"อาการสตอกโฮล์ม" จากความเห็นอกเห็นใจผู้กระทำความผิดสู่ความเสี่ยงการเลียนแบบ

สังคม
28 ก.พ. 66
16:48
902
Logo Thai PBS
"อาการสตอกโฮล์ม" จากความเห็นอกเห็นใจผู้กระทำความผิดสู่ความเสี่ยงการเลียนแบบ
เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ สงสาร หรือเข้าใจจิตใจใครสักคน นั่นไม่ได้แปลกอะไร คุณเป็นคนจิตใจดีคนหนึ่ง แต่หากคุณเริ่มมีความรู้สึกนี้กับผู้ร้าย หรือผู้ก่อเหตุ คุณอาจกำลังเข้าข่ายอาการสตอกโฮล์ม อาการที่เห็นใจผู้กระทำความผิดแล้วก็เป็นได้

รู้จัก อาการสตอกโฮล์ม (Stockholm Syndrome)

เป็นการตอบสนองทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับเหยื่อหรือตัวประกันในสถานการณ์เลวร้าย แต่พวกเขาเหล่านี้กลับมีความรู้สึกเชิงบวกต่อผู้กระทำผิด ซึ่งอาการเหล่านี้จะต้องใช้ระยะเวลานาน เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือหลายปี รวมถึงเงื่อนไขการถูกจองจำ การติดต่อใกล้ชิดกับผู้กระทำผิด จนก่อให้เกิดเป็นความผูกพันระหว่างผู้กระทำผิดและผู้ถูกกระทำ แต่จากแฟ้มข้อมูลของ FBI พบว่ามีเพียงร้อยละ 8 ของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อที่มีอาการนี้

ทำไมชื่อ อาการสตอกโฮล์ม

ในปี พ.ศ.2516 มีเหตุการณ์ปล้นธนาคารในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ผู้ก่อเหตุจำนวน 4 คนจับลูกค้าในธนาคารเป็นตัวประกัน กินเวลาทั้งหมด 6 วัน หลังจากที่กลุ่มผู้ก่อเหตุถูกจับกุม พบว่าตัวประกันทั้งหมดมีท่าทีที่ดีต่อกลุ่มผู้ก่อเหตุทุกคน บางคนให้การปกป้อง ช่วยจ่ายค่าทนายความหลังจากที่กลุ่มผู้ก่อเหตุถูกจับกุม และยังพบว่าตัวประกันมีความรู้สึกเชิงลบกับการจู่โจมของตำรวจที่เข้าช่วยเหลือ

พวกเขาเชื่อใจผู้ก่อเหตุอย่างเต็มใจ แต่กลัวจะเสียชีวิตจากการโจมตีของตำรวจที่ต้องการเข้าไปช่วยเหลือ

Olof Palme นายกรัฐมนตรีของสวีเดนให้ข้อมูลหลังจากพูดคุยกับ 1 ในตัวประกันขณะเกิดเหตุ

Nils Bejerot นักอาชญาวิทยาจากกรุงสตอกโฮล์ม ผู้ตั้งชื่ออาการนี้ ให้คำอธิบายไว้ว่า เป็นปฏิกิริยาที่ไม่คาดคิดของตัวประกันที่แม้จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายถึงชีวิต แต่เหล่าตัวประกันกลับยังรู้สึกดีและปกป้องผู้ก่อเหตุ

ตัวอย่างของอาการสตอกโฮล์มจากทั่วโลก

กรณีที่โด่งดังที่สุดคือ การลักพาตัวทายาทหนังสือพิมพ์ "Patty Hearst" ในปี พ.ศ. 2517 หรือ 1 ปีหลังการตั้งชื่อ "อาการสตอกโฮล์ม" เธอถูกจับเป็นตัวประกันโดยนักปฏิวัติกลุ่มติดอาวุธที่อยู่ในแคลิฟอร์เนีย หรือ Symbionese Liberation Army (SLA) เป็นเวลา 10 วัน แต่หลังจากการเจรจาปล่อยตัว Hearst เสร็จสิ้น เธอกลับเลือกเข้าร่วม SLA และช่วยกันปล้นเงินจากธนาคารหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์การจี้เครื่องบิน TWA847 ในปี พ.ศ.2528 ที่กินเวลายาวนาน 2 สัปดาห์ กว่าที่ตัวประกันทั้งหมดจะได้รับการปล่อยตัว แต่หลายคนก็แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อสิ่งที่ผู้ก่อเหตุได้ทำ

นักอาชญาวิทยาระบุว่า หัวใจสำคัญที่ทำให้ผู้ถูกกระทำหรือเหยื่อเกิดอาการสตอกโฮล์ม หรือการสร้างความผูกพันกับผู้ก่อเหตุ

คือเมื่อผู้ก่อเหตุเลือกที่จะไม่ฆ่าหรือทำร้ายตัวประกัน ความโล่งใจของตัวประกันที่รอดจากความตาย จึงถูกเปลี่ยนเป็นความรู้สึกขอบคุณต่อผู้ก่อเหตุที่ได้มอบชีวิตให้กับพวกเขา

ตัวประกันบางคนอาจสร้างพันธะเหล่านี้ขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว เพื่อรับมือกับสถานการณ์รุนแรงที่อาจเกิดขึ้น เช่น ความกดดันจากการถูกจับเป็นเวลานาน การอยู่ร่วมกันในพื้นที่เดียวกันกับผู้ก่อเหตุ และเมื่อพวกเขาไม่ถูกคุมคามชีวิต หรือไม่ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ ก็จะเกิดกลไกการสร้างพันธะความผูกพันขึ้น และเข้าใจไปเองว่าผู้ก่อเหตุมีความเมตตา

ผลกระทบของอาการสตอกโฮล์ม

ยังไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่แน่ชัดว่าอาการลักษณะใดเข้าข่าย แม้กระทั่งอาการนี้ก็ไม่ถูกระบุไว้ในคู่มือวินิฉัยและสถิติความผิดปกติทางจิตของสหรัฐฯ แต่เหยื่อหรือผู้ที่เข้าข่ายอาการนี้ จะใช้ชีวิตประจำวันได้ยากขึ้น มักมีความรู้สึกเสียใจ เจ็บปวด เมื่อต้องพูดถึงหรือนึกถึงประสบการณ์หรือเรื่องราวที่ผ่านมา

ในยุค 5G ที่สื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนมากขึ้น ลักษณะของเหยื่อหรือผู้ที่เข้าข่ายอาการสตอกโฮล์ม อาจไม่จำเป็นที่จะต้องถูกจับ กักขัง ให้อยู่ในสถานที่เดียวกันกับผู้ก่อเหตุ ไม่จำเป็นที่การรับรู้เรื่องราวที่ทำให้รู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้ก่อเหตุจะต้องผ่านการนั่งคุย ปรับทุกข์ ปรึกษา

การเสพสื่อที่มากเกินไปจนมีอารมณ์ร่วม ไม่สามารถแยกแยะได้ว่า ระหว่างความเห็นอกเห็นใจและความเป็นเหตุเป็นผลนั้น ไม่สามารถรวมเป็นกรณีเดียวกันได้

ไม่ว่าจะเป็นคดีสาวหน้าตาดีฆ่าหั่นศพสาวคาราโอเกะฝังไร่อ้อยปมแค้นส่วนตัวเมื่อปี 2560 หรือคดีเด็กหญิงวัย 3 ขวบที่หายตัวไปก่อนพบเป็นศพและเป็นคดีที่ยังตามหาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ แต่กลับได้ไอดอลคนดังของสังคมมาแทนในปี 2563 จนกระทั่งสู่คดีแม่วัย 17 ปีที่อ้างทำลูกวัย 8 เดือนตกขณะอุ้มจนเสียชีวิต

แม้นี่จะเป็นความเป็นจริงของสังคมมนุษย์ในยุคอินเตอร์เน็ต แต่ก็ควรต้องช่วยกันฉุกคิดว่า การไม่ใส่อารมณ์ร่วมเข้าไปในเหตุการณ์จนมากเกินไป แยกแยะให้ได้ระหว่างเห็นอกเห็นใจและสมเหตุสมผล คือการหลีกเลี่ยงอาการสตอกโฮล์มในยุค 5G ที่นอกจากจะช่วยให้ทั้งตัวเองไม่หลงทางแล้วยังช่วยกระตุ้นและพัฒนาระดับของสังคมไปในทางที่ถูกต้องมากขึ้นเช่นกัน เฉกเช้่นคำแนะนำจาก นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต

เราสามารถเห็นอกเห็นใจกับเรื่องราวไม่ดีที่เกิดขึ้นกับเขาในอดีตได้ แต่มันคนละเรื่องกับยุคปัจจุบัน เราอาจจะไม่ต้องเห็นอกเห็นใจแต่เราต้องเข้าใจ ว่าทำไมคนๆ หนึ่งถึงมาสู่จุดๆ นี้ได้ ... บางทีถ้าไม่วิเคราะห์ข้อมูลจริงๆ อาจจะมีสักคนที่ไปกระทำความรุนแรงกับคนอื่น แล้วรู้สึกว่าฉันอยากได้ความเห็นอกเห็นใจเหมือนกัน  

ที่มา : BBC, Britannica, Cleveland Clinic, Webmd

ข่าวที่เกี่ยวข้อง