นักวิทย์ใช้เวลา 12 ปี สร้างแผนที่ของสมองแมลงหวี่ ครั้งแรกของโลก!

Logo Thai PBS
นักวิทย์ใช้เวลา 12 ปี สร้างแผนที่ของสมองแมลงหวี่ ครั้งแรกของโลก!
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน บันทึกภาพเซลล์ประสาทในสมองของตัวอ่อนแมลงหวี่ ในแต่ละจุดเป็นเวลา 12 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแผนที่การเชื่อมโยงเซลล์ประสาทที่สมบูรณ์แบบในสัตว์เป็นครั้งแรก

นักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเยอรมนี ได้สร้างแผนที่การเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทในสมอง (Connectome) จากสิ่งมีชีวิตรูปแบบง่าย ๆ อย่าง "ตัวอ่อนของแมลงวันหวี่" ซึ่งเผยให้เห็นถึงเซลล์ประสาท (Neuron) 3,016 เซลล์ และจุดประสานประสาท (Synapse) ที่เชื่อมต่อระหว่างเซลล์ถึง 548,000 จุด

โดยนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ได้รวบรวมบุคลากรทั้งสิ้น 80 คน มาใช้เวลาศึกษาสมองของแมลงหวี่ถึง 12 ปี กว่าที่จะได้แผนที่สมองของสัตว์ที่สมบูรณ์แบบครั้งแรกออกมา ทั้ง ๆ ที่ "แมลงหวี่" มีสมองขนาดเล็กเท่ากับเม็ดทราย 1 เม็ด กับลำตัวขนาด 2-3 เซนติเมตร เท่านั้น ซึ่งสมองของแมลงหวี่นี้ได้ถูกสไลด์ออกมาเป็นแผ่นเล็ก ๆ กว่า 5,000 แผ่นก่อนที่จะมีการใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนมาสแกนในภายหลัง

แผนที่สมองของตัวอ่อนแมลงหวี่นี้ จึงสามารถช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของสมองในสัตว์ได้มากขึ้นกว่าเดิม ว่าเซลล์ประสาทนั้นมีขั้นตอนการสื่อสารในระดับอะตอมกันอย่างไร ซึ่งรวมไปถึงการตั้งข้อสังเกตการสื่อสารของเซลล์ต่าง ๆ ในสมองของมนุษย์ด้วย เนื่องจากสมองของมนุษย์มีความคล้ายคลึงกับสมองของแมลงหวี่ที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ศึกษา ทั้งในแง่พื้นที่ของสมองที่ตอบสนองต่อการตัดสินใจ การเรียนรู้ และการนำทาง

อีกทั้งนักวิทย์กลุ่มนี้ยังแสดงความเห็นว่าเทคโนโลยีปัญหาประดิษฐ์หรือ AI จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทำแผนที่สมองที่มีโครงสร้างที่ซับซ้อนได้ โดยมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่สมองของมนุษย์ เพราะถ้าหากเราสามารถสร้างแผนที่และอธิบายการทำงานสมองของมนุษย์ได้อย่างละเอียด วิทยาศาสตร์ก็อาจให้คำตอบถึงเรื่อง “จิตสำนึก” ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าเกิดจากการทำงานของสมองที่ประกอบเซลล์ประสาทประมาณ 86,000 ล้านเซลล์ และจุดประสานประสาทนับล้านล้านจุด มากกว่าที่จะมาจากสิ่งที่เป็นนามธรรมตามความเชื่อทางศาสนาต่าง ๆ

ที่มาข้อมูล: Science Magazine
ที่มาภาพ: MRC Laboratory of Molecular Biology
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง