วัยรุ่นท้องต้องได้เรียน ได้หรือไม่?

สังคม
21 ก.พ. 66
16:53
2,876
Logo Thai PBS
วัยรุ่นท้องต้องได้เรียน ได้หรือไม่?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนับเป็นปัญหาคุกคามประชากรทั้งในระยะสั้น-ยาว การป้องกันปัญหาเริ่มจากระดับท้องถิ่นที่ให้ความรู้เรื่องเพศ และระดับรัฐที่ออกกฎหมาย เป้าหมายเพื่อช่วยให้วัยรุ่นตั้งครรภ์ไม่หลุดจากระบบการศึกษาและสามารถดูแลตัวเองต่อไปได้

เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2566 หลังราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566

อ่านข่าวเพิ่ม : ราชกิจจาฯ เผยประกาศห้ามนักเรียน-นักศึกษาตั้งครรภ์ ออกจากสถานศึกษา

โดยให้เหตุผลในการประกาศใจความว่า ปัจจุบันพบว่ามีนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ ถูกสถานศึกษาให้ย้ายสถานศึกษาโดยมิได้สมัครใจ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การดำเนินการของสถานศึกษา

เพื่อเป็นการคุ้มครองวัยรุ่นตั้งครรภ์ ขณะที่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษาให้มีสิทธิได้รับการศึกษา ในสถานศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่องตามความประสงค์ของนักเรียนหรือนักศึกษานั้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

หรือเข้าใจง่ายขึ้นคือ วัยรุ่นท้องต้องได้เรียนต่อ

คำว่า "พร้อม" ของเราไม่เท่ากัน

อนึ่ง กรมอนามัยนิยามคำว่าวัยรุ่น คือ บุคคลที่มีอายุเกิน 10 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี และสามารถแบ่งย่อยได้อีก 2 กลุ่มคือ

วัยรุ่นตอนต้น อายุ 10-14 ปี และวัยรุ่นตอนปลาย อายุ 15-19 ปี

อันที่จริง อาจจะไม่ถึงกับเรียกว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด แต่ยังมีหลายกระแสที่สับสน คิดว่า "เด็กวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียน" คือคนๆ เดียวกันกับ "เด็กวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม"

แต่ในสภาพสังคมปัจจุบัน พบว่า มีวัยรุ่นหลายคนที่กล้ายอมรับว่า "ตนเองพร้อมที่จะตั้งครรภ์" ในขณะที่มีผู้ใหญ่หรือผู้ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ มีความพร้อมทั้งหน้าที่การงาน การเงิน ความมั่นคง แต่ก็ตอบว่า "ตนเองไม่พร้อมจะตั้งครรภ์"

สำนักอนามัยเจริญพันธุ์ กรมอนามัย ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ร้อยละ 50 ของวัยรุ่นกลุ่มอายุ 16-17 ปี ที่ตั้งครรภ์นั้น "ตั้งใจให้ตัวเองท้อง" ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งตอบว่า "ไม่ตั้งใจ" ดังนั้นเป็นเรื่องที่อธิบายได้ยากว่า

ความพร้อมของวัยรุ่น
นั้นเอาอะไรมาวัด เพราะการรับรู้ของแต่ละคนนั้นต่างกัน

อัตราการคลอดลดลงแต่ยังอยู่ในระดับสูง

ข้อมูลที่น่าสนใจจากสถิติอัตราการคลอดบุตรของวัยรุ่นไทยทั้งตอนต้นและตอนปลาย เก็บและวิเคราะห์ข้อมูลโดย สำนักอนามัยเจริญพันธุ์ กรมอนามัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546-2563 พบว่า ตั้งแต่ปี 2546-2555 อัตราคลอดของวัยรุ่นนั้นมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ 

อายุ 10-14 ปี พบว่าในจำนวนประชากร 1,000 คน จะพบวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และคลอดบุตรประมาณ 2 คน
อายุ 15-19 ปี พบว่าในจำนวนประชากร 1,000 คน จะพบวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และคลอดบุตรประมาณ 54 คน

แต่เมื่อมีการให้การศึกษา สอนเกี่ยวกับเรื่องเพศให้วัยรุ่นมากขึ้น การคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แนวโน้มการคลอดบุตรก็เริ่มลดลง แต่ก็ยังถือว่าตัวเลขยังอยู่ในระดับที่สูงอยู่

จะท้องพร้อมหรือไม่พร้อม แต่ไม่พร้อมที่จะเรียนแน่ๆ

หลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 เพื่อให้นักเรียน-นักศึกษาที่ตั้งครรภ์ สามารถกลับมาเรียนต่อได้นั้น

เมื่อเปรียบเทียบ ปี 2559 กับ ปี 2564 พบว่า
จำนวนวัยรุ่นตั้งครรภ์ ที่ยังคงศึกษาในสถาบันเดิมของปี 2559 มีร้อยละ 13.7 ในขณะที่ปี 2564 มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 33.8

ส่วนจำนวนวัยรุ่นตั้งครรภ์ที่โดนให้ออก หยุดเรียน หรือลาออกเอง ในปี 2559 มีสูงถึงร้อยละ 53.5 และลดลงเหลือร้อยละ 36.1 ในปี 2564

แต่ที่ต้องตั้งข้อสังเกตคือ ในปี 2564 มีจำนวนวัยรุ่นตั้งครรภ์ที่ยอมเลี้ยงลูกอยู่บ้านเองถึงร้อยละ 52.6

ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม แต่จำนวนที่มากเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่ามีวัยรุ่นไทยจำนวนมากที่ต้องหลุดจากระบบการศึกษา อาจจะหลุดไปชั่วคราว เมื่อสามารถกลับมาเรียนได้ก็กลับมาเรียนต่อ หรือบางรายอาจจะหลุดถาวร

จุดเล็กของสังคมแต่กระทบจุดใหญ่ของประเทศ

การออกจากระบบการศึกษา ไม่ว่าจะถูกบังคับให้ออก หรือสมัครใจออกเอง แต่ก็ทำให้ตัววัยรุ่นตั้งครรภ์เองนั้น ต้องขาดความพร้อมในการดำเนินชีวิต ด้อยโอกาสเข้าถึงสวัสดิการ บริการ-สิทธิของรัฐต่างๆ ส่งผลให้ขาดโอกาสพัฒนาศักยภาพตนเองและย่อมกระทบไปถึงลูกที่ต้องเลี้ยงเพื่อให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพต่อไป

หากต้องออกจากระบบการศึกษา เติบโตเข้าวัยผู้ใหญ่ ก็จะเป็นภาคแรงงานที่ไม่มีคุณภาพ ขาดทักษะ ส่งผลต่อสังคมโดยรวม รัฐอาจต้องเพิ่มภาระค่าจัดบริการช่วยเหลือด้านสังคม

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะตั้งครรภ์ด้วยความพร้อมหรือไม่พร้อมก็ตาม แต่หากวัยรุ่นเหล่านี้หลุดจากระบบการศึกษา จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อตัววัยรุ่นเอง ครอบครัว สังคม ประเทศ

อยากได้อนาคตของชาติ โรงเรียนต้องดูแลให้มาก

เมื่อเป้าหมายจากการออก พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 คือ "วัยรุ่นท้องต้องได้เรียน" นอกจากการพยายามให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา ผลเสียที่จะเกิดเมื่อตั้งครรภ์ในวัยเรียน เพื่อป้องกัน-ป้องปราบ แล้วนั้น

หากแต่ การช่วยเหลือเมื่อนักเรียน-นักศึกษาที่ตั้งครรภ์
ไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา ก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน

ในประเทศไทย มีโครงการแก้ไข-ป้องกัน ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และยาเสพติด มากกว่า 50 โครงการ ที่กระจายทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2565

โดยที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนโครงการกระจายตัวมากที่สุดถึง 1,271 โครงการ อ้างอิงจากจำนวนประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีจำนวนประมาณ 23 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ

เป้าหมายส่วนใหญ่ของโครงการคือ วัยรุ่นอายุ 10-19 ปี จุดประสงค์คือการให้ความรู้ เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยเรียน และหยุดยั้งปัญหาอื่นๆ ที่อาจจะตามมา เช่นโรคทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นอีก 1 ปัญหาใหญ่ในระบบสาธารณสุขชุมชน และปัญหายาเสพติดก็เช่นกัน

ตั้งครรภ์ในวัยเรียน ไม่ใช่ปัญหาของคนๆ เดียว

แม้การรณรงค์ยุติปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนจะเห็นผล ตามแนวโน้มที่ลดลงมาเรื่อยๆ แล้วนั้น แต่หากครอบครัว โรงเรียน สังคม เจอกับวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์แล้วจริงๆ การยอมรับและเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญ

แน่นอนว่าการตั้งครรภ์ในวัยเรียน มีผลเสียมากกว่าผลดี
และผลเสียนั้นเกิดกับตัววัยรุ่นอย่างแน่นอน
แต่การซ้ำเติม ตีตรา ก็ไม่ใช่ทางออกของสิ่งที่เกิดขึ้น

ต้องไม่ลืมว่า เด็กที่กำลังจะเกิดมานั้น ไม่ว่าจะเกิดมาด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ต้องนับเป็นประชากรไทยที่เพิ่มขึ้น สิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ต้องได้รับ รวมไปจนถึงการดูแล เอาใจใส่ เพื่อสร้างประชากรที่มีคุณภาพในกับประเทศให้ได้ ซึ่งทุกอย่างต้องมาจาก การที่วัยรุ่นที่เป็นคุณแม่ ควรได้รับการศึกษาไปตลอด เพื่อเป็นบันไดในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่สามารถดูแลบุตรให้ตลอดรอดฝั่ง

รวมถึงสภาพแวดล้อมรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน สังคม ที่ต้องลดการประณาม บูลลี่ ด่าทอ

และอีก 1 คนที่ไม่ควรลืม และควรเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกันคือ การให้การศึกษารวมถึงการสอนวุฒิภาวะที่มากขึ้นในการเป็น "พ่อ" ของวัยรุ่นชาย

อ่านข่าวเพิ่ม : 

"ท้องในวัยเรียน" อีกบทพิสูจน์ความเป็นแม่ของวัยรุ่น

"ท้องวัยเรียน" ก้าวที่พลั้งพลาดกับสังคมที่พร้อมอุ้ม

ที่มา : สำนักอนามัยเจริญพันธุ์ กรมอนามัย, เอกสารถอดบทเรียน พชอ. : ลดแม่วัยรุ่น

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง