูใจอยู่กับลูกชายนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และก่อนหน้านี้ เพิ่งเปิดตัวเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทยไปแล้ว

แต่เมื่อวันก่อน นายสุนทร ปานแสงทอง ขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงให้ “น้องเพลง” เรียกร้องให้ชาวสมุทรปราการ เลือกส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย ส่วน ส.ส.เขต ยังใช้คำพูดว่า ส.ส.สมุทรปราการก้าวหน้า หากลงสมัครในนามพรรคไหน ให้เลือกพรรคนั้น เท่ากับยังไม่แน่นอนชัดเจนเต็มร้อยว่าจะอยู่พรรคพลังประชารัฐ

เช่นเดียวกับ จ.นครราชสีมา ที่จะมี ส.ส.เพิ่มเป็น 16 คน จะเป็นศึก 4 บ้านใหญ่ ต้องสู้กันในสนามเลือกตั้ง ตั้งแต่ “บ้านใหญ่” ตระกูลรัตนเศรษฐ์ ของนายวิรัช รัตนเศรษฐ์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะ “แชมป์เก่า” และยังเป็นแม่ทัพใหญ่คุมทั้งอีสานตอนใต้ด้วย

นอกเหนือจากเป็นขุนพลคู่ใจ “บิ๊กป้อม” ขณะที่อีก 2 บ้านใหญ่ พรรคเพื่อไทย โดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค หากข่าว “เสี่ยป้อ” “นายวีระศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ ชิ่งจากพรรคภูมิใจไทย ไปร่วมเสริมทีมพรรคเพื่อไทยด้วย ยิ่งจะให้พรรคนี้เข้มข้นเข้มแข็งมากขึ้น เพราะภริยา “เสี่ยป้อ” ก็เป็นนายก อบจ.นครราชสีมาด้วย

ขณะที่บ้านใหญ่ในอดีตอย่าง “ลิปตพัลลภ” ช่วงเวลานานกว่า 1 ปีที่ผ่านมา นายสุวัจน์ ในฐานะประธานพรรคชาติพัฒนากล้า ก็คลุกคลีร่วมกิจกรรมกับพรรคในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ยิ่งได้นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ที่เคยฝากผลงานนำพาประเทศฝ่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เข้าเสริมทีมเปลี่ยนเป็นพรรคชาติพัฒนากล้า น่าจะรักษาฐานเสียงบางส่วนไว้ได้

ฉะเชิงเทรา แม้จะมี ส.ส.แค่ 4 คน แต่ความน่าสนใจอยู่ที่ 2 บ้านใหญ่ ที่เคยเป็นคู่แข่งบารมีกันมาตลอด คือ “ตระกูลฉายแสง” นำโดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง กับตระกูลตันเจริญ ของนายสุชาติ ตันเจริญ ชัดเจนว่า จะอยู่พรรคเพื่อไทยทั้งคู่

ภารกิจสำคัญคือสกัดบ้านใหม่ที่สั่งสมบารมีขึ้นมา คือตระกูล “ปั้นเปี่ยมทรัพย์” ของ 2 พ่อลูก นายกิตติ นายก อบจ.ฉะเชิงเทรา กับนายชัยวัฒน์ ส.ส.คนล่าสุดของจังหวัด จากพรรคพลังประชารัฐ แต่อยู่ในสายนายสุชาติ ชมกลิ่น แกนนำสำคัญของพรรครวมไทยสร้างชาติ

บ้านใหญ่อีกกลุ่มหนึ่ง ที่มองข้ามไปไม่ได้ คือกลุ่มเพชรบูรณ์ ของนายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐคนปัจจุบัน เพราะก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ช่วยนายสันติถึง 2 ครั้งในช่วงเวลาห่างกันไม่นาน

ส่วนกลุ่มการเมืองใหญ่ ที่ยังต้องจับตาเป็นพิเศษต่อไป หนีไม่พ้นกลุ่มสามมิตรของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ก่อนหน้านี้ดูจะไม่สบายใจนัก กับการคืนถิ่นเดิมของ ร.อ.ธรรมมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรค ที่ได้เก้าอี้ตัวดังกล่าว ไปจากนายอนุชา นาคาศัย แกนนำอีกคนของกลุ่มสามมิตร

หากกลุ่มนี้ตัดสินใจอย่างไร จะมีผลต่อพรรคพลังประชารัฐ เพราะเป็นกลุ่มการเมืองที่ใหญ่ที่สุดของพรรค เห็นได้จากเมื่อครั้ง ส.ส.ในกลุ่มเข้าชื่อกันมากถึง 32 คน เมื่อครั้งกดดันให้นายอุตตม สาวนายน และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ต้องทิ้งเก้าอี้หัวหน้าและเลขาธิการพรรค เปิดทางให้กลุ่มสามมิตร เมื่อกลางปี 2562

กลุ่มบ้านใหญ่ และกลุ่มการเมืองใหญ่ จึงยังมีบทบาทและความสำคัญในสนามเลือกตั้งหลายจังหวัดหลายพื้นที่ดังเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แม้คนรุ่นใหม่ๆ ในหลายๆ จังหวัด เริ่มจะมีความเห็นและจุดยืนทางการเมืองแตกต่างไปจากคนรุ่นเก่าอย่างมีนัยก็ตามที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง