พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศสมาชิก แม่โขง-ล้านช้าง

ภูมิภาค
24 ก.พ. 66
16:49
230
Logo Thai PBS
พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศสมาชิก แม่โขง-ล้านช้าง
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือ แม่โขง-ล้านช้าง เพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรม การค้าขายระหว่างไทย-จีน

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือ แม่โขง-ล้านช้าง เพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรม

ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าโครงการความร่วมมือทางวิชาการของวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล กับหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นหนึ่งในโครงการตามนโยบายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่องการส่งเสริมความร่วมมือระดับนานาชาติ และในด้านการวิจัย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในปัจจุบัน

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช) ระบุว่า การได้ร่วมงานกับ ICDI ครั้งนี้ เป็นการร่วมงานโครงการศึกษานโยบายสำหรับ ระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรม Route 1

จากการศึกษาด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจภาคเหนือ และภาคอีสานของประเทศ ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการค้า การลงทุนของธุรกิจ SME ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และเกิดการกระจายรายได้หมุนเวียน

โดยการลงนามความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัลมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับหอการค้าและมหาวิทยาลัยพันธมิตรในกลุ่มความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคของกลุ่มประเทศ CLMVT และสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อมุ่งหวังผลักดันให้เกิดการค้าขายสินค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (Cross Border E- Commerce)

ดร.รุจิรา อุ่นเจริญ คณบดีวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล กล่าวว่า โครงการนี้ได้รับงบประมาณจากกองทุนแม่โขง -ล้านช้าง มุ่งหวังการสร้าง Startup ใหม่จากทีม Digital Marketer ทำธุรกิจการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ และสร้างความร่วมมือในคนรุ่นใหม่ข้ามพรมแดน จีน ,ไทย ,เมียนมา ,ลาว ,กัมพูชา และเวียดนาม ร่วมกันสร้างฐานความรู้ด้านแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน

ซึ่งจะเป็นต้นแบบช่องทางการตลาด ที่จะทำให้ทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด เพื่อให้ความรู้แก่นักการตลาดดิจิทัลและผู้ประกอบการ และเพื่อผลักดันให้เกิดการนำสินค้าจากไทย และกลุ่มประเทศ CLMV ไปขายที่จีนผ่าน Cross Border E-Commerce Platform โดยตั้งเป้าการขนส่งไปทางราง ผ่านรถไฟความเร็วสูง ไทย-ลาว-จีน ทำให้ประหยัดเวลาและค่าขนส่ง

โดยจากการทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับ Cross Border E-Commerce ที่ผ่านยมาพบว่า ผู้ประกอบการรายย่อย เช่น กลุ่ม SMEs และ OTOP ไม่ประสบความสําเร็จการขายสินค้าผ่านช่องทาง Cross Border E-Commerce ด้วยปัจจัยหลายอย่าง

อาทิ การสื่อสารเป็นภาษาจีน ระบบการจ่ายเงิน ดังนั้นโครงการนี้จึงมีเป้าหมายในการสร้าง Digital Marketer จำนวน 50 ทีม ประกอบไปด้วยนักศึกษาจีนที่มาเรียนในประเทศไทย จับคู่กับนักศึกษาไทยและ CLMV มีหน้าที่รับผิดชอบช่วยผู้ประกอบการนำสินค้าขึ้นไปขายบน Cross Border E-Commerce Platform

โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการอบรมในหลักสูตรด้าน Social Commerce, Marketing การเจรจาต่อรองกับผู้ประกอบการ ความรู้ด้าน Cross Border E-Commerce Platform ที่สำคัญ เป็นประสบการณ์ของเด็กรุ่นใหม่ให้ทำธุรกิจจนเติบโตเป็น Startup และยังมีพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการตลอดระยะเวลากิจกรรม

ขณะที่ นักศึกษาจีน ระบุว่า ตอนนี้รัฐบาลจีนได้สนับสนุนให้ทางไทยทำการค้ากับประเทศจีนพร้อมทั้งสนับสนุนภาคเอกชนไทยที่จะทำการค้ากับจีนด้วย โปรเจ็คนี้ทางกลุ่มนักศึกษาจีนก็จะให้การช่วยเหลือ สนับสนุนผู้ประกอบการให้รู้จักใช้สื่อที่จะทำดิจิตัลมาร์เก็ตติ้ง เพื่อสื่อสารกับคนจีน

และเพื่อจะได้ทำการค้ากับประเทศจีนได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โซเชียลมีเดียในสื่อต่างๆ เพื่อที่มาส่งเสริมให้ทางผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคจีนได้ง่ายขึ้น

นายเทพชัย สุริยลักษณ์ สมาคมผู้ส่งออก เอสเอ็มอีไทย ระบุว่า การขายสินค้าผ่านช่องทาง Cross Border E-Commerce เป็นช่องทางพิเศษที่ทางการจีนสนับสนุน ซึ่งจะส่งผลดีคือ มีการยกเว้นภาษีให้ และ ผู้ผลิตสามารถนำสินค้าส่งไปยังผู้ซื้อได้โดยตรง

ถือว่ามีความสำคัญต่อประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการค้ารายเล็กที่เป็น sme หรือโอท็อป อาทิ สินค้ากลุ่มอาหารแปรรูปและสมุนไพร ที่ปกติจำเป็นต้องมี อย. และผ่านมาตรฐานที่จีน ถือเป็นการทดสอบผู้ผลิตรายเล็กให้มีโอกาสเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้

และยังสามารถนำสินค้าหลายอย่างรวมส่งไปพร้อมกัน จะทำให้ประหยัดค่าขนส่ง ตลอดจนสามารถนำสินค้าไปเก็บไว้ที่ประเทศจีน หรือแวร์เฮ้าส์ เพื่อเตรียมไว้ส่งถึงผู้บริโภคได้ภายใน 3 วัน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาการขนส่งถึงมือผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว

เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและสามารถแข่งขันด้านการค้าได้อย่างรวดเร็วด้วย สิ่งสำคัญคือ เมื่อวิกฤตโควิดผ่านไปภาครัฐต้องวางแผนให้ไกลกว่าเดิม การพัฒนาผู้ประกอบการให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพ โดยภาครัฐต้องบูรณาการสนับสนุนและวางแผนทั้งระบบเพื่อมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง